เปิดภาพ 'ปะการังฟอกขาว' 10 วันตายด่วน พังพินาศย่อยยับ โลกร้อน 'ทะเลเดือด'
ดร.ธรณ์ เปิดภาพ "ปะการังฟอกขาว" เกาะลันตา จ.กระบี่ 10 วันตายด่วน มินิซีรีส์สุดเศร้า พังพินาศย่อยยับ ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน "ยุคทะเลเดือด" อุณหภูมิน้ำทะเลพุ่งสูง ทำลายระบบนิเวศ ความหลากหลายที่สุดบนโลก สัตว์เล็กสัตว์น้อยไร้ที่อยู่อาศัย ย้ำคำตอบชัดเจน ทำไมต้องลดโลกร้อน?
ไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้าม! ดร.ธรณ์ เปิดภาพ "ปะการังฟอกขาว" บนเกาะลันตา จ.กระบี่ 10 วันตายด่วน มินิซีรีส์สุดเศร้า พังพินาศย่อยยับ ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน "ยุคทะเลเดือด" อุณหภูมิน้ำทะเลพุ่งสูง ทำลายระบบนิเวศสวยงามและความหลากหลายที่สุดบนโลกใบนี้ สัตว์เล็กสัตว์น้อยไร้ที่อยู่อาศัย ย้ำคำตอบปรากฏชัดเจนตรงหน้า ทำไมต้องลดโลกร้อน? ขึ้นกับว่าเราจะมองไหม?
โดย ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ระบุว่า นี่คือมินิซีรี่ย์ #10DaysLater นำเสนอความเป็นไปของปะการังน้อยในยุคทะเลเดือด
เป็นซีรี่ย์แสนสั้นและแสนเศร้า ปะการังน้อยที่เพื่อนธรณ์ส่งภาพมาจากเกาะลันตา ผมโพสต์ในวันที่ 2 พฤษภา เพื่อบอกถึงความเร็วของการฟอกขาวในยุคนี้
จากปะการังปกติ เพียงแค่ 2 วัน สีซีดเห็นชัด เพื่อนธรณ์มาร่วมลุ้นให้เธอรอด กดไลค์เกือบครึ่งหมื่น สู้ๆ นะ ปะการังน้อย
10 วันนับจาก Day 0 เพื่อนธรณ์ส่งภาพมาอีกครั้ง เธอตายแล้ว
ซีรี่ย์จบ ไม่ต้องสู้ๆ นะ ไม่ต้องลุ้นอะไรอีก เธอตาย สาหร่ายขึ้นคลุม ไม่มีโอกาสฟื้น
10 วัน ! ทะเลเดือดใช้เวลาเพียงเท่านั้น ในการฆ่าปะการังน้อยกิ่งนี้ ไม่มีปะการังเขากวางต้นใหญ่ เป็นที่อาศัยของสัตว์ตัวเล็กตัวน้อย ไม่มีไข่ไม่มีลูกหลานปะการังเกิดเพื่อเติบโตและคงอยู่เป็นสิบๆ ปี สร้างระบบนิเวศสวยงามและหลากหลายที่สุดบนโลกใบนี้
ทุกอย่างจบใน 10 วัน จบสิ้น…บริบูรณ์ พินาศ…ย่อยยับ
ทำไมต้องลดโลกร้อน ? คำตอบปรากฏชัดเจนตรงหน้า ขึ้นกับว่า เราจะมองไหม ?
ขอบคุณ-คุณฝรั่งเพื่อนธรณ์จากเกาะลันตา สำหรับภาพสะเทือนใจชุดนี้ Thank You"
ปะการังสำคัญต่อท้องทะเลอย่างไร?
ปะการังเป็นสัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลัง มีสารประกอบหินปูนเป็นโครงร่างแข็ง แนวปะการังคือผืนป่าในมหาสมุทร เป็นที่เกิด ที่อยู่อาศัย และที่พักพิงให้สัตว์ทะเลราว 25% ถ้าไม่มีแนวปะการัง ปลาและสัตว์ทะเลจำนวนมากไม่สามารถอยู่รอดได้
ความสำคัญอีกอย่างคือ แนวปะการัง หรือ ป่าฝนแห่งท้องทะเล ช่วยดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากชั้นบรรยากาศ ทำหน้าที่เหมือนต้นไม้ในผืนป่า และเป็นแหล่งกำเนิดของหญ้าทะเลและป่าชายเลน
เมื่อถึงหน้าร้อน อากาศร้อนส่งผลให้น้ำทะเลร้อนขึ้น เมื่อทะเลร้อนเกินไป สาหร่ายซูแซนเทลลี ที่อาศัยอยู่กับปะการังจะอพยพออกจากปะการัง ทำให้ปะการังสูญเสียแหล่งอาหารหลัก เหลือเพียงโครงสร้างหินปูนสีซีด จากนั้นอีก 2-3 เดือน ถ้าสาหร่ายไม่กลับมา ปะการังก็จะตาย
ทุกคนบนโลกช่วยได้ลดความเสี่ยงปะการังฟอกขาว
- ลดขยะทุกวิถีทาง ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ศึกษาชายหาดและฝั่งทะเล สนับสนุนเกษตรอินทรีย์ อย่ากินฉลาม / ปลานกแก้ว / สัตว์หายาก
- ระวังอย่าแตะเหยียบโดนปะการังและสัตว์น้ำอื่น ๆ เลิกให้อาหารปลา
- สนับสนุนผู้ประกอบการที่รู้คุณค่าธรรมชาติ ปลูกต้นไม้น้อยรักษาไม้ใหญ่ เที่ยวอย่างรับผิดชอบ ใช้ครีมกันแดดชนิดที่ไม่ทำร้ายปะการัง
- สนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ / อาสาสมัคร / ปฏิบัติตามกฎระเบียบของพื้นที่
10 วิธีแก้วิกฤตโลกร้อนด้วยตัวเรา
สหประชาชาติ ประเทศไทย ได้แนะนำ 10 วิธีแก้วิกฤตโลกร้อนด้วยตัวเรา ดังนี้
1.) ประหยัดพลังงานที่บ้าน
- การผลิตไฟฟ้าและความร้อนส่วนใหญ่ใช้พลังงานจากถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ เราสามารถใช้พลังงานให้น้อยลงได้โดยการปรับระดับการทำความร้อนและความเย็นให้ต่ำลง เปลี่ยนมาใช้หลอดไฟ LED และเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน ซักผ้าด้วยน้ำเย็น หรือตากผ้าแทนการใช้เครื่องอบผ้า
2.) เดิน ปั่นจักรยาน หรือใช้ระบบขนส่งสาธารณะ
- ถนนทั่วโลกแน่นขนัดไปด้วยยานพาหนะซึ่งส่วนใหญ่ใช้น้ำมันดีเซลหรือเบนซินเป็นเชื้อเพลิง การเดินหรือขี่จักรยานแทนการขับรถจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งยังช่วยเสริมสร้างสุขภาพและความแข็งแรงอีกด้วย หากคุณต้องเดินทางไกล ลองเปลี่ยนมาโดยสารรถไฟหรือรถประจำทาง และติดรถไปกับผู้อื่นเมื่อทำได้
3.) รับประทานผักให้มากขึ้น
- แค่รับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด พืชตระกูลถั่ว และเมล็ดพืชมากขึ้น และลดเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมให้น้อยลง คุณก็สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมาก โดยทั่วไปกระบวนการผลิตอาหารที่มาจากพืชจะสร้างก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า อีกทั้งยังใช้พลังงาน ที่ดิน และน้ำน้อยกว่า
4.) เลือกวิธีเดินทาง
- เครื่องบินใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างมหาศาล และปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก การนั่งเครื่องบินให้น้อยลงจึงเป็นหนึ่งในวิธีที่เร็วที่สุดในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หากทำได้ ให้คุณนัดพบกันในทางออนไลน์ ขึ้นรถไฟ หรือยกเลิกการเดินทางระยะไกลนั้นไปเลย
5.) รับประทานอาหารให้หมด
- ทุกครั้งที่คุณทิ้งอาหาร คุณกำลังทิ้งทรัพยากรและพลังงานที่ใช้ในการเพาะปลูก/เลี้ยง ผลิต บรรจุ และขนส่งอาหารนั้น ๆ และอาหารที่บูดเน่าอยู่ในบ่อขยะก็จะปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่รุนแรงมาก ดังนั้น รับประทานอาหารที่คุณซื้อมาให้หมดและส่วนที่เหลือให้หมักทำปุ๋ย
6.) ลด ใช้ซ้ำ ซ่อมแซม และรีไซเคิล
- อุปกรณ์ไฟฟ้า เสื้อผ้า และสินค้าอื่น ๆ ที่เราซื้อล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ณ จุดใดจุดหนึ่งของการผลิต ตั้งแต่การหาวัตถุดิบ ไปจนถึงการผลิต และการขนส่งสินค้าสู่ตลาด คุณสามารถช่วยรักษาสภาพอากาศของเราด้วยการซื้อของให้น้อยลง ซื้อของมือสอง ซ่อมหากซ่อมได้ และรีไซเคิล
7.) เปลี่ยนแหล่งพลังงานในบ้าน
- สอบถามบริษัทสาธารณูปโภคของคุณว่าพลังงานที่คุณใช้ในบ้านนั้นผลิตมาจากน้ำมัน ถ่านหิน หรือก๊าซหรือไม่ ถ้าเป็นไปได้ ให้ลองเปลี่ยนไปใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น ลมหรือพลังงานแสงอาทิตย์ หรือติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาเพื่อผลิตพลังงานให้บ้านของคุณ
8.) เปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า
- หากคุณวางแผนที่จะซื้อรถยนต์ ลองเลือกดูรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งตอนนี้มีหลายรุ่นและราคาถูกลง แม้ว่าไฟฟ้าที่ใช้จะยังผลิตมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่ แต่รถยนต์ไฟฟ้าก็ช่วยลดมลพิษทางอากาศและปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่ารถยนต์ที่ใช้แก๊สหรือดีเซลอย่างมีนัยสำคัญ
9.) เลือกผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- ทุกการใช้จ่ายของเราส่งผลกระทบต่อโลกทั้งสิ้น คุณมีอำนาจว่าจะเลือกสนับสนุนสินค้าและบริการใดเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ให้คุณซื้ออาหารตามฤดูกาลที่ผลิตในท้องถิ่น เลือกผลิตภัณฑ์จากบริษัทที่ใช้ทรัพยากรอย่างมีความรับผิดชอบและมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและของเสีย
10.) เป็นกระบอกเสียง
- เปล่งเสียงของคุณและชักชวนผู้อื่นให้ร่วมลงมือด้วยกัน นี่เป็นหนึ่งในวิธีที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพที่สุดในการสร้างการเปลี่ยนแปลง ชักชวนเพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน เพื่อน และครอบครัวของคุณ บอกให้ธุรกิจต่าง ๆ รู้ว่าคุณต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงที่กล้าหาญและชัดเจน ตลอดจนเรียกร้องให้ผู้นำท้องถิ่นและระดับโลกดำเนินการในทันที
อ้างอิง-ภาพ : Thon Thamrongnawasawat , สหประชาชาติ ประเทศไทย