‘โลมา’ มีรูปแบบการสื่อสารเปลี่ยนไป เพราะ ‘มลพิษทางเสียง’ จากเรือ

‘โลมา’ มีรูปแบบการสื่อสารเปลี่ยนไป เพราะ ‘มลพิษทางเสียง’ จากเรือ

"มลภาวะทางเสียง" จาก "เรือ" อาจส่งผลให้รูปแบบการสื่อสารและการเดินทางของ "โลมา" เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ แสดงให้เห็นว่าการสัญจรทางทะเลส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางทะเลอย่างมาก

ด้วยกิจกรรมทางทะเลของมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะการขนส่งทางทะเล และการท่องเที่ยวทางทะเล ดังนั้นมหาสมุทรจึงเต็มไปด้วย “เรือ” หลากหลายขนาดที่สามารถสร้าง “มลภาวะทางเสียง” ได้ไกลถึง 20 กิโลเมตร และดูเหมือนว่าเสียงเล่านี้ จะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของสัตว์ทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ “โลมา

คณะนักวิจัยทางทะเลจากมหาวิทยาลัยไฮฟา ในอิสราเอล พบว่า เสียงรบกวนจากเรืออาจส่งผลให้รูปแบบการสื่อสารและการเดินทางของโลมาเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ 

นักวิจัยบันทึกเสียงโลมาปากขวดธรรมดาและเสียงรบกวนจากเรือขนส่งในเมืองไอลัตริมฝั่งทะเลแดงของอิสราเอล โดยใช้ระบบเอไอมาช่วยวิเคราะห์เสียงของโลมาขณะที่มีเรืออยู่ใกล้ และตอนที่ไม่มีเรือแล่นผ่าน เนื่องจากนักวิจัยไม่สามารถระบุความแตกต่างของเสียงโลมาได้ 

อัลกอริทึมเรียนรู้เชิงลึกศึกษา “เสียงหวีด” ของโลมา จนเผยให้เห็นว่าโลมาเปลี่ยนรูปแบบเสียงร้อง เมื่อเจอเสียงรบกวนจากเรือ ซึ่งเป็นรูปแบบการสื่อสารที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ว่าอุปกรณ์บันทึกเสียงไว้ในความลึกระดับ 50 เมตร บริเวณแนวโขดหินดอฟฟิน ใกล้กับหาดไอแลต ซึ่งเป็นจุดที่พบเห็นโลมาปากขวดเป็นประจำในอิสราเอล

ด้วยการอัดเสียงอย่างยาวนาน ทำให้นักวิจัยได้เสียงจากบันทึกมาทั้งหมด 120,000 ตัวอย่าง ซึ่งระบบเอไอสามารถแยกเสียงของโลมาได้ 2 ชุด คือ เสียงร้องของโลมาตอนที่มีเรืออยู่ในละแวกใกล้ ๆ ประมาณ 60,000 ตัวอย่าง และอีกประมาณ 60,000 ตัวอย่างเป็นเสียงของโลมาในยามปรกติ

นักวิจัยกล่าวว่าเอไอพัฒนาขึ้นเพื่อตรวจจับเสียงโลมามีประสิทธิภาพอย่างมาก โดยมีอัตราความแม่นยำถึง 90% ในการระบุเสียงร้องของโลมาเมื่อมีเรือมาอยู่ใกล้ ๆ พื้นที่ที่โลมาอาศัยอยู่ ซึ่งมีความแม่นยำมากกว่าการใช้มนุษย์ตรวจจับ

ศ. รอย ไดอามันต์ ผู้นำงานวิจัยนี้ระบุว่า “เอไอสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างเสียงโลมาที่เกิดขึ้นเมื่อมีเสียงเรือดังในพื้นที่ แม้ว่ามนุษย์โดยทั่วไปจะไม่ได้ยินก็ตาม”

ทั้งนี้ ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเสียงของโลมาแตกต่างกันอย่างไร และมีจุดใดเป็นจุดสังเกตที่ทำให้เอไอสามารถแยกแยะได้

นักวิจัยกล่าวเสริมว่า “การศึกษานี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าโลมาสื่อสารในลักษณะที่แตกต่างออกไป และพฤติกรรมการร้องของพวกมันเปลี่ยนไป เมื่อได้ยินเสียงเรือ ดังนั้นโลมาจึงได้รับผลกระทบจากเสียงของเรืออย่างแน่นอน

นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าการสัญจรทางทะเลส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางทะเลอย่างมาก และเป็นปัจจัยกระตุ้นให้สิ่งมีชีวิตอพยพย้ายถิ่น พร้อมเสริมว่ารูปแบบการสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงไปนี้อาจทำให้โลมาอพยพออกจากพื้นที่ที่มีระดับเสียงรบกวนเพิ่มขึ้น และอาจรบกวนพื้นที่หาอาหารของพวกมัน


ที่มา: The Jerusalem PostThe PrintXinhua Thai