'สุโขทัย' จังหวัดที่อากาศร้อนที่สุดในไทย เทียบสถิติในอดีตเคยทะลุ 44 องศาฯ
อากาศร้อนทะลุปรอท! นักวิชาการเผย “สุโขทัย” จะเป็นจังหวัดที่ร้อนที่สุดในไทย เทียบจากสถิติในอดีตที่เคยอุณหภูมิทะลุ 44 °C และอนาคตข้างหน้าอาจแตะ 49 °C ในอีก 60 ปี
ไม่กี่วันมานี้คนไทยเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด ในหลายพื้นที่รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล จนเกิดกระแสแชร์วิธีสู้ภัยร้อนรูปแบบต่างๆ ผ่านสื่อโซเชียลมากมาย และหลายคนก็เกิดคำถามตามมาว่า สภาพอากาศของไทยร้อนแรงทะลุปรอทขนาดนี้ มีโอกาสที่อุณหภูมิจะแตะ 50 องศาเซลเซียสหรือไม่ และจังหวัดใดจะมีอากาศร้อนที่สุด?
เรื่องนี้มีคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญในคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) อย่าง “ดร.เสรี ศุภราทิตย์” ประธานกรรมการบริหาร Futuretales LAB, MQDC ที่ได้โพสต์ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวไว้ว่า
จากผลการวิเคราะห์ประเมินการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พบว่า มีความเป็นไปได้น้อยที่ประเทศไทยจะมีอุณหภูมิสูงสุดแตะ 50 องศาเซลเซียส จากการประเมินฉากทัศน์ต่างๆ ตามรายงานของ IPCC-AR6 โดยแบบจำลองคณิตศาสตร์รายละเอียดสูง พบว่าในอนาคตจะเห็นภาพอุณหภูมิพุ่งสูงขึ้นใน 3 ฉากทัศน์ ได้แก่
1. ในฉากทัศน์ของ BAU (Business as usual) ที่ความร่วมมือระหว่างประเทศ “ไม่สามารถ” บรรลุเป้าหมายตามข้อตกลงปารีส (จำกัดอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5-2 องศาเซลเซียส จากอดีตยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม) จะทำให้อุณหภูมิสูงสุดจะอยู่ที่ประมาณ 49.01 องศาเซลเซียส ในอีกประมาณ 60 ปีข้างหน้า
2. ในฉากทัศน์ที่หากความร่วมมือเกิดขึ้นตามรายงาน NDC ที่แต่ละประเทศส่งมาล่าสุด จะทำให้ประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงสุดแตะ 46 องศาเซลเซียส
3. ในฉากทัศน์ที่หากโลกบรรลุข้อตกลงปารีส จะทำให้ประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงสุดแตะ 44.75 องศาเซลเซียส
คาดการณ์ปีนี้อากาศร้อนจะยาวนานขึ้น และวันที่ 8 เมษายนจะร้อนที่สุด
โดยทั้ง 3 ฉากทัศน์ อุณหภูมิสูงสุดจะเปลี่ยนแปลงตามความแปรปรวนสภาพภูมิอากาศแต่ละปี (จากปรากฏการณ์ El Nino และ La Nina เหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิด และการปลดปล่อยพลังงานจากดวงอาทิตย์ เป็นต้น) ในขณะเดียวกัน จำนวนวันในรอบปีของจังหวัดที่อุณหภูมิสูงสุดเกิน 40 องศาเซลเซียส จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากปัจจุบันประมาณ 9 วัน เพิ่มเป็นประมาณ 75 วัน ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน-พฤษภาคม
เมื่ออุณหภูมิพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ผลกระทบที่จะตามมา คือ ภัยคุกคามที่ไม่สามารถย้อนเวลากลับได้ เช่น คลื่นความร้อน-ภัยแล้ง-ฝนตกหนัก-น้ำท่วม-น้ำทะเลหนุนสูง ทุกภาคส่วนธุรกิจ สังคมเมือง และชนบทจะได้รับผลกระทบมากน้อยในช่วงเวลาแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการเตรียมความพร้อมโดยไม่ประมาท
ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 2-9 เมษายน 2567 ไทยจะเผชิญกับอุณหภูมิสูงสุดมากกว่า 40 องศาเซลเซียสในหลายพื้นที่ และคาดว่าวันที่ 8 เมษายนนี้ จะเป็นวันที่ร้อนที่สุดก่อนสงกรานต์ปีนี้ อุณหภูมิช่วงสงกรานต์จะลดลงมาเล็กน้อย และอาจจะเพิ่มขึ้นหลังสงกรานต์ ต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป
สุโขทัย จะเป็นจังหวัดที่ร้อนที่สุด ทั้งในปัจจุบันและอนาคตข้างหน้า
ส่วนข้อสงสัยที่ว่า จังหวัดใดในไทยที่จะมีอากาศร้อนที่สุด? ดร.เสรี เฉลยว่า จังหวัดที่มีอุณหภูมิสูงสุดในปัจจุบัน คือ สุโขทัย และจะเป็นจังหวัดที่มีอุณหภูมิสูงสุดในอนาคตด้วย (ร้อนสุดขีดทั้งจังหวัด 49.01 องศาเซลเซียส อีก 60 ปีข้างหน้า)
จากข้อมูลกรมอุตุฯ ในอดีตพบว่า สุโขทัย เคยมีอุณหภูมิสูงที่สุด (44.5 องศาเซลเซียส) เป็นลำดับที่ 3 เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2559 และเป็นลำดับที่ 6 (44 องศาเซลเซียส) เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2559
สำหรับจังหวัดที่จะมีอุณหภูมิสูงสุดในอนาคตรองลงมาตามลำดับ แบ่งเป็นภาคต่างๆ ดังนี้
- ภาคกลาง ได้แก่ จ.พิจิตร (48.74 องศาเซลเซียส) จ.ชัยนาท (48.48 องศาเซลเซียส) จ.นครสวรรค์ (48.08 องศาเซลเซียส)
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จ.มหาสารคาม (47.85 องศาเซลเซียส) จ.ขอนแก่น (47.58 องศาเซลเซียส) จ.ร้อยเอ็ด (47.56 องศาเซลเซียส) จ.นครราชสีมา (46.19 องศาเซลเซียส)
- ภาคเหนือ ได้แก่ จ.ลำปาง (47.19 องศาเซลเซียส) จ. ลำพูน (47.13 องศาเซลเซียส)
- กรุงเทพมหานคร จะมีอุณหภูมิสูงสุดประมาณ 44.90 องศาเซลเซียส
ช่วงวันที่ 4-10 เม.ย. 2567 ไทยจะเจออากาศร้อนจัดแตะ 40 องศาฯ
นอกจากนี้ ยังมีรายงานพยากรณ์อากาศจากเพจ "พยากรณ์อากาศประเทศไทย" และแอปพลิเคชัน "ฟ้าฝน" ที่ชี้ไปในทิศทางเดียวกัน คือ ในช่วงสัปดาห์ที่ 4 - 10 เม.ย. 2567 ประเทศไทยจะเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัดแตะ 40 องศาฯ ในหลายพื้นที่ โดยจากภาพถ่ายดาวเทียมจะแสดงให้เห็นด้วยสี "แดงดำ-สีดำ" หลังจากนั้นในวันที่ 10 เม.ย. ระดับความร้อนจะเพลาลงไปอย่างชัดเจน และจะมีฝนตกเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ผลการพยากรณ์อุณหภูมิสูงสุด ในวันที่ 4 - 10 เม.ย. จะแทนด้วยสีต่างๆ ดังนี้
รูปนี้แสดงพยากรณ์อุณหภูมิเวลา 13.00 น.
เหลือง : ตั้งแต่ 20 องศาฯ ขึ้นไป แต่น้อยกว่า 25 องศาฯ
ส้ม : ตั้งแต่ 25 องศาฯ ขึ้นไป แต่น้อยกว่า 30 องศาฯ
แดง : ตั้งแต่ 30 องศาฯ ขึ้นไป แต่น้อยกว่า 35 องศาฯ
แดงเลือดหมู : ตั้งแต่ 35 องศาฯ ขึ้นไป แต่น้อยกว่า 38 องศาฯ
แดงดำ : ตั้งแต่ 38 องศาฯ ขึ้นไป แต่น้อยกว่า 40 องศาฯ
ดำ : ตั้งแต่ 40 องศาฯ ขึ้นไป
[*หมายเหตุ: การพยากรณ์ข้างต้นอ้างตามข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ผลิตขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีและผลงานประดิษฐ์คิดค้นที่พัฒนาจากบริษัท ซีพีเอส เวเธอร์ จำกัด และบริษัท ซีพีเอส อะกริ จำกัด ซึ่งสนับสนุนโดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEPA]