เปิดสาเหตุไฟไหม้แผง 'โซลาร์' แบบไหนปลอดภัย-ใช้งานได้ทน
เปิดสาเหตุไฟไหม้แผงโซลาร์เซลล์ แบบไหนปลอดภัย และสามารถใช้งานได้ทนทาน “พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล” รมว.อุตสาหกรรม ห่วงใยประชาชน เตือนเลือกซื้อแผงโซล่าเซลล์ที่ไม่มีมาตรฐาน "มอก." เสี่ยงเกิดไฟไหม้
ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้ โดยเฉพาะช่วงหลังโควิด-19 ที่ผ่านมา หลายบริษัทยังคงหลักการการทำงานที่บ้านอยู่ เมื่อรวมกับในช่วงนี้ที่ค่าไฟแพงขึ้น การติดตั้งโซลาร์เซลล์จึงได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากราคาที่ถูกลงด้วยเช่นกัน
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการส่งเสริมการผลิตและใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ โดยที่ผ่านมามีการสนับสนุนภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนติดตั้ง Solar Rooftop ซึ่งนอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแล้วยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ถือเป็นหนึ่งในแผนงานสำคัญของรัฐบาลในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานในระยะยาวของประเทศ ซึ่งมีสถานประกอบการและประชาชนให้ความสนใจติดตั้งแผงโซล่าเซลล์เพื่อช่วยประหยัดค่าไฟฟ้ามากขึ้น
แต่เนื่องจากแผงโซล่าเซลล์มีหน้าที่ผลิตกระแสไฟฟ้าจ่ายให้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน หากนำแผงโซล่าเซลล์ที่ไม่มีมาตรฐาน และไม่ได้ติดตั้งตามมาตรฐานจากผู้เชี่ยวชาญ อาจจะเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้แผงโซล่าเซลล์ตามที่มีการแชร์คลิปในโลกออนไลน์อยู่ในขณะนี้ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ดิฉันจึงได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลมาตรฐานของสินค้า ให้เร่งชี้แจงทำความเข้าใจและให้ความรู้กับประชาชนในการเลือกใช้แผงโซล่าเซลล์ที่ได้มาตรฐาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำขึ้นอีก
นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุการเกิดไฟไหม้แผงโซล่าเซลล์นั้นมีหลายสาเหตุ แต่สาเหตุหลักคือ กระแสไฟฟ้าไหลได้ไม่สะดวก เนื่องจากมีการต่อแผงเข้าด้วยกันหลาย ๆ แผง หากแผงใดเกิดมีปัญหา จะทำให้แรงดันไฟฟ้าจากหลายๆ ที่ไหลไปรวมตัวกันที่แผงดังกล่าว
จนทำให้เกิดความร้อนสะสม เมื่อความร้อนเกินกว่าศักยภาพที่แผงโซล่าเซลล์นั้นจะรับได้ก็จะเกิดกระแสไฟลุกไหม้ตัวแผงนั้นขึ้นมา จนลุกลามกระจายไปยังแผงอื่น ๆ ดังนั้นแนวทางที่ปลอดภัยที่สุด คือ ควรเลือกใช้แผงโซล่าเซลล์ที่ได้มาตรฐานมี มอก. รับรอง เพราะผ่านการทดสอบการทนความร้อน การลุกไหม้ และการลามไฟมาแล้ว
อย่างไรก็ตาม สมอ. มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์แผงโซล่าเซลล์ ซึ่งเป็นมาตรฐานภาคสมัครใจ จำนวน 2 มาตรฐาน ได้แก่ มอก. 61215 เล่ม 1 (1) – 2561 เป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่แสดงประสิทธิภาพและความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้าของแผงโซล่าเซลล์ และ มอก. 2580 เล่ม 2-2562 เป็นมาตรฐานด้านความปลอดภัย
ซึ่งมีข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการทนความร้อน การตัดไฟ การใช้งานในอุณหภูมิสูง การป้องกันไฟรั่ว การลามไฟ และมีระบบป้องกันไม่ให้เกิดความร้อน จนเกิดการลุกไหม้ในจุดที่ถูกบดบังการรับแสง ไม่ว่าจะเกิดจากเงาเมฆ มีใบไม้มาบัง หรือแผงเกิดความสกปรก แผงโซล่าเซลล์นั้นก็จะยังคงสามารถทำงานได้ตามปกติ เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าแผงโซล่าเซลล์ที่มีมาตรฐาน จะมีความปลอดภัยขั้นพื้นฐานและป้องกันอันตรายจากไฟไหม้ได้
“ปัจจุบัน มีผู้ผลิตภายในประเทศที่ได้รับใบอนุญาต มอก. 61215 เล่ม 1 (1) – 2561 และ มอก. 2580 เล่ม 2-2562 จาก สมอ. แล้ว จำนวน 7 ราย ได้แก่ 1. บริษัท เทลซัน เทคโนโลยี (ไทยแลนด์) จำกัด 2. บริษัท ฟูโซล่าร์ จำกัด 3. บริษัท โซล่าเพาเวอร์ เทคโนโลยี จำกัด 4. บริษัท โซลาร์ พีพีเอ็ม จำกัด 5. บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) 6.บริษัท รันเนอร์จี พีวี เทคโนโลยี (ไทยแลนด์) จำกัด และ 7. บริษัท เอกรัฐวิศวกรรม จำกัด (มหาชน) จึงขอฝากถึงประชาชนให้เลือกซื้อแผงโซล่าเซลล์ที่ได้มาตรฐาน มอก. และมีเครื่องหมายรับรอง เพื่อความปลอดภัย