‘คลองปานามา’ น้ำลด เพราะ ‘เอลนีโญ’ ไม่ใช่เพราะ ‘ภาวะโลกร้อน’ จากฝีมือมนุษย์
การศึกษาพบ “คลองปานานา” แห้งแล้งจนมีระดับน้ำต่ำ เรือขนส่งสินค้าไม่สามารถสัญจรผ่านไปได้ เพราะ “เอลนีโญ” เป็นหลัก ไม่ได้มาจาก “ภาวะโลกร้อน” ที่เกิดจากฝีมือมนุษย์
เกือบตลอดปี 2566 ระดับน้ำใน “คลองปานามา” เส้นทางเดินเรือที่สำคัญที่สุดของโลก มีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมาจนไม่มีน้ำเพียงพอให้ “เรือบรรทุกสินค้า” สัญจรผ่านได้ จนเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องลดจำนวนที่อนุญาตให้แล่นผ่านได้
ขณะนี้เรือหลายลำต้องเปลี่ยนเส้นทางการเดินเรือที่อ้อมกว่าเดิม ทำให้เกิดความล่าช้าในการขนส่ง จนต้องเปลี่ยนไปใช้การขนส่งช่องทางอื่น เช่น รถบรรทุกและรถไฟ ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้ราคาสินค้าแพงขึ้นทั่วโลก โดยมีสาเหตุหลักที่ทำให้ปริมาณลดลงอย่างมาก เป็นผลมาจาก “ปรากฏการณ์เอลนีโญ” ทำให้ฝนตกน้อยลง
ข้อมูลจากรัฐบาลของปานามาระบุว่า ความต้องการน้ำภายในประเทศจะมีสูงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากจำนวนประชากรในประเทศเพิ่มขึ้น และการค้าทางทะเลขยายตัวมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ปัญหาภัยแล้งจะยังรุนแรงและทำให้ปริมาณน้ำในคลองปานามาลดลงอย่างต่อเนื่องในอีกหลายสิบปีข้างหน้า ระดับน้ำในคลองยังคงอยู่ที่ระดับต่ำตามฤดูกาลในช่วงสามเดือนแรกของปี 2567
นั่นหมายความว่าปีที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญในอนาคต อาจจะทำให้การขนส่งทั่วโลกต้องหยุดชะงัก อีกทั้งคนในประเทศก็จะไม่มีน้ำใช้ด้วยเช่นกัน
“การเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำฝนเพียงเล็กน้อยก็สร้างผลกระทบร้ายแรงได้เช่นกัน” มายา วาห์ลเบิร์ก ที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงของศูนย์ภูมิอากาศเสี้ยววงเดือนแดงของสภากาชาดกล่าว
“ปานามา” เป็นหนึ่งในประเทศที่มีฝนตกชุกที่สุดในโลก ปรกติอ่างเก็บน้ำที่ป้อนน้ำจืดเข้าสู่คลองปานามามีฝนตกเฉลี่ยมากกว่า 2.4 เมตรต่อปี ซึ่งปริมาณฝนนี้มีความสำคัญต่อการเดินเรือในคลองปานามาและแหล่งน้ำดื่มของประชากรมากกว่า 4.5 ล้านคนของในประเทศ
ปี 2566 ปริมาณน้ำฝนในปานามาต่ำกว่าปรกติถึง 25% ทำให้กลายเป็นปีที่แห้งแล้งมากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ในรอบเกือบ 50 ปีที่มีการบันทึกสถิติ นอกจากนี้ในปี 2566 ยังมีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเป็นเวลา 7 เดือนจากทั้งหมด 8 เดือน ในช่วงเดือนพฤษภาคม-ธันวาคม ซึ่งเป็นฤดูฝน
ความแห้งแล้งใหญ่ที่สุดของปานามาทั้ง 3 ครั้ง จนส่งผลกระทบต่อการจราจรในคลองปานามา ได้แก่ ปี 2540-41 อีกครั้งในปี 2558-2559 และล่าสุดปี 2566-2567 ทั้งหมดล้วนเป็นช่วงปีที่เกิดเอลนีโญทั้งสิ้น
“เราไม่เคยเจอเหตุการณ์ที่รุนแรงภายในช่วงเวลาสั้น ๆ ขนาดนี้มาก่อน” สตีเวน ปาตัน ผู้อำนวยการโครงการติดตามธรรมชาติของสถาบันวิจัยเขตร้อนสมิธโซเนียนในปานามากล่าว
น้ำใน "คลองปานามา" ลดลงเพราะ "เอลนีโญ"
เพื่อให้รู้สาเหตุสำคัญที่ทำให้ปริมาณน้ำฝนในปานามาลดลง ปาตันและทีมนักวิจัยจึงย้อนดูบันทึกสภาพอากาศในปานามา และสร้างแบบจำลองสภาพอากาศโลกภายใต้สภาวะที่แตกต่างกัน เช่น แบบจำลองโลกที่ไม่มีภาวะโลกร้อน โลกไม่ได้อุณหภูมิสูงขึ้น 1.2 องศาเซลเซียส นับตั้งแต่ก่อนอุตสาหกรรม
ฝนตกน้อยเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ปริมาณน้ำในคลองลดต่ำลง จากข้อมูลปริมาณน้ำฝนย้อนหลังแสดงให้เห็นว่า ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมามีปริมาณน้ำฝนน้อยลง เพราะฝนไม่ตกลงมา โดยแบบจำลองไม่ได้ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์ เป็นปัจจัยที่ทำให้น้ำลดลง เพราะอุณหภูมิไม่ได้ขึ้นสูงจนทำให้น้ำระเหยออกไป
นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญมีความเชื่อมโยงอย่างมากกับปริมาณน้ำฝนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในปานามา การวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่าเอลนีโญลดปริมาณน้ำฝนในปี 2566 ลงประมาณ 8% ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่ปานามาจะแห้งแล้งโดยไม่ได้รับอิทธิพลจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง
การระเหยของน้ำในปานามามีสาเหตุหลักมาจากความเร็วลม ความชื้น และเมฆปกคลุมเป็นหลัก ซึ่งตรงกันข้ามกับภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก ที่มีอุณหภูมิขึ้นสูงจนทำให้น้ำระเหยไปในอากาศ แม้ว่าในตอนนี้จะพบว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้น้ำในปานามาระเหยมากขึ้น แต่ก็ยังน้อยกว่าปริมาณน้ำที่หายไปเพราะฝนตกน้อยลง
“เรามั่นใจมากว่าเอลนีโญกำลังทำให้เกิดปริมาณน้ำฝนที่ต่ำ” ฟรีเดอริก ออตโต นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศจากวิทยาลัยอิมพีเรียล ผู้ประสานงานทีมศึกษาการระบุแหล่งที่มากล่าว
ขณะที่ คิม คอบบ์ นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศจากมหาวิทยาลัยบราวน์ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษานี้กล่าวว่า “ความแปรปรวนทางธรรมชาติมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดสภาพอากาศสุดขั้วหลายประการ ทำให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่คำตอบเสมอไป”
อย่างไรก็ตามในขณะนี้ สภาวะเอลนีโญกำลังอ่อนตัวลง และจะเข้าสู่ปรากฏการณ์ลานีญาในช่วงกลางปี 2567 คาดว่าปริมาณน้ำในคลองปานามาจะกลับสู่ภาวะปรกติอีกครั้ง แต่ยังคงต้องอาศัยการบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพมาก เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาน้ำขาดแคลน
ที่มา: AP News, The New York Times, VOA News, World Weather Attribution