“รัฐ-เอกชน” ขับเคลื่อนอาคารสีเขียว “สมาร์ทโฮม” หนุนเพิ่มความปลอดภัย
“พพ.-อบก.” หนุนเอกชนขับเคลื่อนอาคารสีเขียว บรรลุเป้าหมายลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคพลังงาน ภาคเอกชน ชู เทคโนโลยี “สมาร์ทโฮม” หนุนเพิ่มความปลอดภัย
งานเสวนา “Secutech Thailand 2024” และ Building and Architec Thailand 2024 จัดโดย เมสเซ่ แฟรงค์เฟิร์ต, เวิลด์เด็กซ์ จี.อี.ซี. และ “กรุงเทพธุรกิจ” เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2567 ได้เปิดเวทีให้ภาครัฐ เอกชนร่วมกันถกประเด็นความสำคัญของระบบรักษาความปลอดภัยในอนาคตที่จะมีผลต่อเมืองและอาคาร
โดยมีนายนิคม เลิศมัลลิกาพร ประธานบริษัท เวิร์ดเด็กซ์ จีอีซี จำกัด และ นายอิสราเอล โกกอล ผู้จัดการกลุ่มธุรกิจงานแสดงสินค้า เมสเซ่แฟรงค์เฟิร์ต ไต้หวัน กล่าวต้อนรับ
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวในหัวข้อ “Intelligent Security and Building” ว่า ปัจจุบันกระทรวงพลังงานมีแผนอนุรักษ์พลังงานเพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคพลังงาน โดยหนึ่งในแผนดังกล่าวคือการลดใช้พลังงาน
รวมถึงการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานการใช้พลังงานในอาคารเป็นมาตรการบังคับสำหรับอาคาร (Building Energy Code) ที่มีพื้นที่ใช้สอยมากกว่า 2,000 ตารางเมตร ให้มีการลดการใช้พลังงานจากอาคารปกติ 20-30%
โดยกำหนดให้การออกแบบต้องเป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งครอบคลุมในด้านการส่งผ่านความร้อนผ่านกรอบอาคารและหลังคา การใช้แสงสว่างในอาคาร ประสิทธิภาพของระบบปรับอากาศภายในอาคาร และประสิทธิภาพของระบบผลิตน้ำร้อน
สำหรับมาตรฐานดังกล่าวบังคับใช้สำหรับอาคารใหม่ หรืออาคารดัดแปลง 9 ประเภท ได้แก่
1.สถานศึกษา 2.สำนักงาน 3.อาคารโรงมหรสพ 4.อาคารห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้า 5.อาคารสถานบริการ 6.อาคารชุมนุมคน 7.อาคารโรงแรม 8.สถานพยาบาล 9.อาคารชุด
นอกจากนี้ มาตรการการกำกับอาคารสมัยใหม่จะมีความเข้มข้นมากขึ้น รวมทั้งมีมาตรการจูงใจ เพื่อเป้าสูงสุดที่จะสร้างอาคารที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (ZEB) คือลดการใช้พลังงานเมื่อเทียบกับอาคารปกติลง 70% ส่วน 30% ที่เหลือมาจากการใช้พลังงานหมุนเวียน
ทั้งนี้ โครงการ “เดอะ ปาร์ค”(The PARQ) เป็นหนึ่งในอาคารที่มีการก่อสร้างอาคารต้นแบบการใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Zero Energy Building) ของประเทศไทย ที่มีการบริหารจัดการด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร
รวมถึงเป็นไปตามแนวทางการส่งเสริมของ พพ.ที่ต้องการให้อาคารขนาดใหญ่มีการคำนึงถึงประสิทธิภาพการใช้พลังงานภายในอาคาร มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงาน อาทิ ระบบส่องสว่าง ระบบทำความเย็นการใช้เทคโนโลยีผสมผสานกับระบบควบคุมต่างๆ
นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.กล่าวว่า อาคารเป็นส่วนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญซึ่งผลต่อการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่ง อบก.ได้ประเมินคาร์บอนฟุตปริ้นส์ของอาคารการออกแบบและก่อสร้าง ขั้นตอนการก่อสร้าง การขนส่ง และการติดตั้งระบบควบคุมภายในอาคาร
ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการใช้พลังงานต้องเกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีการใช้วัสดุที่เป็นทรัพยากรหมุนเวียน รวมทั้งการใช้ระบบดิจิทัลที่ช่วยลดความซับซ้อน
“การประเมินคาร์บอนฟุตปริ้นส์จะมีส่วนเกี่ยวข้องความยั่งยืนที่บังคับให้องค์กรต้องทำ เพราะสิ่งเหล่านี้จะไปเกี่ยวข้องกระบวนการให้สินเชื่อ (Taxonomy) ลูกค้า พาร์ตเนอร์ธุรกิจ”
นายพิชญะ จันทรานุวัฒน์ นายกสมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร (BSA) กล่าวว่า การสร้างอาคารต้องตอบโจทย์เรื่องของความเป็นอยู่ที่ดีของผู้อยู่อาศัย (well being) ซึ่งเรื่องของความยั่งยืนก็เป็นเรื่องสำคัญ ทั้งภายในและภายนอก รวมทั้งความปลอดภัย ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ และการเชื่อมโยงข้อมูลการจัดการภายในอาคาร สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ
“ระบบใหม่ๆ ของอาคารอัจฉริยะมาพร้อมกับความเสี่ยงในการเปลี่ยนแปลงมาตรการการดูแลเรื่องความปลอดภัยที่จะต้องพัฒนาไปพร้อมกัน”
นายรอส คอนลอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเมนส์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า การพัฒนาอาคารอัจฉริยะต้องเริ่มจากการแก้ไขในเรื่องที่เบสิคที่สุด แน่นอนว่าในอนาคตการออกแบบอาคารใหม่ๆ จะตอบโจทย์การเป็นอาคารไร้มลพิษ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องคำนึงถึงคืออาคารที่มีอยู่เดิมจะทำอย่างไรให้เกิดการลดใช้พลังงาน การเชื่อมโยงข้อมูลในการจัดการอาคารเหล่านี้
นายจุลเกียรติ สินชัยชูเกียรติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บารามีซี่ กรุ๊ป และ อินโนเวเตอร์เอ็กซ์ กล่าวว่า แนวคิดเรื่อง Net Zero Architecture ยังเป็นเรื่องที่ไกลตัวอยู่มาก แต่หมุดหมายแรกที่สำคัญคือความพยายามที่จะสร้าง Low Carbon Architecture
ทั้งนี้เทคโนโลยีเอไอสำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์ จะเป็นตัวช่วยที่สำคัญในการถอดรหัสการออกแบบอาคารเน็ตซีโร่ ด้วยความสามารถในการวิเคราะห์กฎระเบียบมากมาย ทั้งยังเช็คลิสต์การออกแบบได้ความต้องการขององค์กร