Regenerative โมเดลธุรกิจฟื้นโลกที่ยากกว่า SDGs
ยุทธศาสตร์ธุรกิจที่องค์กรทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ มีมากกว่าเรื่องการใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและการบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนอย่าง (SDGs) การพัฒนาโมเดลธุรกิจแบบ Regenerative หรือโมเดลธุรกิจที่สามารถทำให้องค์กรเติบโต สร้างผลกำไรและฟื้นฟูโลกไปได้ในขณะเดียวกัน
โมเดลธุรกิจแบบ Regenerative กำลังเป็นเป้าหมายสูงสุดที่องค์กรชั้นนำต้องการไปให้ถึง โดยขั้นตอนการพัฒนาโมเดลธุรกิจแบบ Regenerative มักเริ่มต้นด้วยการเน้นเรื่องความยั่งยืน (Sustainable ) และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตามมาด้วยการผลักดันเรื่อง ( Restorative) ช่วยนำเอาทรัพยากรขององค์กรบางส่วน ไปช่วยแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมแบบเฉพาะจุด เช่น การรีไซเคิล การปลูกป่า หรือการใช้พลังงานทางเลือก
ส่วนการปรับองค์กรมีโมเดลธุรกิจแบบ Regenerative อย่างเต็มรูปแบบ คือการพัฒนาธุรกิจให้สามารถสร้างผลกำไรและทำให้เกิดผลกระทบเชิงบวกสุทธิแบบองค์รวมในทุกกิจกรรมทางธุรกิจขององค์กร
บางตัวอย่างโมเดลของการเปลี่ยนผ่านธุรกิจเพื่อไปสู่การทำธุรกิจเพื่อฟื้นฟูโลก เช่น ธุรกิจเครื่องแต่งกายอย่าง Patagonia Timberland และ The North Face ได้ปรับระบบซัพพลายเชนทั้งระบบให้เป็นแบบ Regenerative โดยเน้นที่การนำกลับมาใช้ใหม่ ฟื้นฟูแหล่งผลิตวัตถุดิบและลงทุนในพลังงานทางเลือก
ส่วนในธุรกิจอาหารบริษัทอย่าง Pepsi Co และ General Mills ที่ใช้วัตถุดิบจำนวนมหาศาลจากภาคเกษตรกรรมก็ได้เริ่มทำการปฏิรูปพื้นที่เกษตรกรรมกว่า 7 ล้านเอเคอร์ให้กลายเป็นการทำเกษตรกรรมแบบฟื้นฟูและเกื้อกูลโลก
เมื่อเร็วๆนี้ A.T. Kearney บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลก ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงขององค์กรทั่วโลกจำนวน 775 คน ผลสำรวจระบุว่า 90% ของผู้บริหารเห็นว่าภาคธุรกิจจะต้องเป็นแกนหลัก ในการสร้างอนาคตที่ดีขึ้นสำหรับทุกคนบนโลกใบนี้
50% ของผู้บริหารระดับ CEO มองว่า ธุรกิจของบริษัทจำเป็นต้องปรับตัวให้สามารถฟื้นฟูเกื้อกูลต่อโลกมากขึ้น
65% ของผู้บริหารระดับรองลงมาเช่น COO, CFO, CMO มองว่าบริษัทต้องปรับระบบและโครงสร้างธุรกิจให้เอื้อต่อผลประกอบการและยังช่วยฟื้นฟูโลก
ประเด็นสำคัญที่ผู้บริหารส่วนใหญ่ให้ความสำคับคือเรื่องของซัพพลายเชน 68% ของผู้บริหารองค์กรมองว่าจำเป็นต้องปฏิรูประบบซัพพลายเชนของบริษัท โดยสร้างกลไกที่จะทำให้การสรรหาวัตถุดิบ การจัดการโลจิสติคส์ เป็นไปอย่างเกื้อกูลต่อโลก พร้อมกับสนับสนุนชุมชนและคู่ค้าให้อยู่ได้
สามแนวทางหลักสำหรับองค์กรที่ต้องการเดินหน้าสู่โมเดลธุรกิจแบบ Regenerative
เรื่องแรกที่องค์กรต้องให้ความสำคัญคือ การพัฒนาระบบปฎิบัติการ (Operations) โดยเน้นที่การปรับเปลี่ยนห่วงโซ่ซัพพลายเชนให้โฟกัสที่การสร้างคุณค่าให้กับสังคมและชุมชน
เรื่องที่สองคือ การกระตุ้นให้คนในองค์กรมีความตระหนักรู้ ถึงความสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการสร้างผลกระทบเชิงบวกสุทธิ หรือ Net Positive Impact (NPI) ซึ่งก็คือการทำธุรกิจที่ตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจ (Profit) สังคม (People) และสิ่งแวดล้อม (Planet)ไปพร้อมๆกัน โดยมีระบบนิเวศเป็นตัวขับเคลื่อน
ประเด็นสุดท้ายที่สำคัญมากก็คือ การลงทุนในเทคโนโลยี ที่จะช่วยปลดล็อคการเข้าถึงข้อมูลในทุกด้านของการระบบงาน เพื่อเร่งพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมที่จะปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์และบริการ ให้สอดคล้องกับการเดินหน้าสู่ธุรกิจที่สร้างผลกระทบเชิงบวกสุทธิ
การพัฒนาโมเดลธุรกิจที่สร้างผลกำไรและฟื้นฟูโลกไปพร้อมๆ กัน กำลังเป็นหมุดหมายที่ยากกว่าเรื่อง Sustainability เพราะนี่คือการปรับวิถีการทำธุรกิจแบบองค์รวม ที่ต้องการเทคโนโลยี นวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ อีกทั้งการการตัดสินใจที่เด็ดขาดของผู้นำองค์กรว่าพร้อมหรือยังที่จะออกตัวจากจุดสตาร์ท