‘มาเลเซีย’ ผุดไอเดีย ส่ง ‘อุรังอุตัง’ สานสัมพันธ์ ประเทศคู่ค้า ‘น้ำมันปาล์ม’
“มาเลเซีย” เล็งมอบ “อุรังอุตัง” เป็นของขวัญแก่ประเทศคู่ค้า “น้ำมันปาล์ม” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ "การทูตของอุรังอุตัง" เพื่อบรรเทาความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อ “สิ่งแวดล้อม” และการตัดไม้ทำลายป่า
KEY
POINTS
- โยฮารี อับดุล กานี รัฐมนตรีกระทรวงสินค้าโภคภัณฑ์ เสนอกลยุทธ์ “การทูตอุรังอุตัง” มอบ “อุรังอุตัง” เป็นของขวัญแก่ประเทศคู่ค้า “น้ำมันปาล์ม” หลังจากสหภาพยุโรปออกกฎระเบียบการตัดไม้ทำลายป่า กำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันปาล์มต้องพิสูจน์ว่าผลิตภัณฑ์ของตนไม่มีความเชื่อมโยงกับการตัดไม้ทำลายป่า
- มาเลเซียและอินโดนีเซีย ถือเป็นแหล่งผลิตน้ำมันปาล์มใหญ่ของโลก คิดเป็น 85% ของการผลิตในโลก โดยอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของมาเลเซียมีมูลค่ามากกว่า 7,500 ล้านดอลลาร์
- “อุรังอุตัง” อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (critically endangered) โดยปัจจุบันมีอุรังอุตังเหลืออยู่ในป่าไม่ถึง 50,000 ตัว จำนวนของพวกมันลดลงอย่างมากในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ในแต่ละปีมีอุรังอุตังตายโดยเฉลี่ยราว 2,000-3,000 ตัว จากการสูญเสียที่อยู่อาศัย ตลอดจนการล่าสัตว์และการค้าสัตว์เลี้ยงอย่างผิดกฎหมาย
“มาเลเซีย” ผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ของโลก เปิดตัว “การทูตอุรังอุตัง” ส่งมอบลิงอุรังอุตังให้แก่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก หลังเกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ในประเทศต่าง ๆ ว่ามเลเซียตัดไม้ทำลายป่าไม้ซึ่งเป็นที่อยู่ของอุรังอุตัง เพื่อนำมาปลูกปาล์มน้ำมัน
โยฮารี อับดุล กานี รัฐมนตรีกระทรวงสินค้าโภคภัณฑ์ ได้เสนอแนวคิดดังกล่าว หลังจากสหภาพยุโรปออกกฎระเบียบการตัดไม้ทำลายป่า กำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันปาล์มให้กับสหภาพยุโรป ต้องพิสูจน์ว่าผลิตภัณฑ์ของตนไม่มีความเชื่อมโยงกับการตัดไม้ทำลายป่า และมีผลบังคับใช้ไปตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2023
“มันเป็นกลยุทธ์ทางการทูตและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เราจะมอบอุรังอุตังให้กับคู่ค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศผู้นำเข้าน้ำมันปาล์มรายใหญ่ เช่น สหภาพยุโรป อินเดีย และจีน” โยฮารี กล่าวขณะพูดในฟอรัมเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพที่จัดโดย มูลนิธิอนุรักษ์ปาล์มน้ำมันสีเขียวแห่งมาเลเซีย (MPOGCF)
“การทูตอุรังอุตัง” กลยุทธ์ใหม่ของมาเลเซีย
นอกจากนี้ เขากล่าวเสริมว่า มาเลเซียจำเป็นต้องแสดงให้ประเทศคู่ค้าเห็นว่า มาเลเซียเป็นผู้ผลิตปาล์มน้ำมันเพื่อความยั่งยืน และมุ่งมั่นที่จะปกป้องป่าไม้ รักษาความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม พร้อมเรียกร้องให้บริษัทน้ำมันปาล์มร่วมมือกับองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อช่วยอนุรักษ์และให้ความเชี่ยวชาญทางเทคนิคเกี่ยวกับสัตว์ป่าในมาเลเซีย
โยฮารีกล่าวว่ากลยุทธ์ส่งมอบอุรุงอุตังนี้ เปรียบได้กับ “การทูตแพนด้า” ของจีนที่ใช้หมีแพนด้าเป็นสัตว์ทูตสันถวไมตรี จีนจะให้ประเทศอื่น ๆ “ยืม” หมีแพนด้าชั่วระยะเวลาหนึ่ง เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพ ความปรารถนาดี และการทูต ซึ่งมาเลเซียเองก็ได้รับแพนด้า 2 ตัวจากจีน ชื่อซิงซิงและเหลียงเหลียงในปี 2014 โดยให้กำเนิดลูกแพนด้ามาแล้ว 3 ตัว
“นี่จะเป็นการแสดงให้เห็นว่ามาเลเซียมีวิธีอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าและรักษาความยั่งยืนของป่าไม้ของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน” โยฮารีกล่าว
เมื่อเร็ว ๆ นี้ โยฮารีได้เปลี่ยนชื่อคนงานในไร่เป็น “ผู้เชี่ยวชาญด้านการเก็บเกี่ยว” เพื่อดึงดูดคนในท้องถิ่นให้ทำงานเป็นเกษตรกร และลดการพึ่งพาแรงงานข้ามชาติในภาคการเพาะปลูกของประเทศ
มาเลเซียและอินโดนีเซีย ถือเป็นแหล่งผลิตน้ำมันปาล์มใหญ่ของโลก คิดเป็น 85% ของการผลิตในโลก โดยอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของมาเลเซียมีมูลค่ามากกว่า 7,500 ล้านดอลลาร์ จึงมีส่วนสำคัญต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพีของประเทศ โดย Sime Darby และ FGV 2 บริษัทผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่สองรายของมาเลเซีย มีรัฐบาลและหน่วยงานรัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มถือเป็นส่วนประกอบสำคัญในผลิตสินค้าหลากหลายชนิด ตั้งแต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและช็อกโกแลต ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลลิปสติกและแชมพู แต่ในปัจจุบันราคาน้ำมันปาล์มดิบลดลงมาเหลือประมาณ 822 ดอลลาร์ต่อตัน ลดลงจากระดับราคาในปี 2022 ที่พุ่งไปถึง 1,265 ดอลลาร์
อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายของสหภาพยุโรป โดยเรียกร้องให้สหภาพยุโรปรับรู้และชื่นชมความพยายามของประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์มในการปฏิบัติตามกฎระเบียบ โดยเน้นว่ามาเลเซียและอินโดนีเซียใช้มาตรการเชิงรุกเพื่อปฏิบัติตามกฎดังกล่าว
“ด้วยความปรารถนาที่จะดำเนินการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่อไป สหภาพยุโรปจำเป็นต้องคำนึงถึงปัญหาทั้งหมดของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่” อันวาร์กล่าว
“อุรังอุตัง” เสี่ยงสูญพันธุ์
องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ IUCN จัดให้ “อุรังอุตัง” อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (critically endangered) โดยปัจจุบันมีอุรังอุตังเหลืออยู่ในป่าไม่ถึง 50,000 ตัว
จำนวนของพวกมันลดลงอย่างมากในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF กล่าวว่า ในปี 1973 มีอุรังอุตังมากกว่า 288,000 ตัว ถัดมาในปี 2012 ลดลงเกินครึ่งหนึ่งเหลือเพียง 104,000 ตัว และหากการตัดไม้ทำลายป่ายังคงดำเนินต่อไป คาดว่าจำนวนประชากรจะลดลงเหลือ 47,000 ตัวภายในปี 2025
ปัจจุบันมาเลเซียมีป่าขนาด 124,000 ตารางกิโลเมตร กำลังถูกคุกคามจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยคาดว่ามาเลเซียได้สูญเสียพื้นที่ป่าเก่าแก่ของประเทศไปแล้ว 1 ใน 5 นับตั้งแต่ปี 2001 และจำนวนป่าไม้ยังคงลดลงเรื่อย ๆ
Orangutan Conservancy องค์กรที่อุทิศตนเพื่อการปกป้องอุรังอุตังระบุว่า ในแต่ละปีมีอุรังอุตังตายโดยเฉลี่ยราว 2,000-3,000 ตัว เนื่องจากสูญเสียที่อยู่อาศัยจากการตัดไม้ทำลายป่า และรุกล้ำพื้นที่ป่าเพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน ตลอดจนการล่าสัตว์และการค้าสัตว์เลี้ยงอย่างผิดกฎหมาย .
องค์กรสัตว์ป่าเรียกร้องให้รัฐบาลมาเลเซียพิจารณาวิธีอื่น เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการปกป้องสายพันธุ์ลิงอุรังอุตัง กลุ่มสิ่งแวดล้อม Justice for Wildlife Malaysia กล่าวว่า “เราเข้าใจว่าการทูตของอุรังอุตังเป็นหนึ่งในหลายทางวิธีปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปและมาเลเซีย แต่จำเป็นต้องทบทวนให้ดี เพราะแนวคิดเรื่องการทูตของอุรังอุตังจำเป็นต้องมีการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และกฎหมายมารองรับ”
พร้อมเน้นย้ำว่าการปกป้องป่าไม้ ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของอุรังอุตังเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดที่ต้องเร่งดำเนินการ และควรเอางบประมาณมาใช้อนุรักษ์ถิ่นที่อยู่อาศัยมากกว่าจะใช้ไปกับการทูตอุรังอุตัง
ที่มา: Economic Times, South China Morning Post, The Guardian