ถึงเวลาเร่งสปีด ‘โกกรีน’ เพื่อทางรอดของประเทศไทย
มีความจำเป็นที่หน่วยงานภาครัฐจะต้องสนับสนุนการสร้างซัพพลายเชนที่ลดการปล่อยคาร์บอน เพื่อให้กระบวนการผลิตสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทั้งหมด รวมทั้งจะเป็นแนวทางที่เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศ
ประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ.2050 และประกาศเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ.2065 ซึ่งเป็นความท้าทายที่สำคัญของประเทศไทย เพราะการก้าวเข้าสู่เป้าหมายดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน ทั้งรัฐบาล หน่วยงานราชการ บริษัทเอกชนและประชาชน ซึ่งถ้าไทยไม่ดำเนินการจะส่งผลกระทบกับสินค้าถูกกีดกันหรือไม่เป็นที่ต้องการของตลาดโลก
สถานการณ์ดังกล่าวมีความจำเป็นที่ประเทศจะต้องเร่งดำเนินการตามแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนตามเมกะเทรนด์ดังกล่าว เนื่องจากในปัจจุบันมีการกำหนดกติกาการค้าระหว่างประเทศใหม่ออกมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรป (EU) ที่มีผลบังคับใช้แล้ว เพียงแต่อยู่ในช่วงการผ่อนปรนมาตรการ แต่ในอนาคตจะเข้มงวดเพิ่มมากขึ้น และจะเห็นผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศของไทย
ในขณะที่การลงทุนได้มีประเด็นที่บริษัทข้ามชาติมีคำถามถึงการจะทำอย่างไรให้บรรลุเป้าหมายของความเป็นกลางทางคาร์บอนขององค์กร ซึ่งเป้าหมายของบางบริษัทเร็วกว่าเป้าหมายของประเทศไทย ดังนั้น จึงจำเป็นที่หน่วยงานภาครัฐจะต้องสนับสนุนการสร้างซัพพลายเชนที่ลดการปล่อยคาร์บอน เพื่อให้กระบวนการผลิตสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทั้งหมด รวมทั้งจะเป็นแนวทางที่เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศ
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวจะเป็นผลดีต่อทั้งประเทศ ภาคเอกชนและประชาชน โดยเป็นประเด็นที่มีผลกระทบต่อทุกบริษัทและทุกขนาดอุตสาหกรรม ซึ่งทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องร่วมผลักดันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ดังนั้น จึงทำให้การเร่งสปีดเป็นประเด็นสำคัญไม่น้อยกว่าแผนงานที่วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นแผนงานระดับประเทศหรือแผนงานระดับเอกชนที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน
พลังงานสีเขียวเป็นอีกกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว โดยที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้เร่งผลักดันการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน แต่ยังมีหลายประเด็นที่จะต้องกำหนดกติกาให้มีความชัดเจนเพิ่มมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกและสนับสนุนการลงทุนดังกล่าว ซึ่งเงื่อนไขสำคัญอยู่ที่เงินทุนและเทคโนโลยีที่ต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาครัฐ และผู้ประกอบการจะต้องให้ความสำคัญในการปรับตัวด้วยเช่นกัน