'เอสซีจี' ลุยนวัตกรรมกรีน หนุนผลประกอบการไตรมาส 1/67 โต
เอสซีจี ชี้ผลประกอบการไตรมาส 1/67 ดีขึ้น เดินหน้านวัตกรรมกรีนตอบเมกะเทรนด์โลก เพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดตามแนวทาง "Inclusive Green Growth" ลดต้นทุน ด้านโครงการปิโตรเคมีเวียดนามปักหมุดผลิตเม็ดพลาสติกป้อนตลาดโลกในไตรมาส 3
นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า ผลประกอบการเอสซีจี ไตรมาส 1 ปี 2567 มีแนวโน้มดีขึ้น แม้เศรษฐกิจโลกผันผวน อุตสาหกรรมปิโตรเคมีอยู่ในช่วงอ่อนตัว แต่เอสซีจีสามารถบริหารต้นทุนได้ดี ส่งผลให้มีรายได้ 124,266 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากไตรมาสก่อน และมี EBITDA ที่ 12,623 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% จากไตรมาสก่อน และกำไรสำหรับงวด 2,425 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,559 ล้านบาทจากไตรมาสก่อน เป็นผลมาจากการพัฒนานวัตกรรมกรีนให้โดนใจลูกค้า ฟังก์ชันตอบโจทย์การใช้งาน ช่วยลดคาร์บอนซึ่งดีต่อโลก โดยยอดขาย SCG Green Choice ซึ่งอยู่ที่ 65,782 ล้านบาท คิดเป็น 53% ของยอดขายทั้งหมด (เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 1,114 ล้านบาท)
ขณะเดียวกันยังลดต้นทุนได้ดี ใช้กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยโรงงานปูนซีเมนต์ในไทยเพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงทดแทนได้ถึง 47% นอกจากนี้ หุ้นปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ยังได้รับเลือกให้ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา เป็นช่องทางใหม่ให้นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้น SCC และผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจ
เอสซีจีเร่งเดินหน้าต่อตามแนวทาง Inclusive Green Growth มุ่งสู่ผู้นำธุรกิจกรีน ควบคู่การสร้างสังคม Net Zero พัฒนานวัตกรรมกรีนเพื่อป้อนตลาดโลก ซึ่งมีความต้องการสูงและเติบโตได้อีกมาก ล่าสุดปูนคาร์บอนต่ำ (เจเนอเรชัน 2) ที่ช่วยลดคาร์บอนได้ 15-20% จะพร้อมจำหน่ายแล้ว นอกจากนั้นเตรียมรับเศรษฐกิจในประเทศและภูมิภาคที่กำลังฟื้นตัว โดยขยายการลงทุนในตลาดที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงอย่างภูมิภาค SAMEA (เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา) ส่วนโครงการลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ (Long Son Petrochemicals – LSP) จะกลับมาเดินเครื่องทดสอบทั้งโรงงาน เพื่อสร้างความพร้อมในการผลิตเม็ดพลาสติกคุณภาพสูงในไตรมาส 3”
ธุรกิจแพคเกจจิ้ง หรือ SCGP สร้างการเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การใช้วัตถุดิบกระดาษรีไซเคิลและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการวัตถุดิบ การส่งเสริมการปลูกไม้ยูคาลิปตัสแบบครบวงจร เพื่อให้ได้วัตถุดิบคุณภาพและช่วยกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ 31,770 ไร่ จำนวน 152,181 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และมุ่งต่อยอดเพิ่มมูลค่าไม้ยูคาลิปตัสผ่านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ด้วยการลงทุนงบประมาณ 3 ล้านดอลลาร์
ในความร่วมมือกับ Origin Materials บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำจากสหรัฐอเมริกา พัฒนา “Bio–based Plastic จากชิ้นไม้ยูคาลิปตัสสับ” รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด นำเทคโนโลยี Machine Learning และปัญญาประดิษฐ์ มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อลดการใช้พลังงานและต้นทุน และสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในการเตรียมความพร้อมรองรับเทรนด์การเติบโตของธุรกิจสีเขียว
ธุรกิจเอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชัน พัฒนานวัตกรรมปูนซีเมนต์หลากหลายประเภทตามการใช้งาน ล่าสุดการใช้ ‘ปูนคาร์บอนต่ำ’ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 85% และวันที่ 5 พฤษภาคมนี้ จะเปิดตัวปูนคาร์บอนต่ำ (เจเนอเรชัน 2) ซึ่งลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ร้อยละ 15-20 เทียบเท่ามาตรฐานสากล และโรงงานปูนซีเมนต์ในประเทศได้เพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงทดแทนถึง 47% ส่วนโรงงานปูนซีเมนต์ทุ่งสงที่ได้ปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อรองรับการใช้เชื้อเพลิงทดแทน
ธุรกิจเอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง มุ่งพัฒนาสินค้าวัสดุก่อสร้างและโซลูชันเพื่อการอยู่อาศัยที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า อาทิ ‘บ้านเอสซีจี ไฮม์ High Ceiling’ แบบบ้านใหม่สไตล์โมเดิร์น ตอบโจทย์การใช้ชีวิตยุคใหม่ ‘หลังคาเมทัล เอสซีจี รุ่นคลิปล็อค 700’ ออกแบบให้ติดตั้งด้วยระบบคลิปล็อค (Clip Lock) หมดปัญหารั่วซึมบริเวณหัวสกรู เตรียมจำหน่ายไตรมาส 2 ‘SCG Modeena COFF’ วัสดุตกแต่งผนังไฟเบอร์ซีเมนต์ ส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิลจากกระบวนการผลิตและวัสดุเหลือใช้จากธุรกิจอื่นถึง 48%
ธุรกิจเอสซีจี ดิสทริบิวชั่น แอนด์ รีเทล รุกธุรกิจเข้าสู่ตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูงอย่างต่อเนื่อง อาทิ ภูมิภาค SAMEA ซึ่งมีค่า GDP เฉลี่ยมากกว่า 70% และมีประชากรรวมกันมากกว่า 40% ของโลก โดยตั้งสำนักงานของ SCG International ที่ซาอุดิอาระเบีย ครอบคลุมทั้งปูนซีเมนต์ วัสดุก่อสร้าง กระดาษและบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนวัตถุดิบและชิ้นส่วนอุตสาหกรรม โดยมีแผนขนส่งสินค้าจากซาอุดิอาระเบียกระจายไปยังหลายประเทศทั่วโลก และจัดหาสินค้าจากภูมิภาคอื่น ๆ เข้ามายังซาอุดิอาระเบีย
ขณะที่ในตลาดอาเซียนได้ผลิตสินค้าปูนซีเมนต์ถุงเจาะกลุ่ม Economy Segment ที่เติบโตสูง อาทิ แบรนด์ 5-Star Cement ในกัมพูชา แบรนด์ ADAMAX ในเวียดนาม และแบรนด์ Bezt ในอินโดนีเซีย ในส่วนของธุรกิจรีเทลในประเทศ ได้สร้างการรับรู้สำหรับร้าน เอสซีจี โฮม โดยล่าสุดได้จัดงาน Grand Opening สาขาเมืองขอนแก่น
ธุรกิจเคมิคอลส์ หรือ SCGC เดินหน้าเพิ่มสัดส่วนยอดขายนวัตกรรมพลาสติกรักษ์โลก ‘SCGC GREEN POLYMERTM’ อย่างเต็มที่ เพื่อคว้าโอกาสรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่จะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังปี 2567 โดยไตรมาสที่ผ่านมา มียอดขาย 38,000 ตัน โดยทั้งปี 2566 มียอดขาย 218,000 ตัน สอดคล้องตามเป้าหมาย 1 ล้านตันภายในปี 2573
นอกจากนี้ ภายใต้บริษัท Sirplaste SA โปรตุเกส ยังได้เปิดตัว ‘SIRPRIME’ เม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงชนิดไร้กลิ่น หรือ High Quality Odorless PCR HDPE Resin (PCR HDPE) ผลิตจากขยะพลาสติกจากครัวเรือน 100% ขณะที่ ‘โครงการปิโตรเคมีครบวงจร LSP เวียดนาม’ อยู่ในช่วงการประเมินและตรวจสอบเครื่องจักรอย่างถี่ถ้วนอีกครั้ง เพื่อให้มั่นใจเรื่องความปลอดภัย คาดว่าจะกลับมาเดินเครื่องจักรทดสอบและพร้อมผลิตเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 3
ธุรกิจเอสซีจี เดคคอร์ หรือ SCGD ชู 4 กลยุทธ์ดันยอดขายโต 2 เท่า ภายในปี 2573 รับตลาดอาเซียนทยอยฟื้นตัว ได้แก่ 1. สร้างการเติบโตให้ธุรกิจตกแต่งพื้นผิวกระเบื้องปูพื้นและบุผนัง ขยายการลงทุนโรงงานในพื้นที่ภาคใต้ของเวียดนาม เพิ่มยอดขายสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และขยายช่องทางการจำหน่าย 2. ขยายธุรกิจสุขภัณฑ์ในอาเซียน และขยายการลงทุนโรงงานสุขภัณฑ์ใหม่ในอาเซียน ตั้งเป้ายอดขายสุขภัณฑ์เติบโต 2 เท่า หรือกว่า 10,000 ล้านบาท
3. ขยายธุรกิจสู่ผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวเนื่อง ตอกย้ำการเป็นผู้นำด้านการให้บริการแบบครบวงจร และเพิ่มโอกาสขายสินค้าที่เกี่ยวข้อง และ 4. ลงทุนและเข้าเป็นพันธมิตรทางธุรกิจในธุรกิจหลักของบริษัท ทั้งในและต่างประเทศ และยังเน้นลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตควบคู่กันไป อาทิ โครงการติดตั้ง Hot Air Generator โครงการปรับปรุงสายการผลิตกระเบื้องไวนิล SPC ซึ่งจะเริ่มผลิตสินค้าป้อนตลาดในไทยได้ตั้งแต่ปลายไตรมาส 2 ด้วยกำลังการผลิต 1.8 ล้านตารางเมตรต่อปี
ธุรกิจเอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ พลังงานสะอาดครบวงจร เติบโตต่อเนื่องตามเมกะเทรนด์โลกที่หันมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ผนวกกับการสนับสนุนของภาครัฐ ทำให้ตลาดพลังงานสะอาดในประเทศขยายตัวสูง โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวม 511 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 13% จากสิ้นปี 2566 จากความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนจัดทำโครงการซื้อขายไฟฟ้าใหม่ ๆ โดยปีนี้ตั้งเป้ากำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 200 เมกะวัตต์สำหรับการซื้อขายไฟฟ้ากับภาคเอกชน
ขณะเดียวกัน บริษัทสยามอุตสาหกรรมวัสดุทนไฟ จำกัด ได้ร่วมมือกับ Rondo Energy พัฒนาการผลิต ‘วัสดุกักเก็บความร้อน (Thermal Media)’ เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นวัสดุหลักสำหรับใช้ในแบตเตอรี่กักเก็บความร้อน (Heat Battery) โดยสามารถขยายกำลังการผลิตวัสดุกักเก็บความร้อน ได้ถึง 12,000 ตันต่อปี ในปลายปีที่ผ่านมา เพื่อรองรับการขยายธุรกิจแบตเตอรี่กักเก็บความร้อน
ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกยังเผชิญจากความเสี่ยงจากความขัดแย้งในตะวันออกกลาง แต่เศรษฐกิจไทยน่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นจากการท่องเที่ยว การลงทุนของต่างชาติ การอนุมัติงบประมาณปี 2567 ที่จะเริ่มเบิกจ่ายในเดือนเมษายน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ เช่น การลดค่าธรรมเนียมโอน-จดจำนอง ลดหย่อนภาษีเงินได้ และปล่อยสินเชื่อให้กู้ซื้อบ้านสำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์
"เป็นที่น่ายินดีที่ภาครัฐให้ความสำคัญเรื่องกรีน ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมเสนอพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายในปีนี้ การสนับสนุนโครงการสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ให้เป็นเมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย หากมีการผลักดันการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว (Green Procurement) ก็จะเป็นต้นแบบให้องค์กรอื่น ๆ ปฏิบัติตาม ซึ่งจะยิ่งช่วยกระตุ้นแนวคิดเรื่องกรีนให้เป็นรูปธรรม ลดภาวะโลกเดือดได้ รวมทั้งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว"