Thailand’s Food Bank ลดขยะ - ช่วยเปราะบางเข้าถึงอาหาร
Thailand’s Food Bank แก้ปัญหาอาหารส่วนเกินกว่า 4 ล้านตันต่อปี ส่งต่ออาหารส่วนเกินไปยังกลุ่มเปราะบาง ลดการเกิดขยะอาหาร และสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศ
KEY
POINTS
- อาหารส่วนเกิน คือ อาหารปลอดภัยต่อการรับประทานและมีคุณภาพ แต่ต้องถูกกำจัดและทิ้งเป็นขยะอาหารอย่างน่าเสียดาย
- การมี Thailand’s Food Bank จะช่วยแก้ปัญหาอาหารส่วนเกินที่มีมากถึงเกือบ 4 ล้านตันต่อปี และยังสามารถส่งต่ออาหารส่วนเกินไปยังกลุ่มเปราะบาง ลดการเกิดขยะอาหาร และสร้างความมั่นคงทางอาหาร
- ปัจจุบัน มีแพลตฟอร์มจับคู่ความต้องการและอาหารบริจาคแบบอัตโนมัติของ สวทช. แพลตฟอร์ม Cloud Food Bank (CFB) เชื่อมผู้ที่ต้องการบริจาคอาหาร และกลุ่มคนที่ขาดแคลน และ โครงการ BKK Food Bank ของ กทม. ที่ผู้บริจาคสามารถส่งต่ออาหารไปยังกลุ่มเปราะบางได้ทั่วถึง
อาหารส่วนเกิน คือ อาหารปลอดภัยต่อการรับประทานและมีคุณภาพ แต่ต้องถูกกำจัดและทิ้งเป็นขยะอาหารอย่างน่าเสียดายด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น รูปร่างไม่สวย สีไม่สด เกินจำหน่ายขายไม่หมด มีของใหม่กว่าจำเป็นต้องทิ้งของเก่า หรือใกล้หมดอายุก็จำเป็นต้องถูกทิ้งกลายเป็นขยะมูลฝอยในหลุมฝังกลบ สร้างมลพิษให้แก่โลก
การมี ธนาคารอาหารของประเทศไทย (Thailand’s Food Bank ) จะช่วยแก้ปัญหาอาหารส่วนเกินที่มีมากถึงเกือบ 4 ล้านตันต่อปี และยังสามารถส่งต่ออาหารส่วนเกินไปยังกลุ่มเปราะบาง ลดการเกิดขยะอาหาร และสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศไปด้วยกัน ลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดอาหารส่วนเกิน ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอาหารได้อีกด้วย และเป็นต้นแบบของการสร้างแบบจำลองการส่งต่ออาหารส่วนเกินให้สังคมไทย
โดยเมื่อวันที่ 15 พ.ค. สวทช. ร่วมกับ มูลนิธิ SOS หน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมกันเปิดตัว “โครงการจัดตั้งธนาคารอาหารของประเทศไทย (Thailand’s Food Bank): การบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน คำตอบในการสร้างความมั่นคงทางอาหารและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ที่ โรงเรียนคลองทรงกระเทียม เขตลาดพร้าว กทม.โดยการสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก.เพื่อสร้างต้นแบบระบบการบริหารจัดการอาหาร ส่งต่ออาหารส่วนเกินไปยังกลุ่มเปราะบางของสังคมไทยลดปริมาณขยะอาหารด้วยการจัดการอาหารส่วนเกิน ลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดอาหารส่วนเกิน และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอาหาร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 'ขยะอาหาร' ตัวการ 'ภาวะโลกร้อน' ที่หลายคนมองข้าม
- 'บุฟเฟ่ต์'หนึ่งตัวการขยะอาหาร
- Food waste : จัดการอย่างไม่เข้าใจ ปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้ไข
บริหารจัดการอาหารส่วนเกิน
“ปัทมาพร ประชุมรัตน์” นักวิจัยนโยบาย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) อธิบายว่าปัจจุบันมีการนำแพลตฟอร์มแนะนำการจับคู่ความต้องการและอาหารบริจาคแบบอัตโนมัติของสวทช. มาใช้งานร่วมกับแพลตฟอร์ม Cloud Food Bank (CFB) เป็น Platform ที่จะเชื่อมผู้ที่ต้องการบริจาคอาหาร และกลุ่มคน ที่ขาดแคลนอาหารมาเจอกัน
โดยมีมูลนิธิเอสโอเอส (SOS Thailand) เป็นตัวกลางในการจัดสรรการรับและการส่งต่อ อาหารอย่างเป็นระบบ โดยผู้บริจาคและผู้รับบริจาค ต้องลงทะเบียนผ่านระบบ เพื่อให้มูลนิธิสามารถตรวจสอบและ ติดต่อประสานงานได้ ทั้งนี้มูลนิธิ SOS ดำเนินงามาตั้งแต่ปี 2559 ได้เก็บอาหารส่วนเกิน ส่งต่ออาหารบริจาคและปรุงอาหารชุมชนเพื่อกลุ่มเปราะบางในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ หัวหิน และ ภูเก็ต
ซึ่งผู้บริจาคอาหารต้องปฏิบัติตามแนวปฏิบัติอาหารปลอดภัยสำหรับอาหารบริจาค (Food Safety Guideline) สำหรับการบริจาคอาหารทั่วประเทศ สนับสนุนนโยบาย BCG ด้านอาหารของรัฐบาล ที่ต้องการให้ประเทศไทยมีอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และมีโภชนาการที่ดี
“ในอนาคต สวทช.จะนำข้อมูลในแพลตฟอร์มแนะนำการจับคู่ความต้องการและอาหารบริจาคแบบอัตโนมัติ มาพัฒนาเป็นดาต้าที่ช่วยให้ภาคเอกชนที่บริจาคสามารถนำไปใช้อ้างอิง การลดขยะอาหาร คาร์บอนเครดิต ที่จะเป็นผลดีต่อภาคธุรกิจในการส่งออกไปยังต่างประเทศได้ด้วย”
"ทวี อิ่มพูลทรัพย์" ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) ประเทศไทย กล่าวว่าอาหารส่วนเกินจำเป็นต้องถูกทิ้งกลายเป็นขยะมูลฝอยในหลุมฝังกลบ สร้างมลพิษให้แก่โลกมูลนิธิเอสโอเอสจึงเก็บ กู้อาหารเหล่านั้นเพื่อไปส่งต่อให้กับชุมชนผู้ด้อยโอกาสและต้องการความช่วยเหลือด้านอาหาร
ปัจจุบันมูลนิธิได้ส่งต่ออาหารส่วนเกินไปแล้วกว่า 8.3 ล้านกิโลกรัม หรือคิดเป็น 35 ล้านมื้อ ให้แก่ชุมชนต่าง ๆ มากกว่า 3,600 แห่งลดการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการนำอาหารไปฝังกลบถึง 21,166 ตัน
SOS ส่งต่อไปยังผู้ขอรับใน1วัน
สำหรับผู้บริจาคอาหาร จะเป็นธุรกิจโรงผู้ผลิตอาหาร ร้านอาหาร โรงแรม และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการขายอาหารและวัตถุดิบในการประกอบ อาหารบุคคลทั่วไปที่มีอาหารส่วนเกิน (ยังไม่หมดอายุ) และต้องการส่งต่อให้ผู้ที่ขาดแคลน ส่วนกลุ่มผู้รับบริจาคอาหาร อาทิชุมชนที่ขาดแคลนหน่วยงานภาคประชาสังคมสังคม กลุ่มจิตอาสา และประชาสงเคราะห์โรงเรียนและศูนย์ดูแลของรัฐที่ต้องการความช่วยเหลือด้านอาหาร
โดยมี มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) ประเทศไทย ทำหน้าที่รับอาหารจากผู้บริจาคส่งต่อไปยังผู้ขอรับได้ภายใน 1 วัน ได้ตรงตามความต้องการและลดความเสียหายของอาหาร ซึ่งอาหารที่บริจาคจะต้องปฏิบัติตามแนวปฏิบัติอาหารปลอดภัยสำหรับอาหารบริจาค (Food Safety Guideline)
ปัจจุบันนอกจากมีแพลตฟอร์มแนะนำการจับคู่ความต้องการและอาหารบริจาคแบบอัตโนมัติของสวทช.แพลตฟอร์ม Cloud Food Bank (CFB)เป็น Platform ที่จะเชื่อมผู้ที่ต้องการบริจาคอาหาร และกลุ่มคน ที่ขาดแคลนอาหารมาเจอกันแล้ว ยังมีโครงการ BKK Food Bank ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ผู้บริจาคสามารถส่งต่ออาหารไปยังกลุ่มเปราะบางได้ทั่วถึงอย่างตรงจุดภายในกรุงเทพมหานครได้อีกด้วย ซึ่งในอนาคต เมื่อมีธนาคารอาหารของประเทศไทย (Thailand’s Food Bank) แล้ว คาดว่าจะเป็นศูนย์กลางการนำอาหารส่วนเกินไปส่งกลุ่มเปราะบางได้มากขึ้น
24 สาขา Maxvalu เข้าร่วม
“วลัยรัตน์ อภินัยนาถ” GM of Corporate Planning บริษัท อิออน (ไทยแลนด์) จำกัด (Maxvalu Supermarket) เข้าร่วมโครงการบริจาคอาหารส่วนเกินมาตั้งแต่ปี 2565 จนถึงปัจจุบันมีประมาณ 24 สาขาที่เข้าร่วม นำอาหารส่วนเกิน ซึ่งกว่าครึ่ง จะเป็นผัก ผลไม้ บริจาคให้กับ SOS นำไปแจกจ่ายให้กลุ่มเปราะบางแทนการทำลายทิ้ง โดยจะแจ้ง SOS ก่อนเวลา 9 โมงเช้า เพื่อให้สามารถเข้ารับมาอาหารประมาณภายในบ่าย 3 วันเดียวกันนำไปส่งต่อกลุ่มเปราะบางโดยที่อาหารยังคงประโยชน์ต่อผู้รับบริจาค
ที่ผ่านมา มีภาคเอกชนร่วมบริจาคอาหารส่วนเกิน อาทิ โรงแรม Bangkok Marriott Hotel The Surawongse ซึ่ง “เชฟอรรถพล ถังทอง ” (Chef X) Executive Chef จากโรงแรม Bangkok Marriott Hotel The Surawongse กล่าวว่า ปกติอาหารประมาณ 60 % ที่เป็นส่วนเกิน แต่หลังจากเข้าร่วมโครงการแล้วทำให้อาหารส่วนเกินลดลงเหลือ 40 % ช่วยลดขยะอาหารของโรงแรมที่ให้ความสำคัญเรื่องการทิ้งอาหารให้น้อยที่สุด
แนวปฏิบัติ(Food Safety Guideline)
จะเริ่มต้นตั้งแต่ขั้นตอนการรับอาหาร การเก็บรักษาอาหาร การขนส่ง การแจกจ่ายอาหาร โดยมีหลักปฏิบัติสำหรับผู้สัมผัสอาหาร เช่น การแช่แข็งอาหารส่วนเกินและติดฉลากใหม่ การระบุวันที่และระยะเวลาที่แนะนำ ข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายและการควบคุมอันตราย เช่น สารเคมี สารก่อภูมิแพ้
หลักปฏิบัติในการเตรียมอาหาร เช่น การทำละลายอาหารแช่แข็ง การทำให้สุก การทำให้เย็น การอุ่นร้อน การรักษาความปลอดภัยอาหารระหว่างขนส่ง เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับข้อกำหนดด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย เพื่อให้อาหารที่แจกจ่ายยังคงมีความปลอดภัยและเหมาะสมต่อการบริโภค ช่วยให้เกิดความมั่นใจทั้งต่อผู้ให้บริจาคและผู้รับบริจาครวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการบริจาคอาหารในวงกว้างมากยิ่งขึ้น