ฝนหลวง ผนึก 3 หน่วยงานเพิ่มประสิทธิภาพดัดแปรสภาพอากาศ
กรมฝนหลวงฯ MOU ร่วม 3 หน่วยงาน วิจัยและพัฒนาการเพิ่มประสิทธิภาพการดัดแปรสภาพอากาศ เพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามบันทึก ความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านวิชาการ ระหว่าง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กับ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ว่า
ปัญหาภัยแล้งและ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น หมอกควัน ไฟป่า และพายุลูกเห็บ ได้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และสุขภาพของประชาชน ทำให้เกิดความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือน และเป็นอุปสรรคในการคมนาคมขนส่ง และยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และภาคการเกษตรที่เป็นระบบเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศด้วย
กรมฝนหลวงและ การบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานที่ได้สนองและสืบสานพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการช่วยบรรเทาภัยพิบัติ ช่วยเหลือประชาชนให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ เพื่อความอยู่ดี กินดี และมีความสุขดีขึ้น
จึงมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีฝนหลวง อันเป็นศาสตร์แห่งการดัดแปรสภาพอากาศ เพื่อนำมาใช้ในการป้องกันและบรรเทา ความรุนแรงของภัยพิบัติทางธรรมชาติด้านต่าง ๆ
โดยปัจจัยสำคัญอีกหนึ่งประการที่จะปฏิบัติภารกิจได้อย่างสำเร็จและทันการณ์ คือการพัฒนาเทคนิคและวิธีปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเชื่อมโยงความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาด้านวิชาการ และเพิ่มศักยภาพการทำงานผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูล เครื่องมือ องค์ความรู้ ประสบการณ์ และความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม
ซึ่งจะเป็นการนำไปสู่การบริหารจัดการน้ำ และภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างแม่นยำ ทันท่วงที และยั่งยืนในอนาคต
นายสุพิศ กล่าวว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับ 3 หน่วยงาน ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์และขอบเขตความร่วมมือ ประกอบด้วย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จะร่วมกันดำเนินงานวิจัยพัฒนาและขยายผลองค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์บรรยากาศ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์กับการทำฝนหลวงและการวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศ และร่วมให้เกิดเป็นผลสัมฤทธิ์เชิงประจักษ์เพื่อสนับสนุนการผลักดันให้เกิดความมั่นคงทางคุณภาพอากาศ
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะร่วมกันดำเนินงานวิจัยและพัฒนาการเพิ่มประสิทธิภาพการดัดแปรสภาพอากาศ เพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติอันเนื่องมาจากความผันแปรของภูมิอากาศและสภาวะโลกร้อน และส่งเสริมและพัฒนาบุคลากร เสริมสร้างทักษะ ความรู้ ความสามารถ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางวิชาการระหว่างบุคลากร ซึ่งจะร่วมกันจัดทำโมเดลการบริหารจัดการภัยพิบัติ การพยากรณ์โอกาสการเกิดฝน การเกิดภัยพิบัติฝุ่นละออง ขนาดเล็ก PM 2.5 เพื่อวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือ
และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาการเพิ่มประสิทธิภาพการดัดแปรสภาพอากาศเพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ โดยมีการถ่ายทอดข้อมูลการปฏิบัติการฝนหลวงไปสู่บุคลากรทางการศึกษา เป็นการพัฒนาบุคลากรและนักศึกษาให้มีความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติการฝนหลวง ซึ่งเป็นการเผยแพร่ศาสตร์ตำราฝนหลวงพระราชทาน และต่อยอดความรู้ให้กับเยาวชนอาสาสมัครฝนหลวงหรือคนรุ่นใหม่ ให้เกิดการรับรู้ มีความรู้ ความเข้าใจ ในโครงการพระราชดำริฝนหลวง
" ความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อศึกษาและบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและคุณภาพสิ่งแวดล้อม "
รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสภาพอากาศสำหรับวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงได้อย่างแม่นยำ ตลอดจนเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจของนักศึกษา ประชาชน และชุมชนเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริฝนหลวง เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมและการตระหนักรู้ในการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างคุ้มค่าอีกด้วย
การลงนาม MOU ครั้งนี้ ร่วมด้วย นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร นายวีรวัฒน์ อังศุพาณิชย์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านปฏิบัติการ นายราเชน ศิลปะรายะ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านบริหาร
พร้อมด้วยผู้บริหารจาก 3 หน่วยงาน ได้แก่ นายศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) รองศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี มณีโกศล รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ รองศาสตราจารย์ ดร.เทพินทร์ พัชรานุรักษ์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ร่วมลงนาม
และมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากส่วนราชการในจังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วมแสดงความยินดีและเป็นสักขีพยานในโอกาสดังกล่าว ณ ห้องประชุมแอนโดรเมดา อาคารท้องฟ้าจำลองและนิทรรศการ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่