‘คอสตาริกา’ เจอฤทธิ์ ‘ภาวะโลกร้อน’ อาจไม่มีน้ำเพียงพอผลิตไฟฟ้า
“คอสตาริกา” ประเทศที่ผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนถึง 99% แต่ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” กำลังนำมาซึ่งความท้าทายครั้งใหญ่
“คอสตาริกา” ประเทศเล็ก ๆ ในอเมริกากลางสามารถผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนได้มากกว่า 99% มาเป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้ว โดยในปี 2558 ประเทศนี้ได้สร้างความฮือฮาด้วยการผลิตกระแสไฟฟ้าภายในประเทศด้วยพลังงานหมุนเวียน 100% นานติดต่อกัน 75 วันมาแล้ว แต่ถึงจะประสบความสำเร็จมากเพียงใด ระบบการผลิตไฟฟ้าของคอสตาริกาก็ยังไม่สมบูรณ์ และอาจจะมีความเสี่ยงหาก “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” รุนแรงมากขึ้น
“คอสตาริกา” ใช้พลังงานน้ำผลิตไฟฟ้า
คอสตาริกาเป็นประเทศที่มีขนาด 51,100 ตารางกิโลเมตร เล็กกว่าภาคเหนือของประเทศไทยเกือบเท่าตัว อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติทั้งแม่น้ำ ป่า และภูเขาไฟ ในปี 2559 คอสตาริกาเปิดตัวเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำเรเวนตาซอน ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 73% ของประเทศ นับเป็นโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกากลางรองจากคลองปานามา
เนื่องด้วยคอสตาริกาอยู่ในบริเวณที่มีฝนตกหนัก จึงมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้าตลอดทั้งปี นอกจากนี้ยังสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานลมและแสงอาทิตย์ได้อีกด้วย อีกทั้งในประเทศมีประชากรเพียง 5.1 ล้านคน และไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในประเทศ ปัจจัยเหล่านี้จึงทำให้คอสตาริกาสามารถผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนได้ โดยมีศักยภาพรองรับความต้องการของคนในประเทศ พร้อมด้วยการวางแผนใช้ระบบดึงพลังงานทดแทนมาใช้ให้เหมาะสม
“ความลับของความสำเร็จนี้ส่วนใหญ่อยู่ที่การวางแผน” เคนเนธ โลโบ เมนเดซ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและความยั่งยืนในการจัดการไฟฟ้ากล่าวกับ The Verge
ในฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนมิ.ย.-ธ.ค. คอสตาริกาจะไม่ค่อยมีกระแสลม แต่มีกระแสน้ำแรง ทำให้เน้นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำเป็นหลัก ขณะที่ฤดูร้อน ช่วงเดือนธ.ค.-พ.ค. จะมีกระแสน้ำน้อยกว่า แต่ก็ยังมีแหล่งพลังงานอื่น ๆ โดยเฉพาะพลังงานลม มาช่วยเสริมการผลิตไฟฟ้าได้
นอกจากนี้ การมีบริษัทพลังงานเพียงแห่งเดียวในประเทศ แถมมีรัฐเป็นเจ้าของแทนที่จะมีบริษัทสาธารณูปโภคไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็กหลายแห่ง ยังช่วยลดความซับซ้อนของกระบวนการวางแผนอีกด้วย ในปี 1949 รัฐบาลได้จัดตั้ง Instituto Costarricense de Electricidad หรือ ICE การไฟฟ้าแห่งคอสตาริกาเพื่อทำหน้าที่วางแผนผลิตไฟฟ้าสำหรับการใช้ในประเทศจากแหล่งทรัพยากรในประเทศ และไม่ให้เกิดการแทรกแซงจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ
ในหลายประเทศมีการคัดค้านการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ เนื่องจากเขื่อนดังกล่าวทำลายระบบนิเวศของแม่น้ำและทำให้ผู้คนต้องพลัดถิ่นจากบ้านเรือน แต่สำหรับในคอสตาริกาไม่เกิดปัญหานี้มากนัก โดยโลโบ เมนเดซเล่าว่า ทุกครั้งที่จะมีการวางแผนสร้างเขื่อนจำเป็นจะต้องให้ความสำคัญกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและความเห็นทางสังคม
“เราจะสอบถามความเห็นชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดตั้งแต่เริ่มโครงการ เรารู้ว่าบางทีการทำแบบนี้อาจจเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่ก็คุ้มค่ากับลดโอกาสเกิดความเสี่ยงต่าง ๆ และเราสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมได้”
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้คอสตาริกาจะสามารถผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังหมุนเวียนได้ แต่ความต้องการน้ำมันภายในประเทศยังคงเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากจำนวนประชากร จำนวนรถยนต์ และการบริการขนส่งที่เติบโตขึ้น จากข้อมูลขององค์การพลังงานระหว่างประเทศหรือ IEA ระบุว่า 50% ของแหล่งพลังงานทั้งหมดที่ใช้ในคอสตาริกาเมื่อปี 2022 คือ น้ำมันและพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล
“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” คุกคาม “พลังงานหมุนเวียน”
“ปรากฏการณ์เอลนีโญ” ส่งผลให้คอสตาริกามีอุณหภูมิสูงขึ้น และมีปริมาณน้ำฝนในปี 2023 ลดลง จนทำให้น้ำไหลเข้าเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำลดลง 16% ตามข้อมูลของโลโบ เมนเดซ สวนทางกับความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้คนใช้เครื่องปรับอากาศเพื่อคลายร้อน ทำให้ ICE เป็นกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำในอนาคต
โลโบ เมนเดซ กล่าวว่าภายในปี 2030 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้ตอนเหนือของประเทศจะมีปริมาณน้ำฝนลดลง ซึ่งจะกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำโดยตรง เพราะโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในภาคเหนือ ปรกติแล้วในช่วงฤดูฝน ปริมาณน้ำในอ่างจะต้องกลับมาปรกติ แต่ในปี 2023 ปริมาณน้ำกลับอยู่ในระดับ “ต่ำมาก” ต่างจากทางตะวันตกและตอนใต้ของประเทศที่จะมีฝนตกหนัก แต่ฝนเหล่านั้นตกนอกอ่างเก็บน้ำ และยังไม่มีวิธีที่จะผันน้ำเหล่านั้นเข้ามาสู่ระบบได้
เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับการผลิตไฟฟ้าในหน้าร้อน ICE จึงมีการวางแผนระบบการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยไม่พึ่งพาแต่ “น้ำ” เท่านั้น แม้ว่าไฟฟ้าพลังน้ำจะเป็นกำลังการผลิตหลักของประเทศ แต่ก็ต้องมีแหล่งพลังงานสำรอง เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ลม รวมไปถึง ความร้อนใต้พิภพ แหล่งพลังงานหมุนเวียนเพียงแห่งเดียวที่ไม่ได้รับผลกระทบจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ
อย่างไรก็ตาม โลโบ เมนเดซ กล่าวว่า คอสตาริกามีโรงงานไฟฟ้าดีเซลไว้ใช้เป็นพลังงานสำรอง ในกรณีที่ไม่สามารถใช้น้ำผลิตไฟฟ้าได้ และหากมีมีความจำเป็น อาจจะต้องซื้อพลังงานไฟฟ้าจากประเทศอื่นในภูมิภาคด้วย แต่ประเทศอื่น ๆ ก็ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยเช่นกัน จึงอาจจะช่วยได้ไม่มากนัก
ที่มา: The Verge, The Week