เหนือ-อีสานตอนบน 'เสี่ยงภัยแล้ง' เกษตรกรเช็กตลาดก่อนเพาะปลูก

เหนือ-อีสานตอนบน 'เสี่ยงภัยแล้ง' เกษตรกรเช็กตลาดก่อนเพาะปลูก

สถานการณ์ “เอลนีโญ” ปัจจุบันเริ่มเข้าสู่ความเป็นกลาง ภาคเหนือตอนบน และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เสี่ยงน้ำแล้ง แนะเกษตรกรประเมินความเสี่ยง รับมือสภาพอากาศแปรปรวน พร้อมติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องก่อนเพาะปลูก

KEY

POINTS

  • ปัจจุบันปรากฏการณ์เอนโซอยู่ในสภาวะเอลนีโญกำลังปานกลาง แต่ก่อนที่จะเข้าสู่ความเป็นกลางอิทธิพลจะยังมีอยู่ ส่งผลให้ฝนล่าช้า ตกน้อยกว่าปกติในช่วงพ.ค.-มิ.ย. หลังจากนั้น จะ เข้าสู่สถานการณ์ปกติกลางเดือนกรกฎาคมและ หลังกรกฎาคมจะเข้าสู่ปลายฝน
  • อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ คาดการณ์ว่า แม้ภาคกลาง ตะวันออก ภาคใต้จะเป็นพื้นที่ฝนดี แต่ภาคเหนือตอนบน และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนไม่ค่อยดี และอาจส่งผลต่อต้นทุนน้ำจะหนักในปีหน้า
  • แนะ ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพราะการคาดการณ์ระยะใกล้ มีความไม่แน่นอน ขณะที่ ภาคการเกษตรให้ดูตลาดประกอบ

กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เฝ้าระวังปรากฏการณ์ เอลนีโญ/ลานีญา สถานการณ์ปัจจุบันพบว่า ปรากฏการณ์เอนโซอยู่ในสภาวะเอลนีโญกำลังปานกลาง โดยอุณหภูมิผิวน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณเขตศูนย์สูตรในเดือนที่ผ่านมาเริ่มเย็นลงแล้ว แต่ยังคงสูงกว่าปกติเกือบทั่วทั้งบริเวณ

 

สำหรับอุณหภูมิผิวน้ำทะเลเฉลี่ยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาสูงกว่าค่าปกติประมาณ 0.4-1.1 องศาเซลเซียสคาดว่า ปรากฏการณ์เอนโซที่อยู่ในสภาวะเอลนีโญกำลังปานกลางนี้จะอ่อนลงและเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะเป็นกลางในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน จากนั้นมีความน่าจะเป็นร้อยละ 62 ที่จะเข้าสู่ สภาวะลานีญาในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2567

 

เหนือ-อีสานตอนบน เสี่ยงภัยแล้ง

สอดคล้องกับข้อมูลจาก รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่าขณะนี้กำลังเข้าสู่โหมดร้อนจัด ช่วงตั้งแต่วันที่ 18 – 21 เมษายน และจะร้อนมากในวันที่ 22 เมษายน 

 

หลังจากนั้น ต้นสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม อุณหภูมิก็จะเริ่มเบาลง สถานการณ์เอลนีโญ ล่าสุด ราวกลางเดือนมิถุนายนจะเริ่มเข้าสู่ความเป็นกลาง แต่ก่อนที่จะเข้าสู่ความเป็นกลางอิทธิพลจะยังมีอยู่ ส่งผลให้ฝนล่าช้า ตกน้อยกว่าปกติในช่วงพฤษภาคม-มิถุนายน หลังจากนั้น จะ เข้าสู่สถานการณ์ปกติกลางเดือนกรกฎาคมและ หลังกรกฎาคมจะเข้าสู่ปลายฝน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

“ภาคกลาง ตะวันออก ภาคใต้จะเป็นพื้นที่ฝนดี แต่ภาคเหนือตอนบน และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนไม่ค่อยดี ขณะที่ เขื่อนใหญ่ๆ อยู่พื้นที่ตอนบน เช่น เขื่อนสิริกิตติ์ เขื่อนอุบลรัตน์ มีความเสี่ยงสูงว่าในปีนี้ เขื่อนพื้นที่ตอนบนจะไม่ได้รับน้ำเติมในอ่างมากนัก แต่จะไปดีในพื้นที่ตอนกลาง ตะวันออก และตอนล่าง ฉะนั้น โดยรวมหากเป็นไปตามที่คาดการณ์ ปีหน้าจะเหนื่อยเรื่องนาปรัง เพราะเขื่อนขนาดใหญ่ 2 เขื่อนไม่มีน้ำ”

 

เหนือ-อีสานตอนบน \'เสี่ยงภัยแล้ง\' เกษตรกรเช็กตลาดก่อนเพาะปลูก

 

อ่างขนาดใหญ่น้ำใช้การได้ 24%

เมื่อดูข้อมูลอ่างเก็บน้ำ จากคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ (ณ วันที่ 21 เมษายน 2567) พบว่า “อ่างขนาดใหญ่ 35 อ่าง” มีความจุทั้งหมด 70,928 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำ 40,615 ล้าน ลบ.ม. (57%) ใช้การได้จริง 17,076 ล้าน ลบ.ม. (24%) น้ำไหลลง 10 ล้าน ลบ.ม. น้ำระบาย 126 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ “อ่างขนาดกลาง จำนวน 420 อ่าง” กักเก็บปกติ 5,096 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำ 2,573 (50%) น้ำไหลลง 4 ล้าน ลบ.ม. และ น้ำระบาย 12 ล้าน ลบ.ม.

 

รศ.ดร.เสรี กล่าวต่อไปว่า แม้ว่าสถานการณ์เอลนีโญ จะเข้าสู่ความเป็นกลาง และเข้าสู่ลานีญาปลายปีนี้แบบอ่อนๆ แต่มีแนวโน้มว่าปลายปีหน้าจะเข้าสู่เอลนีโญอีกครั้ง ประกอบกับ หากกลับมาเป็นเอลนีโญจริงๆ หมายความว่า สถานการณ์จะวิกฤติกว่าปีนี้ เพราะพื้นที่ตอนบนไม่มีน้ำ ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป เพราะการติดตามสถานการณ์ระยะยาวยังมีความคลาดเคลื่อน แต่การพยากรณ์ ณ ตอนนี้ภาพเป็นอย่างนั้น

 

มีการคาดการณ์ว่า เอลนีโญ จะกลับมาอีก 2 ครั้ง ในช่วงระยะเวลา 5 ปีจากนี้ คือ ปี 2568 – 2569 และ ปี 2570 – 2571 ความน่ากังวลในเรื่องของอากาศร้อน น้ำแล้ง น้ำท่วม เป็นสิ่งที่แยกยาก เพราะเวลาร้อนก็ร้อนจัด ดังนั้น ภาพรวม คือ แล้ง ฝนตกหนัก น้ำท่วม จากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทำให้เป็นอย่างนั้น

 

“ต้องติดตามสถานการณ์ว่า ในปีนี้ ฝนที่ตกดี ในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ รวมถึง กทม. อาจจะมีโอกาสน้ำท่วมได้เช่นกัน ดังนั้น ย้ำว่าอยากให้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพราะการคาดการณ์ระยะใกล้ มีความไม่แน่นอน”

 

ประเมินสถานการณ์น้ำ

รศ.ดร.เสรี กล่าวต่อไปว่า เรื่องสภาพอากาศที่แปรปรวนทุกปี ทำให้การบริหารจัดการ ประเมินความเสี่ยงมีความสำคัญ เช่น ตอนนี้น้ำต้นทุน เหลือประมาณ 28 % ในภาคกลาง เพราะฉะนั้น หากฝนไม่ดี ภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ต้นทุนน้ำจะหนักในปีหน้า ต้องประเมินว่าจะบริหารอย่างไร ในกรณีที่เกษตรกรไม่ได้ทำนาปรัง เพราะนาปรังเป็นสิ่งที่เกษตรกรคาดหวัง เพราะผลผลิตดี ราคาข้าวดี และปีนี้ทำไปเยอะ

 

“ภาคการเกษตรให้ดูตลาดประกอบ ความหมายคือ ตอนนี้เกษตรกรปลูกนาปรัง ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยแล้ว ประกอบกับราคาข้าวดี เป็นเรื่องที่ดี แต่หากในปีหน้าต้นทุนน้ำไม่มี และ สถานการณ์ตอนนี้ อินเดีย ปลูกข้าวเยอะ คาดว่ามิถุนายน ฝนจะดี เพราะฉะนั้น อินเดียจะสต็อกปุ๋ยเต็มและทุ่มตลาดในปีหน้า อาจส่งผลต่อราคาข้าวในตลาด ดังนั้น ต้องบริหารน้ำบนความต้องการที่เกิดขึ้นจริง ดูราคาข้าวประกอบเพราะอินเดียทุ่มตลาด ต้องทำความเข้าใจความเสี่ยงที่จะตามมาว่าปีหน้าอาจจะทำนาได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย” รศ.ดร.เสรี กล่าว

 

ประเทศไทยตอนบนร้อนจัด

กรมอุตุนิยมวิยา พยากรณ์สภาพอากาศ 7 วันข้างหน้า (ระหว่างวันที่ 21 – 27 เมษายน 2567) ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ในขณะที่ลมตะวันตกเฉียงใต้และลมใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรงเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ตลอดช่วง

 

สำหรับภาคใต้ ในช่วงวันที่ 21 - 23 เม.ย. 67 ลมตะวันตกและลมตะวันตกเฉียงเหนือ พัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้ ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้ ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 24 - 27 เม.ย. 67 ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง

 

แนะประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบน ดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัด โดยหลีกเลี่ยงการทำงานหรือกิจกรรมในที่โล่งแจ้งเป็นเวลานาน และระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบางแห่งตลอดช่วง