กรมส่งเสริมการเกษตร แนะวิธีดูแลสวนผัก-ผลไม้ ก้าวผ่านแล้งเดือด 44 องศาฯ

กรมส่งเสริมการเกษตร แนะวิธีดูแลสวนผัก-ผลไม้ ก้าวผ่านแล้งเดือด 44 องศาฯ

กรมส่งเสริมการเกษตร ห่วง สวนไม้ผล – สวนผัก เสียหายหนัก ช่วงข้ามแล้ง ส่งท้ายเอลนีโญ แนะวิธีดูแล หมั่นเช็คค่าความชื้นผิวดิน

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)และปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino)ทำให้ปี 2567 หน้าแล้งของประเทศไทย มีอุณหภูมิที่สูงขึ้นจากปีก่อนประมาณ 1 - 2 องศาเซลเซียส และมีระยะเวลาทอดยาวขึ้น ส่งผลให้ปลายเดือนเมษายน มีอุณหภูมิสูงสุดถึง 44 องศาเซลเซียสก่อนที่จะเข้าสู่อิทธิพลของปรากฏการณ์ลานีญา (La Nina)ในช่วงเดือนมิถุนายนต่อไป(ข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยา)

กรมส่งเสริมการเกษตร แนะวิธีดูแลสวนผัก-ผลไม้ ก้าวผ่านแล้งเดือด 44 องศาฯ

กรมส่งเสริมการเกษตรมีความห่วงใยเกษตรกรชาวสวนไม้ผล - ชาวสวนผัก ที่ต้นพืชและผลผลิตอาจเสียหายจากความร้อน - แล้ง จึงขอแนะวิธีดูแลสวนไม้ผล - สวนผักในช่วงร้อน - แล้ง ให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากความร้อน - แล้ง ดังนี้

วิธีดูแลสวนไม้ผลขอให้เกษตรกรดำเนินการ

 1. ตัดแต่งกิ่งที่ไม่จำเป็น กิ่งที่ไม่ให้ผลผลิตออก เพื่อทำให้ทรงพุ่มไม้ผลโปร่ง ช่วยลดการคายน้ำได้

 2. ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก แล้วคลุมโคนต้นไม้ผลในบริเวณทรงพุ่มด้วยหญ้าแห้งหรือเศษใบไม้หนาประมาณ 10 - 15 เซนติเมตร เพื่อรักษาความชุ่มชื้นของดินบริเวณทรงพุ่มให้อยู่ได้นานที่สุด ต้นไม้ผลจะได้สดชื่นและเจริญเติบโตได้เป็นปกติ

 3. จัดทำระบบน้ำในสวนไม้ผล หรือเตรียมจัดหาน้ำสำรองไว้ให้เพียงพอ เพื่อใช้ในฤดูแล้ง เช่น ขุดบ่อ เป็นต้น

 4. ใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่า โดยให้น้ำไม้ผลในปริมาณที่พอดีกับความต้องการของไม้ผล จะช่วยให้ไม้ผลเจริญเติบโตได้ ผลผลิตไม่ร่วง และสามารถพัฒนาเป็นผลที่มีคุณภาพ

 5. ให้น้ำในช่วงเช้าตรู่ เนื่องจากน้ำในบ่อและน้ำในระบบท่อจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าช่วงกลางวันและเย็น

กรมส่งเสริมการเกษตร แนะวิธีดูแลสวนผัก-ผลไม้ ก้าวผ่านแล้งเดือด 44 องศาฯ

 6. กรณีที่ไม่มีระบบน้ำหรือน้ำสำรองไว้สำหรับสวนไม้ผล หากสังเกตเห็นต้นไม้ผลใบเหี่ยวเฉา ควรหาซื้อน้ำมารดให้ต้นไม้ผลทันที อย่างน้อย 7 - 10 วันต่อครั้ง เพื่อช่วยให้ต้นไม้ผลมีชีวิตรอดผ่านแล้งไปได้

 7. สวนไม้ผลที่อยู่ในพื้นที่ที่มักเกิดไฟป่า และมีโอกาสเกิดไฟป่าลามเข้าสวนควรเก็บเศษหญ้าแห้ง กิ่งไม้แห้ง และใบไม้แห้งออกจากแปลงปลูก เตรียมน้ำ ทราย และอุปกรณ์ดับไฟไว้ให้พร้อม และนำมาใช้งานได้โดยสะดวก ทำแนวกันไฟรอบพื้นที่สวน โดยตัดถนนรอบแปลงกว้าง 5 - 6 เมตร เพื่อป้องกันไฟจากข้างนอกลุกลามเข้ามาในแปลง และฝึกซ้อมคนงานประจำสวนให้มีความรู้และความพร้อมในการดับไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 สำหรับวิธีดูแลสวนผักเนื่องจากหน้าร้อน แสงแดดจัด และอุณหภูมิสูง น้ำจะระเหยเร็ว ทำให้ดินแห้งเร็วกว่าในฤดูอื่น อาจทำให้ผักได้รับน้ำไม่เพียงพอ เกิดอาการเหี่ยวเฉาและตายได้ อีกทั้งอุณหภูมิที่สูงเกินไป ส่งผลต่อกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืช ทำให้พืชผักชะงักการเจริญเติบโต และอาจตายได้ เกษตรกรจึงควรดูแลสวนผัก ดังนี้

1.หมั่นตรวจความชื้นของดินในแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ รักษาความชื้นในดินโดยการนำฟางข้าว หญ้าแห้ง จอกแหนหรือพลาสติก คลุมแปลง

2.การจัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอ ควรปรับปรุงบ่อน้ำให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ สูบน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียงมาเก็บกักไว้ หมั่นตรวจสอบระบบส่งน้ำ อย่าให้น้ำรั่วไหล อีกทั้งควรใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเลือกวิธีการให้น้ำที่เหมาะสม เช่น การใช้ระบบน้ำหยด และให้น้ำตามช่วงการเจริญเติบโตและความต้องการของพืช

3. พรางแสงด้วยสแลน ช่วยสร้างร่มเงาให้แก่ผัก ลดความร้อน และรักษาความชื้นในอากาศ

กรมส่งเสริมการเกษตร แนะวิธีดูแลสวนผัก-ผลไม้ ก้าวผ่านแล้งเดือด 44 องศาฯ

4. หมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เฝ้าระวังศัตรูพืชในฤดูแล้ง เช่น ด้วงหมัดผัก เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อนหากมีการแพร่ระบาดของศัตรูพืช ให้กำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีผสมผสาน เช่น ใช้กับดักกาวเหนียว ฟีโรโมน ศัตรูธรรมชาติ (ตัวห้ำ ตัวเบียน และเชื้อจุลินทรีย์)

ทั้งนี้ เกษตรกรชาวสวนไม้ผลและชาวสวนผักสามารถใช้แอปพลิเคชัน “เช็คแล้ง” ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในแปลงเพาะปลูกของตนเองได้ทั่วประเทศ จากเมนูตรวจสอบแปลง ซึ่งแสดงค่าความเสี่ยงภัยแล้ง (รายสัปดาห์และรายเดือน) ค่าความชื้นผิวดิน การพยากรณ์เสี่ยงภัยแล้งล่วงหน้า 4 เดือน ข้อมูลพยากรณ์อากาศล่วงหน้า 7 วัน และกรมส่งเสริมการเกษตรข้อมูลแสดงแผนที่จุดความร้อน เพื่อติดตามจุดความร้อนที่เกิดจากการเผาในพื้นที่เกษตรเพื่อเตรียมการป้องกัน บรรเทาผลกระทบ ช่วยลดความเสียหายจากภัยแล้ง อุณหภูมิสูง และไฟในสวนของเกษตรกร