‘อีสาน’ เสี่ยงน้ำท่วม-แล้ง-ขาดอาหาร ส่วน ‘กรุงเทพฯ’ เจอความร้อนมากที่สุด
สหประชาชาติ เผยภาคอีสานเสี่ยงทั้งท่วม แล้ง ขาดอาหาร ส่วนกรุงเทพฯ เป็นเมืองเสี่ยงต่อการตั้งถิ่นฐานมากที่สุดในภาวะโลกร้อนและรวน
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP เผยแพร่รายงานแห่งชาติฉบับที่ 4 หรือ NC4 (Fourth National Communication) ระบุว่า ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ “ภาคอีสาน” โดยเฉพาะนครราชสีมาเสี่ยงภัยพิบัติหนัก ทั้ง “น้ำท่วม” และภัยแล้ง
นอกจากนี้ภาคอีสานยังเป็นภาคที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนอาหารมากที่สุด เพราะอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นและอากาศที่แปรปรวนมากขึ้น ส่งผลให้หมู ไก่ วัวเครียดหรือตาย และพืชพันธุ์ต่าง ๆ ขาดน้ำ ขณะที่สัตว์ในจังหวัดเชียงใหม่เสี่ยงสูญพันธุ์มากที่สุดจากอากาศร้อนและแปรปรวน
“กรุงเทพมหานคร” เป็นจังหวัดที่เจอกับความร้อนมากที่สุด และเมืองที่เสี่ยงต่อการตั้งถิ่นฐานมากที่สุด จากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรอบด้าน ที่อาจนำไปสู่การขาดน้ำประปาสำหรับอุปโภคบริโภค ยิ่งไปกว่านั้น ผลกระทบที่ตามมาของสภาพอากาศสุดขั้วคือ ความอดอยาก การขาดสารอาหาร ความเสียหายต่อการประมง การเพาะปลูก และปศุสัตว์
รายงาน NC4 ประเมินความเสี่ยงของประเทศไทยต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยนำภัยพิบัติ 3 ประเภทที่จะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือ ความร้อน ภัยแล้ง และน้ำท่วม ไปประเมินผลกระทบใน 6 ด้าน ได้แก่ ภาคการจัดการทรัพยากรน้ำ ภาคการท่องเที่ยว ภาคสาธารณสุข ภาคเกษตรและภาคความมั่นคงทางอาหาร ภาคทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และภาคการตั้งถิ่นฐานและความปลอดภัยของมนุษย์ โดยประเมินความเสี่ยงจากข้อมูล 4 ช่วงเวลาคือ พ.ศ. 2513-2548 2559-2578 2589-2608 และ 2624-2642 เพื่อประเมินความเสี่ยงระยะยาว
จากข้อมูลบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ปี 2561 ภาคพลังงาน เป็นกลุ่มที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุดถึง 69.06% ตามมาด้วยภาคเกษตรกรรม 15.69% ภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ 10.77% และภาคของเสีย 4.88% ซึ่งน้อยที่สุด
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พื้นที่ชายฝั่ง 23% เผชิญวิกฤตการถูกกัดเซาะ และสูญเสียพื้นที่จากการถูกกัดเซาะ 1-5 เมตรต่อปี ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 6,000 ล้านบาท
ภาวะโลกร้อนกระทบโดยตรงกับภาคเกษตรกรรม ความร้อนและปริมาณน้ำฝนที่ผันผวนทำให้ดินที่ใช้เพาะปลูกพืชมีความสมบูรณ์น้อยลง อีกทั้งน้ำไม่เพียงพอต่อการทำเกษตรกรรม ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย เช่น มันสำปะหลังเน่าเสียจากปริมาณน้ำฝนที่มากเกินไป อ้อยขาดน้ำจากหน้าแล้งยาวนานขึ้น
นอกจากนี้ ปศุสัตว์เองก็ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ การเติบโต และการเพาะพันธุ์ เช่น อากาศร้อนทำให้หมูเครียดและเจริญพันธุ์น้อยลง โดยคาดว่าระหว่างปี 2554-2588 ผลกระทบสะสมต่อภาคเกษตรสามารถสร้างความเสียหายรวมเป็นมูลค่ารวมสูง 17,912-83,826 ล้านบาทต่อปี
แม้ภาคเกษตรปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 15.69% ซึ่งเป็นอันดับที่ 3 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในประเทศไทย แต่กลับเป็นภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงและปรับตัวได้ยาก เนื่องจากการทำเกษตรกรรมขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมองในระดับท้องถิ่นจากแผนที่ความเสี่ยงของประเทศไทย ที่ประเมินความเสี่ยงต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากภัยธรรมชาติ 3 รูปแบบ ได้แก่ ความร้อน ภัยแล้ง และน้ำท่วม พบว่า ประเทศไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำในเชิงภูมิภาค เพราะจังหวัดที่ได้รับการจัดอันดับว่าเสี่ยงภัยความร้อนสูงสุด 7 จังหวัดล้วนอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งสิ้น ได้แก่ นครราชสีมา อุบลราชธานี บุรีรัมย์ ขอนแก่น ศรีสะเกษ สุรินทร์ และ ร้อยเอ็ด
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ นครราชสีมา เป็นจังหวัดที่เสี่ยงทั้งภัยร้อน ภัยแล้ง และน้ำท่วมมากที่สุดเป็นอันดับ 1