เมื่อ 'แมลง' สูญหายจากภัย 'โลกร้อน' ความน่ากังวล ที่ส่งผลต่อมนุษย์
โลกร้อน ไม่เพียงแค่ส่งผลต่อมนุษย์เท่านั้น แต่ยังสร้างผลกระทบต่อสัตว์น้อยใหญ่ รวมถึงแมลงตัวเล็กๆ ที่หลายคนอาจมองข้าม แมลงหลายชนิดมีประโยชน์ในการผสมเกสร โดยเฉพาะในพื้นที่เขตร้อน ที่กำลังเผชิญกับผลกระทบอันเกิดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง
KEY
POINTS
- โลกร้อน ไม่เพียงแค่ส่งผลต่อมนุษย์เท่านั้น แต่ยังสร้างผลกระทบต่อสัตว์น้อยใหญ่ รวมถึงแมลงตัวเล็กๆ ที่หลายคนอาจมองข้าม แมลงหลายชนิดมีประโยชน์ในการผสมเกสร โดยเฉพาะในพื้นที่เขตร้อน ที่กำลังเผชิญกับผลกระทบอันเกิดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง
- นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังส่งผลต่อ "ผึ้ง" อุณหภูมิและฤดูกาลที่เปลี่ยนไปส่งผลให้เวลาที่แมลงจะออกหากิน และเวลาที่มีอาหารไม่ตรงกัน อีกทั้ง ยังทำให้ศัตรูพืชและโรคใหม่ๆ ทำลายอาณานิคมของผึ้งได้มากขึ้น
- บนโลกเราพืชพรรณที่หลากหลายไว้เป็นอาหารสำหรับมนุษย์ การมีแมลงหลากหลายสายพันธุ์ จึงเป็นตัวบ่งชี้ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ตรงกันข้ามเมื่อแมลงสูญหาย อาจเป็นหายนะที่มนุษย์จะต้องพบในไม่ช้า
“ภาวะโลกร้อน” (Global Warming) จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งที่ตามมา ไม่เพียงแค่ภัยธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อโรคภัยไข้เจ็บ และประเทศไทยเป็นอันดับ 13 ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเฉลี่ยร้อยละ 68.1 เนื่องจากเป็นประเทศที่มีแนวชายฝั่งยาว 3,219 กิโลเมตร ทำให้ได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น อาจทำให้ผู้คนจำนวน 11 ล้านคน ต้องสูญเสียบ้านเรือน และอาจมีปริมาณน้ำฝนลดลง และเกิดปัญหาภัยแล้งที่ยาวนานขึ้น จากการจัดอันดับของ yahoo finance
โลกร้อน ส่งผลต่อ “แมลงผสมเกสร”
นอกจาก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะส่งผลต่อมนุษย์โดยตรง ยังส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตร และเชื่อมโยงไปยังเหล่า “แมลงผสมเกสร” ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างอาหารให้กับมนุษย์ กองหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยผลการศึกษาของ กลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย University College London (UCL) ร่วมกับ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติในลอนดอน ที่ได้ทำการศึกษาความสัมพันธ์ของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงกับแมลงเหล่านี้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับแมลงผสมเกสรที่มาจากมากกว่า 100 ประเทศ ทั้งจากพื้นที่ซีกโลกเหนือ และซีกโลกใต้
ทั้งนี้ พื้นที่ส่วนใหญ่ในโลกได้มีการบันทึกเกี่ยวกับอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลต่อพืชพันธุ์ต่างๆ เท่านั้น แต่การศึกษาของนักวิจัยยังชี้ว่า ประเด็นนี้สอดคล้องกับการที่ประชากรแมลงผสมเกสรมีจำนวนลดลงด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ‘ดิน’ ใน ‘ออสเตรเลีย’ ปล่อย ‘ก๊าซคาร์บอน’ ภัยคุกคามใหญ่ ตัวการทำ ‘โลกร้อน’
- ‘ปลูกต้นไม้’ ผิดที่ ไม่มีประโยชน์ แถมทำให้ ‘โลกร้อน’ มากกว่าเดิม
- 'โลกร้อน' ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ทำคนมี ‘ปัญหาสุขภาพจิต’ เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม การศึกษาหลายชิ้นก่อนหน้านี้มุ่งเน้นไปที่ประชากรผึ้งเท่านั้น ขณะที่ รายงานล่าสุดที่ตีพิมพ์เมื่อเร็วๆ นี้ ในวารสาร Science Advances ได้ขยายขอบเขตการศึกษาให้ครอบคลุมถึงแมลงผสมเกสรประเภทอื่น อย่างเช่น ผีเสื้อ ผีเสื้อกลางคืน แมลงปีกแข็ง และแมลงวันในธรรมชาติ แมลงมีสายพันธุ์จำนวนหลายแสนชนิด แต่ในการศึกษานี้ นักวิจัยได้รวบรวมข้อมูลของแมลงจากทั่วโลกมาได้จำนวน 3,000 ชนิด และมุ่งเน้นไปยังพื้นที่เขตร้อน ซึ่งมีการปลูกพืชเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น โกโก้ และกาแฟ
รองศาสตราจารย์ ทิม นิวโบลด์ นักชีววิทยาด้านสัตววิทยาและการอนุรักษ์ จากมหาวิทยาลัย UCL และเป็นผู้ร่วมเขียนงานวิจัยดังกล่าว อธิบายว่า การศึกษานี้ได้มุ่งเน้นไปยังพืชสองชนิดข้างต้น เนื่องจากเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่ถูกผลิตในพื้นที่เขตร้อน และจะเป็นพืชที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยของสภาพภูมิอากาศใหม่ รวมถึงจำนวนแมลงผสมเกสรที่ลดลง
นักวิจัยในการศึกษานี้ ยังอธิบายถึงเหตุผลที่มุ่งเน้นไปยังพื้นที่เกษตรกรรม ว่า เป็นเพราะนี่หนึ่งเป็นวิธีหลักที่มนุษย์ใช้สอยประโยชน์จากที่ดิน ขณะที่ มีการคาดว่า จะมีที่ดินอีกจำนวนมากถูกแปลงให้เป็นพื้นที่การเกษตรเพื่อตอบสนองความต้องการในการบริโภคของประชากรโลกที่เพิ่มสูงขึ้นต่อจากนี้
และในความเป็นจริง เหล่าแมลงผสมเกสรในพื้นที่เขตร้อนคือ เหยื่อที่กำลังเผชิญกับผลกระทบอันเกิดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง และจะมีผลสืบเนื่องไปยังพืชผลการเกษตรซึ่งเป็นที่ต้องการทั่วโลกด้วย โดยรายงานชี้ว่า ในพื้นที่เกษตรกรรมที่ต้องเผชิญกับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ความหลากหลายทางชีวภาพของเหล่าแมลงก็ปรับลดลงราวครึ่งหนึ่ง
ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเกษตร และสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงยังส่งผลที่รุนแรงต่อเหล่าแมลงผสมเกสร มากกว่าแมลงโดยทั่วไป นอกจากนั้น ในพื้นที่เกษตรกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมากจนเกิดสภาพอากาศแบบใหม่ เราจะเห็นความหลากหลายทางชีวภาพของแมลงผสมเกสรลดลงกว่า 60% ด้วย
ในภาพรวม การสูญเสียแมลงผสมเกสรทำให้ผลผลิตด้านการเกษตรมีแนวโน้มที่จะลดลง ดังนั้น ในอนาคต เราอาจต้องใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรเพิ่มขึ้น และมีความเป็นไปได้ที่เราจำเป็นต้องหาวิธีผสมเกสรทดแทนแมลงเหล่านี้ ซึ่งอาจส่งผลให้การทำการเกษตรมีต้นทุนที่สูงมากขึ้น
ภัยคุกคาม “ผึ้ง”
สำหรับ “ผึ้ง” นับเป็นหนึ่งในแมลงที่มีความสำคัญของระบบนิเวศ ข้อมูลจาก กรีนพีซ ประเทศไทย ระบุว่า ทั่วโลกมีผึ้งกว่า 20,000 สายพันธุ์ ในสหราชอาณาจักรมีผึ้งประมาณ 270 พันธุ์ รวมถึงผึ้งที่ให้น้ำผึ้ง ผสมเกสรให้พืชป่ากว่า 80% ทั้งยังผสมเกสรให้พืชพรรณที่สำคัญเช่น ฟัก แอปเปิ้ล ถั่ว อัลมอนด์
นอกจาก “ผึ้ง” จะต้องเผชิญกับภัยคุกคามคือ การสูญเสียที่อยู่อาศัย ทุ่งหญ้ากลายเป็นพื้นที่เพาะปลูกแบบอุตสาหกรรมรวมถึง การขยายตัวของการพัฒนาเมืองได้ถางพื้นที่ขนาดใหญ่ ไม่หลงเหลืออะไรให้ผึ้ง และแมลงอื่นๆ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อผึ้งเช่นกัน อุณหภูมิ และฤดูกาลที่เปลี่ยนไปส่งผลให้เวลาที่แมลงจะออกหากิน และเวลาที่มีอาหารไม่ตรงกัน อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังทำให้ศัตรูพืช และโรคใหม่ๆ ทำลายอาณานิคมของผึ้งได้มากขึ้น ซึ่งปกติก็ต้านทานโรคได้น้อย หรือแทบจะต้านทานไม่ได้เลยอยู่แล้ว
อีกปัจจัยใหญ่คือ การใช้สารเคมีในการทำเกษตรกรรม ยาฆ่าแมลงทำลายพืชหลายชนิดที่มีความสำคัญต่อผึ้ง หรือแม้ว่ายาฆ่าแมลงไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ฆ่าผึ้ง แต่มันก็ทำอันตรายต่อผึ้งได้อยู่ดี มีการศึกษาพบว่ายาฆ่าแมลงส่งผลต่อความสามารถในการเดินทาง และความสำเร็จในการผสมพันธุ์ของผึ้ง ยาฆ่าแมลงยังทำร้ายแมลงชนิดอื่นๆ อีกด้วย
โลกร้อน กระทบ "หนอนผีเสื้อ"
ที่ผ่านมา BBC ได้รายงานผลการวิจัยของ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ พบว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกมีผลต่อความอยู่รอดของหนอนผีเสื้อ อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น อาจส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อไปถึงระบบนิเวศ ไม่ว่าจะเป็นการผสมเกสรดอกไม้ รวมทั้ง สัตว์ที่กินพวกมันเป็นอาหาร
ผีเสื้อ ไม่เพียงแค่มีความสวยงามเท่านั้น แต่พวกมันยังเป็นส่วนหนึ่งในความหลากหลายทางชีวภาพ อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก หนอนผีเสื้อมีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับอุณหภูมิได้ค่อนข้างแย่ เช่น เมื่ออยู่ในที่อุณหภูมิเย็น มันไม่สามารถทำให้ร่างกายอุ่นขึ้น หรือทำให้ร่างกายเย็นลงเมื่ออยู่ในอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นได้ เมื่อเกิดคลื่นความร้อนขึ้น พวกมันจะต้องติดบนต้นพืช เกาะกันเป็นก้อน ก่อนที่จะถูกแดดเผาจนสุก
หากแมลงล่มสลาย จะเกิดอะไรขึ้น
ข้อมูลจาก รายงานสุขภาพคนไทย สถาบันวิจัยประชากร และสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า ในระบบห่วงโซ่อาหาร “แมลง” มีคุณมหาศาลต่อมนุษย์ เพราะเป็นแหล่งอาหารสำคัญ บางชนิดก็มีมูลค่าเชิงเศรษฐกิจ และยังเป็นผู้ช่วยผลิตอาหาร โดยการผสมเกสรของพืชผัก ผลไม้ ช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์ตั้งแต่ใบไม้ไปจนถึงซากพืชซากสัตว์
บนโลกเราจึงมีพืชพรรณที่หลากหลายไว้เป็นอาหารเลี้ยงมนุษย์ทั่วโลก การมีแมลงหลากหลายสายพันธุ์ จึงเป็นตัวบ่งชี้ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ตรงกันข้ามเมื่อแมลงสูญหาย อาจเป็นหายนะที่มนุษย์จะต้องพบในไม่ช้า
งานวิจัยในต่างประเทศกว่า 70 ชิ้นวิเคราะห์ พบว่า ประชากรแมลง บนโลกนี้ กำลังล่มสลาย (Insect apocalypse)1 โดยมีจำนวนลดลง 1 ต่อ 4 ทุกๆ 10 ปี ด้วยน้ำมือมนุษย์ การสูญเสียแมลงไปแต่ละชนิดเป็นเรื่องน่ากังวลอย่างมาก เพราะเราไม่มีวันรู้ว่าแมลงที่หายไปนั้นทำหน้าที่อะไร หรือมีประโยชน์ต่อพืช และสัตว์อื่นอย่างไร
ไทย แมลงหายากใกล้สูญพันธุ์
ในเยอรมนี พบว่า แมลงในพื้นที่คุ้มครองลดลงถึงร้อยละ 75 ส่วนประเทศไทย มีการศึกษาชนิดแมลงหายากใกล้สูญพันธุ์ เมื่อปี 2551-2552 ในป่าที่อุดมสมบูรณ์ของประเทศไทย และศึกษาจากตัวอย่างแมลงในพิพิธภัณฑ์ พบแมลงหายากใกล้สูญพันธุ์ 3 อันดับ 12 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นผีเสื้อ
นอกจากนี้ มีการศึกษาในภาคใต้ของไทยเกี่ยวกับแมลงหายากใกล้สูญพันธุ์ ระหว่างปี 2553-2558 พบว่า มีแมลงหายาก และใกล้สูญพันธุ์ ทั้งหมดถึง 45 ตัวอย่าง จำแนกได้ 6 ชนิด จึงมีการรวบรวมนำมาเก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์แมลงของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ ผีเสื้อร่อนลมสยาม จำนวน 5 ตัวอย่าง ผีเสื้อค้างคาว 12 ตัวอย่าง ด้วงดินปีกแข็ง 9 ตัวอย่าง หิ่งห้อยยักษ์ 4 ตัวอย่าง หิ่งห้อยไดอะฟาเนส 6 ตัวอย่าง และตั๊กแตนขาหนาม 9 ตัวอย่าง สถานการณ์ที่แมลงลดจำนวนลง และใกล้สูญพันธุ์ดังกล่าว เกิดขึ้นจากสภาพอากาศของโลก และกิจกรรมของมนุษย์
กิจกรรมมนุษย์ อีกหนึ่งสาเหตุทำร้ายแมลง
อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น เป็นสาเหตุที่ทำให้แมลงลดลงหรือสูญพันธุ์ ส่วนกิจกรรมของมนุษย์ที่ทำร้ายแมลง ได้แก่ การทำเกษตรเข้มข้นเชิงเดี่ยวที่ใช้สารเคมี (ยาฆ่าแมลง) และอุตสาหกรรมที่มีการถางเผา และทำลายพื้นที่ป่าและระบบนิเวศ ทำให้แมลงที่มีอยู่หลากหลายสายพันธุ์สูญหาย และส่งผลกระทบต่อมนุษย์ เช่น การระบาดของแมลงศัตรูพืช เพราะเมื่อโลกร้อนขึ้นทำให้แมลงเผาผลาญพลังงานเร็วขึ้น และรู้สึกหิวโหยมากขึ้น จึงต้องการอาหารจำนวนมากเพื่อรองรับการเผาผลาญพลังงาน
และเมื่อศึกษาเชิงทดลอง จึงมีการพยากรณ์ว่า แมลงจะกินพืชผลทางการเกษตร และทำลายผลผลิตอาหารของโลกถึงร้อยละ 10 ก่อนที่พืชจะโตพอเก็บเกี่ยวได้
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัย พบว่า แสงไฟประดิษฐ์หลากสีตอนกลางคืน เป็นสิ่งที่รบกวนชีวิตของแมลง และทำให้แมลงจำนวนมากสูญพันธุ์ เช่น ขัดขวางการหาคู่ของหิ่งห้อย เปลี่ยนการรับรู้กลางวันกลางคืนของจักจั่น รบกวนแมลงชีปะขาวในการใช้แสงของตัวเองหาแหล่งน้ำเพื่อวางไข่ เป็นต้น
เมื่อแมลงเล่นไฟ ก็มักจะกลายเป็นเหยื่อของ หนู นก จิ้งจก ค้างคาว และแมงมุม ซึ่งทำให้ห่วงโซ่อาหารเสียสมดุล เพราะการถูกล่ามากเกินไปทำให้ประชากรแมลงสูญพันธุ์
ผลกระทบต่อห่วงโซ่
ผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารเมื่อแมลงหายไป จะเกิดกับสัตว์หลายชนิดที่กินแมลงเป็นอาหาร ทำให้สัตว์เหล่านี้ขาดอาหาร และล้มตายเป็นทอดๆ ที่สำคัญโลกจะขาดแหล่งผลิตอาหาร โดยเฉพาะผีเสื้อผสมเกสร ที่หลายชนิดหายาก และใกล้สูญพันธุ์มากขึ้นทุกที
แม้ว่าการควบคุมอุณหภูมิโลกจะเป็นไปได้ยากเสียแล้ว แต่ยังมีแนวทางที่พอจะช่วยให้ชีวิตเล็กๆ เหล่านี้ ได้อยู่คู่มนุษย์โลกต่อไปได้คือ ต้องมีการจัดการพื้นที่การเกษตรด้วยความรอบคอบระมัดระวัง เช่น รักษาแหล่งธรรมชาติรอบๆ พื้นที่การเกษตร ลด/งดการใช้สารเคมี ปลูกพืชที่หลากหลาย ส่วนในเขตเมืองควรเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น เพื่อให้แมลงสำคัญได้อาศัยอยู่ และเติบโตได้
แมลงศัตรูพืช หิวโหย
ขณะเดียวกัน วีโอเอไทย เผยผลการวิจัยของ เคิร์ททิส ดอยท์ช นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศโลกแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน และหัวหน้าการวิจัย ซึ่งระบุว่า หากนำแมลงเหล่านี้ไปไว้ในสภาพอากาศที่อุ่นขึ้น แมลงจะเผาผลาญพลังงานมากขึ้น และหากเผาผลาญพลังงานมากขึ้น จะกินมากขึ้นเพื่อเพื่อรองรับความต้องการพลังงานที่มากขึ้น เเละหากแมลงต้องกินมากขึ้น มันก็จะทำลายพืชผลทางการเกษตรมากตามไปด้วย
การศึกษานี้ได้พยากรณ์ว่า แมลงจะกินพืชมากขึ้น โดยได้ข้อมูลสนับสนุนจากการทดลองในสภาพจำลอง เพื่อศึกษาแมลงศัตรูพืช และกิจกรรมของแมลง
ดอยท์ช หัวหน้าการวิจัย กล่าวว่า ผลกระทบนี้จะรุนแรงพอๆ กับภาวะโลกร้อน ในขณะนี้แมลงศัตรูพืชกัดกินและทำลายผลผลิตพืชอาหารของโลกราว ร้อยละ 10 ก่อนหน้าที่พืชจะโตพอแก่การเก็บเกี่ยว
หากเราไม่หาทางหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกภายในปลายคริสต์ศตวรรษนี้ แมลงศัตรูพืชอาจจะกัดกินผลผลิตทางการเกษตรถึงร้อยละ 15 - 20
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์