ไขความลับ 'นก' ทำไมต้องอพยพ 'โลกร้อน' กระทบอย่างไร

ไขความลับ 'นก' ทำไมต้องอพยพ 'โลกร้อน' กระทบอย่างไร

การอพยพ ย้ายถิ่นของ "นก" เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี สม่ำเสมอ ในแต่ละฤดูกาล ที่ผันเปลี่ยน ไป การอพยพเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จากพื้นที่แห่งหนึ่ง ไปยัง พื้นที่อีกแห่งหนึ่ง แล้วทำไม "นก" ต้องอพยพ ? วิกฤติโลกร้อน ส่งผลอย่างไรต่อวงจรเหล่านี้อย่างไร

KEY

POINTS

  • การที่เราได้เห็นนกหน้าตาแปลกๆ บินมาให้เราได้เห็นในฤดูต่างๆ นั่น คือ การอพยพของนก ซึ่ง “นก” เป็นสัตว์ชนิดเดียว ในโลกที่มีการอพยพย้ายถิ่นมากที่สุด
  • นก มีการปรับตัว ทั้งโครงสร้างร่างกาย และ สภาพทางกายภาพ ให้เหมาะกับการดำรงชีวิตทำให้นกสามารถแสวงหา สถานที่ที่มีสภาพแวดล้อม ที่เหมาะในแต่ละช่วงเวลาของแต่ละฤดูกาล เกิดปรากฎการณ์ที่เรียกกันว่า การอพยพ ย้ายถิ่นของนก 
  • อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โลกร้อน ทำให้การอพยพของนกเปลี่ยนไป เช่น หากในพื้นที่ที่ นกกินแมลง ไม่อพยพเข้าไป เกษตรกรอาจต้องหันมาใช้ยาฆ่าแมลงเยอะขึ้น 

การที่เราได้เห็นนกหน้าตาแปลกๆ บินมาให้เราได้เห็นในฤดูต่างๆ นั่น คือ การอพยพของนก ซึ่งแม้ว่าเราจะเห็นการอพยพของสัตว์อื่นๆ เช่น ปลา สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แมลง แต่ “นก” เป็นสัตว์ชนิดเดียว ในโลกที่มีการอพยพย้ายถิ่นมากที่สุด

 

ข้อมูลจาก อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ อธิบายว่า นกมีการปรับตัว ทั้งโครงสร้างร่างกาย และ สภาพทางกายภาพ ให้เหมาะ กับ การดำรงชีวิตในอากาศ ทั้งขนปีก หาง กระดูก ปอด และ โพรงอากาศในเนื้อเยื่อ รวมทั้งระบบเผาผลาญอาหารให้เกิดพลังงาน เพื่อการดำรงชีพ

 

การปรับตัวนี้เอง ทำให้นกสามารถแสวงหา สถานที่ที่มีสภาพแวดล้อม ที่เหมาะ แก่การดำรงชีพของมันในแต่ละช่วงเวลาของแต่ละฤดูกาล ในแต่ละปี ด้วยคุณ สมบัติ ดังกล่าว ทำให้เกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ เรียกกันว่า การอพยพ ย้ายถิ่นของนก เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี สม่ำเสมอ ในแต่ละฤดูกาล ที่ผันเปลี่ยน ไป การอพยพเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จากพื้นที่แห่งหนึ่ง ไปยัง พื้นที่อีกแห่งหนึ่ง แล้ว เวียนกลับไปมา

 

การอพยพสัตว์ต่างถิ่น สัญญาณความเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ การอพยพของ “นก” สาเหตุสำคัญมาจาก แหล่ง อาหารที่ลดน้อยลง เนื่องจากฤดูหนาว และสัญญาณเตือนภัยว่า มีการเปลี่ยนแปลงของ ธรรมชาติจากที่เคยเป็น ในบางพื้นที่การปรากฎตัวของสัตว์ต่างถิ่น เป็นสัญญานของความเปลี่ยนแปลง สำหรับชาวเอสกิโม และชนเผ่าต่างๆ ทางขั้วโลกเหนือ ซึ่งบ่งบอกว่ากำลังจะเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ อากาศจะเริ่มอบอุ่นขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีอิทธิพลอย่างสำคัญ ต่อแรงจูงใจให้สัตว์ต่างๆ อพยพ คือ ความอุดมสมบูรณ์ และ ความเหมาะสมต่อการดำเนินชีวิต ที่แตกต่างกันของสองภูมิภาค ในแต่ละฤดูกาล “นก” ต้องการสิ่งแวดล้อมที่พิเศษ ในการขยายเผ่าพันธุ์ ในระหว่าง กลุ่มนกที่ชอบการอพยพ และ กลุ่มที่ไม่อพยพ มีความต้องการแตกต่างกัน เชื่อกัน ว่าประเภทของอาหาร ที่เหมาะสมสำหรับเลี้ยงลูกอ่อน เมื่อเกิดขึ้นที่ใด เวลาใด นั่นคือตัวกำหนดว่า ถึงเวลาที่พวกมันต้องจับคู่ทำรัง

 

การวิวัฒนาการรูปแบบการอพยพ เป็นผลสืบเนื่องมาจาก ความต้องการที่แตกต่างกันเฉพาะชนิดพันธุ์ ในช่วงเวลาของการ จับคู่ทำรัง หรือ การ ดำรงชีวิตในช่วงฤดูหนาว ซึ่งสภาพแวดล้อมแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง นกที่ชอบ อพยพส่วนมาก

 

โดยเฉพาะพวกที่อพยพระยะไกล เช่น นกนางแอ่น และ นกกินแมลง ส่วนมากเมื่ออากาศเริ่มเปลี่ยนแปลงไป อุณหภูมิลดต่ำลง ก่อนที่แมลงจะ ลดน้อยลง นกพวกนี้จะเริ่มรู้ตัวว่า ทำมาหากินลำบาก อุณหภูมิที่ลดต่ำลง เริ่มทำให้มันอยู่ไม่สบาย นกทั้งสองชนิดนี้ มีปฏิกิริยาต่ออุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไว พวกมันจะเป็นพวกแรกๆ ที่เริ่มอพยพในทันที

 

ในฤดูใบไม้ผลิของซีกโลกตอนเหนือ เป็นตัวกระตุ้นให้มีการอพยพกลับไป เพราะช่วงกลางวันที่ยาวขึ้น ทำให้พืชพรรณไม้ ที่นกใช้เป็นแหล่งอาหารเลี้ยงลูกอ่อน การฟักไข่ไม่ต้องใช้เวลานานเกินไป ความเสี่ยงของลูกจากพวกนักล่าลดน้อยลงด้วย อย่างไรก้ตาม ในเขตตอนเหนือของโลก ฤดูร้อนมักสั้นทำให้ช่วงเวลาเหมาะในการทำรัง เลี้ยงลูกสั้นตามไปด้วย นกต้องเร่งออกไข่เลี้ยงลูกอ่อน เพื่ออีกไม่นาน ต้องเตรียมตัวอพยพลงใต้ ในภูมิภาคเขตร้อน

 

นกอพยพ ในไทย

ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพในระดับสูง โดยเฉพาะนกหลายสามพันธุ์ ที่มีการอพยพทั้งแบบผ่านไปมา แบบแวะพัก หรือแบบมาเพื่อสืบพันธุ์ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) อธิบายว่า นกเหล่านี้ หากถูกทำร้ายหรือถูกฆ่า อาจทำให้เกิดการขาดหายของสายพันธุ์หนึ่งไปตลอดกาล เพราะนก 2 ใน 3 ของชนิดที่ถูกคุกคามจนเสี่ยงสูญพันธุ์อาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชีย

 

ในช่วงฤดูหนาวของทุกปีในบริเวณซีกโลกเหนือมีอุณหภูมิที่ต่ำ และส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวันของนกบริเวณดังกล่าว จึงบินอพยพหนีอากาศหนาวมาที่ซีกโลกทางใต้ที่มีอุณหภูมิที่อบอุ่น กลุ่มนกที่อพยพมีหลากหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มนกเป็ดน้ำ กลุ่มนกบก กลุ่มนกชายเลน กลุ่มนกนางนวล

 

สาเหตุและสิ่งที่กระตุ้นให้นกมีการอพยพ

นกเป็นสัตว์ที่มีเมตาบอริซึมสูง จึงจำเป็นต้องกินอาหารตลอดเวลาเป็นจำนวนมาก จึงต้องหาแหล่งอาหารในพื้นที่ที่แหล่งอาหารสมบูรณ์และเหมาะสมสำหรับวางไข่และเลี้ยงดูลูกอ่อน

 

การอพยพของนกเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอิทธิพลจากธรรมชาติ แสงแดดในฤดูใบไม้ผลิบริเวณซีกโลกเหนือเป็นหนึ่งในสิ่งเร้าที่กระตุ้นให้นกเตรียมการอพยพ โดยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในเซลล์ประสาทที่อยู่ในส่วนล่างของสมอง ซึ่งจะหลั่งสารเคมีออกมากระตุ้นให้นกอยากอาหารมากกว่าปกติ

 

เพื่อให้อาหารส่วนเกินแปรรูปไปเป็นไขมัน เก็บไว้ใต้ผิวหนังที่กล้ามเนื้อปีกและช่องท้องหรือเรียกได้ว่าเก็บเป็นพลังงานสำรองสำหรับการบินอพยพระยะไกล โดยไขมันที่เก็บไว้นี้ให้พลังงานแบบไม่ใช้ออกซิเจนในการเผาผลาญพลังงาน ทำให้เปลี่ยนจากไขมันไปเป็นพลังงานได้ในทันที นกจะไม่เหนื่อยหรืออ่อนเพลีย

 

ปัจจัยและสิ่งเร้า จากแสงแดดที่สว่างยาวนานในช่วงกลางวัน สภาพแวดล้อม และภูมิอากาศที่เหมาะสม ในสถานที่ทั้งสองแห่ง (พื้นที่อาศัยและพื้นที่อพยพ) จะต้องสอดคล้องกันจึงจะเกิดการอพยพ หากมีการเปลี่ยนแปลงของฤดูใบไม้ผลิที่รวดเร็ว ก็จะเกิดการอพยพที่เร็วเช่นกัน และจนกว่าฤดูหนาวในถิ่นเดิมจากผ่านพ้นไป นกจะอพยพกลับและอาศัยอยู่ที่เดิมอีกครั้ง จนกลายเป็นวัฎจักร

 

นกอพยพที่พบในประเทศไทย

1. กลุ่มนกบก (Terrestrial Bird) ได้แก่ นกจาบปีกอ่อน นกเด้าลม นกพงหญ้า นกแอ่นบ้าน ฯลฯ

2. กลุ่มนกทะเล (Sea Bird) ได้แก่ พวกนกนางนวล ฯลฯ

3. กลุ่มนกชายเลน (Shore Bird) ได้แก่ นกทะเลขาแดง นกสติ๊นท์ นกปากซ่อม ฯลฯ

4. กลุ่มนกลุยน้ำ (Wadering Bird) ได้แก่ นกยาง นกกระสา นกอัญชัน ฯลฯ

5. กลุ่มห่านป่าและนกเป็ดน้ำ (Waterflow) ได้แก่ ห่านคอขาว เป็ดแดง เป็ดลาย ฯลฯ

6. กลุ่มนกล่าเหยื่อ ได้แก่ เหยี่ยวหรือนกอินทรีชนิดต่าง ๆ

 

นกน้ำอพยพของไทย

นกน้ำอพยพ และ นกประจำถิ่นในประเทศไทย จากข้อมูล Revised Checklist of Thai birds July 2022 ของสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย (BCST) ได้มีการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลนกในประเทศไทย พบนกอพยพและนกประจำถิ่นในประเทศไทย 1,083 ชนิด โดยอยู่ในทะเบียน Thailand Red Data 1,009 ชนิด ซึ่งมีนกที่อยู่ในสถานภาพถูกคุกคาม (CR, EN, VU) ตามทะเบียนชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามของประเทศไทย (Thailand Red Data) จำนวน 171 ชนิด

CR - Critically Endangered – ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง จำนวน 43 ชนิด

EN - Endangered – ใกล้สูญพันธุ์ จำนวน 58 ชนิด

VU - Vulnerable – มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ จำนวน 70 ชนิด

 

นกน้ำ สถานภาพถูกคุกคาม 20 ชนิด

จากการจำแนก พบ นกน้ำ (Waterbirds) จำนวน 203 ชนิด และเมื่อจำแนกตามพฤติกรรมการอพยพพบนกน้ำอพยพ (Migratory Waterbirds) จำนวน 144 ชนิด ซึ่งอยู่ในสถานภาพถูกคุกคามของ Thailand Red Data (CR, EN, VU) จำนวน 20 ชนิด ดังนี้

CR - Critically Endangered – ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง จำนวน 8 ชนิด ได้แก่

  • เป็ดดำหัวดำ
  • นกโจรสลัดเกาะคริสต์มาส
  • นกกระสาปากเหลือง
  • นกชายเลนปากช้อน
  • นกตะกราม
  • นกน็อดดี้
  • นกฟินฟุต
  • นกนางนวลแกลบแม่น้ำ

EN - Endangered – ใกล้สูญพันธุ์ จำนวน 2 ชนิด ได้แก่

  • นกทะเลขาเขียวลายจุด
  • นกปากช้อนหน้าดำ

VU - Vulnerable – มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ จำนวน 10 ชนิด ได้แก่

  • เป็ดดำหัวสีน้ำตาล
  • นกกรีดน้ำ
  • นกน็อตใหญ่
  • นกปากซ่อมพง
  • นกยางจีน
  • นกอีก๋อยตะโพกสีน้ำตาล
  • นกช้อนหอยขาว, นกกุลา
  • นกกระสาแดง
  • นกกระทุง
  • นกกระแตหาด

 

เส้นทางอพยพของนก

ทฤษฎีการอพยพของนกมีหลากหลาย ทั้งการอพยพจากทิศทางการขึ้น - ลงของดวงอาทิตย์ ตำแหน่งดวงจันทร์และดวงดาว หรือจากทิศทางของสนามแม่เหล็กโลก รวมถึงการสั่งสมความรู้ที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น การอพยพมักจะเกิดขึ้นระหว่างพื้นที่ซีกโลกเหนือตอนบนกับตอนล่างของทวีป เพราะมีแผ่นดินกว้างกว่าและอาการเปลี่ยนของอากาศที่มีความแตกต่างกันมากอย่างชัดเจน ซึ่งส่วนใหญ่จะอพยพในแนวเหนือ - ใต้ แต่บางชนิดก็อพยพในแนวตะวันออก - ตะวันตก

 

ในเส้นทางการอพยพของนกในประเทศไทยนั้น จะคล้ายกับเส้นทางของนกในทวีปเอเชีย คือ อยู่ในแนวเหนือ - ใต้ เป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ นกเป็ดน้ำ นกนางแอ่นบ้าน นกยาง

 

สรีระและพฤติกรรม

นกอพยพมีสรีระและพฤติกรรมที่แตกต่างจากนกประจำถิ่น เนื่องจากความต้องการที่แตกต่างกัน นกอพยพนั้นต่างมีการปรับเปลี่ยนร่างกายให้เหมาะสมสำหรับการบินระยะทางไกล โดยสรีระที่เราสามารถพบเห็นได้ชัดเจน คือ มีปีกที่ยาวขึ้น ขนปลายปีกจะยาวกว่าขนปีกด้านใน รูปร่างปีกจะแหลม มุมยกของปีกสูงกว่านกประจำถิ่นเพื่อลดแรงงปะทะที่ปลายปีก

 

ทำให้บินได้นานและไม่ต้องออกแรงขยับปีก แต่ทดแทนด้วยการร่อนแทน แตกต่างจากนกประจำถิ่นที่มีปีกกลม และเล็กกว่า ส่วนพฤติกรรมการทำรังของนกอพยพจะว่าไข่ในอีกพื้นที่หนึ่งที่อบอุ่นหรือในฤดูใบไม้ผลิ พอถึงฤดูหนาวจะอพยพไปอีกพื้นที่หนึ่งเพื่อลดการแก่งแย่งอาหารที่มีในปริมาณจำกัด

 

“โลกร้อน” กระทบการอพยพของนก

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตทั่วโลก รวมถึง กระทบต่อการอพยพของนกในฤดูหนาว วีโอเอไทย เผยข้อมูลจาก เชย์ อักมอน (Shay Agmon) ผู้ประสานงานสัตว์ปีกเเห่งอุทยานลุ่มน้ำ อะกามอน ฮูลา (Agamon Hula) ที่มีการเฝ้าติดตามนกอพยพ พบว่า สภาพแห้งแล้งที่รุนแรงขึ้นทั่วแอฟริกา เป็นเหตุให้นกอพยพหลายชนิดเข้าไปอาศัยในอุทยานแห่งนี้ในอิสราเอล เพราะชุ่มน้ำเขียวชอุ่มและเย็นกว่า

 

ด้าน เชย์ อักมอน ผู้ประสานงานสัตว์ปีกเเห่งอุทยานลุ่มน้ำ Agamon Hula ในอิสราเอล กล่าวว่า นกทุกชนิดที่พยายามเดินทางจากทางตะวันตกเฉียงเหนือ จากยุโรปตอนกลางและยุโรปตะวันออก ตลอดจนเอเชียตะวันตก เพื่อไปยังแอฟริกา จะต้องบินผ่านอุทยานแห่งนี้ในอิสราเอล และมักหยุดพักเพื่อหาอาหารกิน เก็บเรี่ยวแรงเพื่อเดินทางต่อไป

 

ปัจจุบัน เขตทะเลทรายต่างๆ ขยายใหญ่ขึ้นกว่าเดิมเพราะความแห้งแล้ง ทำให้นกต้องเดินทางไกลกว่าเดิม

 

ตั้งแต่ช่วงยุค 1950 เป็นต้นมา จำนวนนกอพยพที่เปลี่ยนมาพักพิงในอิสราเอลจนถึงเดือนมีนาคม แทนที่จะเดินทางต่อไปยังทวีปแอฟริกาได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก

 

"การเปลี่ยนเส้นทางอพยพของนกไปทางเหนือมากขึ้น ทำให้คนมีบทบาทมากขึ้นในการดูแลสิ่งแวดล้อมตั้งแต่นี้ต่อไป ในเกือบทุกแง่มุมของการอนุรักษ์ธรรมชาติ จะกลายเป็นภาระของคนมากขึ้น คนจะต้องรับมือกับปัญหาทุกอย่างทางธรรมชาติเอง และต้องรับผิดชอบในเรื่องการดูแลสภาพแวดล้อม สุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีของสัตว์ทุกชนิด"

 

ด้าน ศาสตราจารย์ ยอสสิ เลเเชม (Yossi Leshem) ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตววิทยาเเห่งมหาวิทยาลัยเทล อาวีฟ (Tel Aviv) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการอพยพของนกเเบบนี้ มีผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกร นกอพยพขนาดเล็ก เมื่อบินเข้าไปในไร่ในแอฟริกา นกจะกินเเมลงที่เป็นศัตรูพืชเป็นอาหาร ซึ่งเป็นผลดีต่อเกษตรกร แต่หากนกเหล่านี้ไม่เดินทางไปที่นั่น เกษตรกรจะต้องใช้ยาฆ่าเเมลงมากขึ้นในการกำจัดเเมลงศัตรูพืช ต้องจ่ายเงินมากขึ้น และยังเป็นอันตรายต่อชีวิตนก และคนอีกด้วย

 

อ้างอิง : สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) , EAAFP – Thailand , วีโอเอไทย