IOTC เปิดเวทีให้ 29 ประเทศ ถก ร่วมใช้ทรัพยากรทูน่าอย่างยั่งยืน

IOTC เปิดเวทีให้ 29 ประเทศ ถก ร่วมใช้ทรัพยากรทูน่าอย่างยั่งยืน

ประเทศไทย โดยกรมประมง เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมาธิการประจำปี ครั้งที่ 28 และการประชุม ที่เกี่ยวข้อง ภายใต้กรอบคณะกรรมาธิการปลาทูน่าแห่งมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Tuna Commission : IOTC) ระหว่างวันที่ 5-17 พฤษภาคม 2567 ณ โรงแรมสวิสโซเทล รัชดา กรุงเทพฯ

IOTC  เปิดเวทีส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือให้ภาคีสมาชิก 29 ประเทศ ให้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และป้องกันแหล่งทรัพยากรทูน่าและชนิดพันธุ์คล้ายปลาทูน่า ให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสมต่อการทำการประมงตามหลักสากล พร้อมทบทวนมาตรการอนุรักษ์และการบริหารจัดการ ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพในการรายงานผลการดำเนินงาน เพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรทูน่าและชนิดพันธุ์คล้ายปลาทูน่าอย่างยั่งยืนและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป

IOTC เปิดเวทีให้ 29 ประเทศ ถก ร่วมใช้ทรัพยากรทูน่าอย่างยั่งยืน

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยในการเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมคณะกรรมาธิการประจำปี ครั้งที่ 28 ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2567 ณ โรงแรมสวิสโซเทล รัชดา กรุงเทพฯ  ว่า ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญในการให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามมาตรการอนุรักษ์และบริหารจัดการปลาทูน่าในมหาสมุทรอินเดีย เพื่อให้เป็นไปตามที่ให้สัตยาบันและพันธกรณี และการประชุมครั้งนี้ ประเทศภาคีสมาชิก IOTC จะได้ร่วมกันพิจารณาผลการปฏิบัติตามมาตรการของประเทศภาคีสมาชิก และประเด็นอื่น ๆ อาทิ

IOTC เปิดเวทีให้ 29 ประเทศ ถก ร่วมใช้ทรัพยากรทูน่าอย่างยั่งยืน

รายชื่อเรือประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) ของ IOTC รายละเอียดงบประมาณในการดำเนินงานของปีถัดไป รายละเอียดการเก็บค่าธรรมเนียมภาคีสมาชิก รวมถึงการประเมินทรัพยากรปลาทูน่าในพื้นที่ IOTC และข้อมติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรประมงปลาทูน่าและชนิดพันธุ์คล้ายปลาทูน่าในพื้นที่ IOTC เป็นต้น

 

ทั้งนี้คณะกรรมาธิการปลาทูน่าแห่งมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Tuna Commission; IOTC) จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2539 ภายใต้มาตราที่ 14 แห่งธรรมนูญขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ตามความตกลงการจัดตั้ง ซึ่งได้รับการรับรองในการจัดตั้งจากสภามนตรี FAO (FAO Council) โดยประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก IOTC เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2540 การเป็นภาคีสมาชิกดังกล่าว ทำให้ประเทศไทยมีข้อผูกพันในการปฏิบัติตามความตกลง IOTC (IOTC Agreement) กฎการดำเนินงาน (Rule of Procedures) และมาตรการอนุรักษ์และบริหารจัดการ (Conservation and Management Measures; CMM)

รวมถึงมีส่วนร่วมในการพิจารณาการดำเนินการต่าง ๆ ภายใต้การบริหารจัดการของ IOTC ปัจจุบันมีประเทศเข้าร่วมเป็นประเทศภาคีสมาชิก IOTC จำนวน 29 ประเทศ (Contracting Parties; CPs) ประกอบด้วย ประเทศ เครือรัฐออสเตรเลีย สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีน สหภาพคอโมโรส สหภาพยุโรป สาธารณรัฐฝรั่งเศส สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ประเทศญี่ปุ่น

สาธารณรัฐเคนยา สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐมาดากัสการ์ สหพันธรัฐมาเลเซีย สาธารณรัฐมัลดีฟส์ สาธารณรัฐมอริเชียส สาธารณรัฐโมซัมบิก รัฐสุลต่านโอมาน สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐเซเชลส์ สหพันธ์สาธารณรัฐโซมาเลีย สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา สาธารณรัฐซูดาน สหสาธารณรัฐแทนซาเนีย สหราชอาณาจักร สาธารณรัฐเยเมน และประเทศไทย

IOTC เปิดเวทีให้ 29 ประเทศ ถก ร่วมใช้ทรัพยากรทูน่าอย่างยั่งยืน

และยังมีประเทศที่ให้ความร่วมมือแต่ไม่ได้เป็นสมาชิก (Cooperating non - Contracting Party; CNCP) คือ สาธารณรัฐไลบีเรีย และผู้ที่ได้รับเชิญในฐานะผู้เชี่ยวชาญ (Invited expert) คือ ไต้หวัน

ประเทศที่เป็นภาคีสมาชิก IOTC มีภารกิจหลักในการจัดการทรัพยากรปลาทูน่าและชนิดพันธุ์คล้ายปลาทูน่า (Tuna like species) รวม 16 ชนิด ในมหาสมุทรอินเดียและทะเลใกล้เคียง ได้แก่ ปลาทูน่าครีบเหลือง ปลาทูน่าท้องแถบ ปลาทูน่าตาโต ปลาทูน่าครีบยาว ปลาทูน่าครีบน้ำเงินใต้ ปลาโอดำ ปลาโอลาย ปลาโอแกลบ ปลาโอหลอด ปลาอินทรีบั้ง ปลาอินทรีจุด ปลากระโทงแทงน้ำเงิน ปลากระโทงแทงดำ ปลากระโทงแทงลาย ปลากระโทงแทงร่ม และปลากระโทงแทงดาบ

รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสมาชิกในการจัดการอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์จากพันธุ์ปลาเหล่านี้อย่างเหมาะสม ซึ่งภารกิจดังกล่าวจะสอดคล้องกับหลักการ ในบทบัญญัติของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ในการศึกษาสภาวะและแนวโน้มของประชากรปลาทูน่า เพื่อนำมาใช้ในการออกมาตรการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากร ซึ่งการประชุมคณะกรรมาธิการ ครั้งที่ 28 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ในครั้งนี้ ประกอบด้วยการประชุมรวมทั้งสิ้น 6 รายการ ระหว่างวันที่ 5-17 พฤษภาคม 2567 ดังนี้

1. การประชุมคณะกรรมการปฏิบัติตาม ครั้งที่ 21 (the 21st Session of the Compliance Committee; CoC21) ระหว่างวันที่ 5-7 พฤษภาคม 2567

2. การประชุมคณะกรรมการด้านการบริหารและการเงิน ครั้งที่ 21 (the 21st Session of the Standing Committee on Administration and Finance; SCAF21) วันที่ 8 พฤษภาคม 2567

3. การประชุมรับรองรายงานการประชุม CoC21 และ SCAF21 วันที่ 9 พฤษภาคม 2567

4. การประชุมคณะกรรมการด้านเทคนิคขั้นตอนการจัดการ ครั้งที่ 8 (the 8th Session of the Technical Committee on Management Procedures; TCMP08) ระหว่างวันที่ 10-11 พฤษภาคม 2567

5. การประชุมหัวหน้าคณะผู้แทน (Head of Delegation Meeting) วันที่ 12 พฤษภาคม 2567

6. การประชุมคณะกรรมาธิการปลาทูน่าแห่งมหาสมุทรอินเดีย ครั้งที่ 28 (the 28th Session of the Indian Ocean Tuna Commission; S28) ระหว่างวันที่ 13-17 พฤษภาคม 2567

IOTC เปิดเวทีให้ 29 ประเทศ ถก ร่วมใช้ทรัพยากรทูน่าอย่างยั่งยืน

“ประเทศไทยในฐานะภาคีสมาชิก IOTC และเจ้าภาพการจัดการประชุมคณะกรรมาธิการประจำปี ครั้งที่ 28 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ภายใต้กรอบ IOTC จะให้การสนับสนุนเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ และป้องกันแหล่งทรัพยากรทูน่าและชนิดพันธุ์คล้ายปลาทูน่าให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสมตามหลักสากล และมุ่งมั่นให้การประชุมบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามที่ตั้งไว้ เพื่อนำผลสัมฤทธิ์ที่ได้จากการประชุมไปสู่การบริหารจัดการให้มีการใช้ทรัพยากรทูน่าและชนิดพันธุ์คล้ายปลาทูน่าอย่างยั่งยืนและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป” อธิบดีกรมประมงกล่าว