‘ลานีญา’ บุกไทยปีนี้ เตรียมรับมือฝนชุก-อุณหภูมิลด
“ลานีญา” ปรากฏการณ์ธรรมชาติทางสมุทรศาสตร์ ที่กำลังจะมาแทน “เอลนีโญ” ในปีนี้ จะทำให้ประเทศไทยมีมีฝนมากขึ้นและอุณหภูมิลดต่ำลง แต่ “ภาวะโลกร้อน” ทำให้พยากรณ์ความรุนแรงของลานีญาได้ยากยิ่งขึ้น หากลานีญาไม่รุนแรงมาก ก็ไม่สามารถลดผลกระทบจาก ‘เอลนีโญ’ ในปีนี้ได้
KEY
POINTS
- องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ หรือ NOAA ระบุว่า ในขณะนี้เอลนีโญกำลังอ่อนตัวลง และจะเข้าสู่ยุคของ “ลานีญา” ภายในเดือนสิงหาคม 2567
- ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า ปรากฏการณ์ลานีญาจะส่งผลให้ปริมาณฝนของประเทศไทยส่วนใหญ่สูงกว่าปกติ โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อนและต้นฤดูฝน
- ยังไม่มีใครรู้ว่าสภาพอากาศในปีนี้จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เนื่องจาก “ภาวะโลกร้อน” ทำให้การทำนายความรุนแรงของลานีญาทำได้ยากกว่าเดิม
ในปี 2023 จนถึงปัจจุบันเป็นหนึ่งในปีที่ปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรงมากที่สุดที่เคยมีมา ทำให้ทั่วโลกปั่นป่วน จากสภาพอากาศสุดขั้ว เกิดไฟป่า ความแห้งแล้ง และคลื่นความร้อนปกคลุมทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และอเมริกาใต้ ส่วนอเมริกาเหนือมีฤดูหนาวที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ทางตอนใต้ของแอฟริกากลับทั้งเจอฝนตกหนัก และสภาพอากาศแห้งแล้งจัด ส่งผลให้พืชผลเสียหาย และทำให้หลายล้านคนเสี่ยงต่อความหิวโหย นอกจากนี้เอลนีโญยังทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลก และอุณหภูมิผิวน้ำทะเลพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ หรือ NOAA ระบุว่า ในขณะนี้เอลนีโญกำลังอ่อนตัวลง และจะเข้าสู่ยุคของ “ลานีญา” ภายในเดือนสิงหาคม 2567
‘ลานีญา’ คืออะไร
ข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า “ลานีญา” (La Niña) เป็นคำที่ใช้เรียกปรากฏการณ์ธรรมชาติทางสมุทรศาสตร์ที่ตรงข้ามกับกับเอลนีโญ กล่าวคือ อุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณตอนกลางและตะวันออกของแปซิฟิกเขตศูนย์สูตรมีค่าต่ำกว่าปรกติ เนื่องจากลมค้าตะวันออกเฉียงใต้มีกำลังแรงมากขึ้น จึงพัดพาผิวน้ำทะเลที่อุ่นจากตะวันออกไปสะสมอยู่ทางตะวันตกมากกว่าเดิม ทำให้บริเวณดังกล่าวซึ่งเดิมมีอุณหภูมิผิวน้ำทะเลและระดับน้ำทะเลสูงกว่าทางตะวันออกอยู่แล้วยิ่งมีอุณหภูมิและระดับน้ำทะเลสูงขึ้นไปอีก ปรากฏการณ์ลานีญาเกิดขึ้นได้ทุก 2 – 3 ปี และปกติจะเกิดขึ้นนานประมาณ 9 – 12 เดือน แต่บางครั้งอาจปรากฏอยู่ได้นานถึง 2 ปี
เมื่อปรากฏการณ์เอลนีโญที่จบลง โลกจะเข้าสู่ “สภาพเป็นกลาง” (Neutral Phase) ประมาณ 3-5 เดือน ก่อนที่จะเข้าสู่ปรากฏการณ์ลานีญาอย่างเต็มตัว และยังต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนที่กว่าที่ลานีญาตจะเริ่มส่งผลต่อสภาพอากาศ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่ในปีนี้อุณหภูมิจะยังคงสูงต่อไป จนสามารถทำลายสถิติของปีที่แล้ว หากลานีญาที่เกิดในปีนี้ไม่รุนแรงมากเพียงพอ
แม้ลานีญาจะเป็น “ขั้วตรงข้าม” ของเอลนีโญ แต่ไม่ได้หมายความว่าผลกระทบของเอลนีโญและลานีญาจะตรงกันข้ามเสมอไป พาเมลา น็อกซ์ นักอุตุนิยมวิทยาการเกษตรจากมหาวิทยาลัยจอร์เจียเอ็นเทนชัน กล่าวว่า
“ผลกระทบที่เกิดขึ้นเอลนีโญและลานีญาจะแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคของโลก แต่การเปลี่ยนแปลงนี้จะช่วยให้นักพยากรณ์อากาศคำนวณได้ว่า ในอีกไม่กี่เดือนหน้าจะมีสภาพภูมิอากาศอย่างไร”
ขณะที่ มิกกี้ แกรนท์ ผู้อำนวยการสมาคมเสริมสร้างขีดความสามารถ แห่งมหาวิทยาลัยโคโลราโดโบลเดอร์ ตั้งข้อสังเกตว่าลานีญาไม่เพียงแต่เปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเท่านั้น แต่ยังสามารถทำให้รูปแบบการเกิดฝนและความร้อนในบางภูมิภาครุนแรงขึ้นอีกด้วย “พื้นที่ไหนที่ปรกติแล้วมีฝน ฝนจะชุกกว่าเดิม แต่ถ้าแห้งแล้งอยู่แล้ว ก็มีความเป็นไปได้ที่จะแห้งแล้งกว่าเดิม” แกรนท์กล่าว
ลานีญาส่งผลอย่างไรกับประเทศไทย
ข้อมูลจาก NOAA ได้ระบุไว้ว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสภาพภูมิอากาศจากปรากฏการณ์ลานีญา สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ช่วง คือ ระหว่างเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ และ เดือนมิถุนายน-สิงหาคม โดยในแต่ละภูมิภาคของโลกจะได้รับผลกระทบที่แตกต่างกันออกไป
สำหรับ ระหว่างเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกาที่ติดกับมหาสมุทรอินเดีย คาบสมุทรมลายูและอินโดจีน จะมีภูมิอากาศร้อนชื้น ส่วนแอฟริกากลางฝั่งตะวันออกจะมีฝนตกชุก ขณะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก รัฐอลาสกาและแคนาดาฝั่งตะวันตก รวมถึงทางตอนใต้ของออสเตรเลียจะมีอากาศร้อน
ขณะที่ในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ลานีญาจะสร้างผลกระทบต่อกลุ่มประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิก ในทวีปเอเชีย โอเซียเนีย อเมริกากลางและอเมริกาใต้
ผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นจากลานีญา
ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า ปรากฏการณ์ลานีญาจะส่งผลให้ปริมาณฝนของประเทศไทยส่วนใหญ่สูงกว่าปกติ โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อนและต้นฤดูฝนเป็นระยะที่ลานีญามีผลกระทบต่อสภาวะฝนของประเทศไทยชัดเจนกว่าช่วงอื่น และพบว่าในช่วงกลางและปลายฤดูฝนลานีญามีผลกระทบต่อสภาวะฝนของประเทศไทยไม่ชัดเจน
สำหรับอุณหภูมิปรากฏว่า ลานีญามีผลกระทบต่ออุณหภูมิในประเทศไทยชัดเจนกว่าฝน โดยทุกภาคของประเทศไทยมีอุณหภูมิต่ำกว่าปกติทุกฤดู และพบว่าลานีญาที่มีขนาดปานกลางถึงรุนแรงส่งผลให้ปริมาณฝนของประเทศไทยสูงกว่าปกติมากขึ้น ขณะที่อุณหภูมิต่ำกว่าปกติมากขึ้น
“ภาวะโลกร้อน” ให้พยากรณ์ความรุนแรง “ลานีญา” ยากขึ้น
ยังไม่มีใครรู้ว่าสภาพอากาศในปีนี้จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เนื่องจาก “ภาวะโลกร้อน” ทำให้การทำนายความรุนแรงของลานีญาทำได้ยากกว่าเดิม เรามักจะคุ้นเคยกับคำกล่าวที่ว่า “ปีเอลนีโญเป็นปีร้อน ปีลานีญาเป็นปีเย็น” แต่ในตอนนี้ปีลานีญากลับร้อนกว่าปีเอลนีโญเมื่อ 20 ปีที่แล้วเสียอีก
“ระบบภูมิอากาศโลกในปัจจุบันแตกต่างไปจากรูปแบบที่เราเคยใช้คำนวณสภาพอากาศก่อนหน้านี้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่เราจะสามารถพยากรณ์อากาศได้แม่นยำ” แกรนท์กล่าว
NOAA ได้แสดงภาพการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่ากระทบต่อความรุนแรงของเอลนีโญและลานีญา โดยเปรียบเทียบกับการนั่งบนชิงช้า เอลนีโญและลานีญาเปรียบเป็นคนที่นั่งอยู่บนชิงช้า ซึ่งชิงช้าจะมีแรงเหวี่ยงเป็นของตนเองตามความรุนแรงของเอลนีโญและลานีญา แต่เมื่อมีภาวะโลกร้อนเข้ามาเสริมแรง ก็จะทำให้แรงเหวี่ยงของชิงช้าเพิ่มมากขึ้น
การเปรียบเทียบความรุนแรงของเอลนีโญและลานีญา เมื่อมีภาวะโลกร้อนเข้ามาเป็นตัวแปร
ดังนั้นหากยังคงปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” ในปริมาณเท่าเดิมไปเรื่อย ๆ พื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดหลายแห่งของโลก เช่น ภูมิภาคแอนเดียนในอเมริกาใต้ ทางตอนใต้ทะเลทรายซาฮาราในแอฟริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเผชิญกับสภาพอากาศสุดขั้วที่รุนแรงมากกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิที่สูงกว่าเดิม น้ำท่วมหนักขึ้น และภัยหนาวที่รุนแรง
สำหรับนักวิทยาศาสตร์แล้ว ช่วงเวลาที่เหลือของปี 2024 นับเป็นเคสสำคัญในการศุกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความแปรปรวนทางธรรมชาติ พร้อมเตรียมรับมือกับสภาพอากาศสุดขั้ว