ไขข้อสงสัย 'แมลงสาบ' เกิดมาทำไม ? มีประโยชน์อย่างไร ?
แมลงสาบ สัตว์ยุคดึกดำบรรพ์ ที่มีอายุยืนผ่านยุคไดโนเสาร์ วิวัฒนาการจนถึงปัจจุบัน แมลงสาบ ดูจะเป็นสัตว์ที่ไม่มีประโยชน์ สร้างความรำคาญ แต่ความจริงแล้ว ในมุมหนึ่ง แมลงสาบก็เป็นนักเก็บกวาดซาก ที่ถูกมองข้าม
KEY
POINTS
- “แมลงสาบ” แมลงสีเข้มที่ก่อกวนชีวิตภายในบ้าน การศึกษาซากในอดีต พบว่า แมลงสาบเป็นแมลงดึกดำบรรพ์ที่อาศัยอยู่บนโลกนี้มานานถึง 250 ล้านปี และทั่วโลกมีมากกว่า 30 สกุล 4,500 ชนิด
- แมลงสาบ มีแหล่งกำเนิดอยู่ในเขตอบอุ่น แต่ปัจจุบันมีการแพร่กระจายไปทั่วโลกซึ่งอาจจะติดไปกับสินค้าจำพวกหีบห่อหรือลังไม้ที่ขนส่งไปทางเรือหรือรถบรรทุก
- ดูเหมือนว่า แมลงสาบจะเป็นสัตว์ที่ไม่มีประโยชน์ แต่ความจริงแล้ว ในมุมหนึ่ง แมลงสาบก็เป็นนักเก็บกวาดซาก ที่ถูกมองข้าม
“แมลงสาบ” แมลงสีเข้มที่ก่อกวนชีวิตภายในบ้าน ข้อมูลจาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบายว่า การศึกษาซากหรือร่องรอยของแมลงสาบในอดีตที่ถูกทับถมไว้ในชั้นหิน ทำให้ทราบว่าแมลงสาบเป็นแมลงดึกดำบรรพ์ที่อาศัยอยู่บนโลกนี้มานานถึง 250 ล้านปี ซึ่งยาวนานกว่ามนุษย์หลายเท่าทีเดียว
จากหลักฐาน พบว่า แมลงสาบโบราณในยุคที่ไดโนเสาร์สูญพันธุ์จากโลกไปแล้ว คือ มหายุคมีโซโซอิก(Mesozoic) มีรังไข่เหมือนกับแมลงสาบในปัจจุบัน แต่ก็มีความแตกตางกันที่ช่องออกไข่ที่ปลายช่องท้อง ปัจจุบันนี้พบแมลงสาบทั่วโลกมากกว่า 30 สกุล 4,500 ชนิด
แมลงสาบ มีแหล่งกำเนิดอยู่ในเขตอบอุ่น แต่ปัจจุบันมีการแพร่กระจายไปทั่วโลกซึ่งอาจจะติดไปกับสินค้าจำพวกหีบห่อหรือลังไม้ที่ขนส่งไปทางเรือหรือรถบรรทุก อย่างไรก็ตาม ยังคงพบแมลงสาบในภูมิภาคที่มีอากาศร้อนมากกว่าพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็น
โดยทั่วไปแมลงสาบชอบอาศัยอยู่ตามบ้านเรือน ท่อระบายน้ำร้านขายของชำ ร้านอาหาร ห้องครัวในโรงพยาบาลหรือโรงแรม โกดังเก็บสินค้าทางการเกษตรหรือกระดาษ แมลงสาบชอบอาศัยอยู่ในบริเวณที่มืด อบอุ่นและมีความชื้นสูง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ย้อนรอย 5 การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของโลก และครั้งที่ 6 จะเกิดขึ้นหรือไม่ ?
- 'สัตว์ที่หายไป' โดยไม่ต้องรอการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6
- ออสเตรเลียพบ ‘ตุ่นปากเป็ด’ แก่ที่สุดในโลก ฟื้นความหวังอนุรักษ์ ไม่ให้สูญพันธุ์
“แมลงสาบ” กินอะไร
แมลงสาบสามารถกินอาหารได้ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ แต่ส่วนมากชอบกินเศษอาหารประเภทแป้งหรือน้ำตาล ซากสัตว์หรือแมลงที่ตายแล้ว น้ำลายเสมหะ อุจจาระ กระดาษ หรือแม้แต่ผ้า แมลงสาบ มีนิสัยชอบกินอาหารและถ่ายอุจจาระออกมาตลอดทางที่เดินผ่าน ชอบออกหากินในเวลากลางคืนและมักอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม แต่ก็มีแมลงสาบบางชนิดที่ออกหากินในเวลากลางวัน
แมลงสาบ มีวงจรชีวิตที่ไม่สมบูรณ์ (Incomplete Metamorphosis) ซึ่งเป็นการเจริญเติบโตที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งรูปร่างและขนาด โดยมีทั้งหมด 3 ระยะ
1. ไข่
2. ตัวอ่อน
3. ตัวเต็มวัย
ประเทศไทย มี “แมลงสาบ” อะไรบ้าง
- แมลงสาบอเมริกัน (Periplaneta americana)
- แมลงสาบบรุนเนีย (Periplaneta brunnea)
- แมลงสาบออสเตรเลีย (Periplaneta australasiae)
- แมลงสาบฟูลิจิโนซ่า (Periplaneta fuliginosa)
- แมลงสาบเยอรมัน (Blattella germanica)
- แมลงสาบลิทูริคอลิส (Blattella lituricollis)
- แมลงสาบผี (Neostylopyga rhombifolia)
- แมลงสาบซินเนเรีย (Nauphoeta cinerea)
- แมลงสาบเฟอร์นิเจอร์ (Supella longipalpa)
- แมลงสาบคอนซินนา (Hebardina concinna)
- แมลงสาบสุรินัมหรือแมลงแกลบ (Pycnoscelus surinamensis)
- แมลงสาบอินดิคัส (Pycnoscelus indicus)
นอกจากนี้ ในทะเลอันกว้างใหญ่ ยังมี “แมลงสาบยักษ์ใต้ทะเล” แต่ไม่ใช่แมลง และ ไม่มี 6 ขา เพราะอยู่ในตระกูลเดียวกับปู กุ้ง กั้ง ที่เราคุ้น ๆ หน้ากัน จัดเป็นสัตว์เปลือกแข็ง ที่เรียกว่า “Isopod” โดยมีขา 7 คู่ หรือ 14 ข้าง นั่นเอง
แมลงสาบเกิดมาทำไม มีประโยชน์อะไร
ดูเหมือนว่า แมลงสาบจะเป็นสัตว์ที่ไม่มีประโยชน์ แต่ความจริงแล้ว ในมุมหนึ่ง แมลงสาบก็เป็นนักเก็บกวาดซาก ที่ถูกมองข้าม โดย สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) อธิบายประโยชน์ของเจ้าแมลงสาบ ว่า
1. แมลงสาบจัดเป็นแมลงตัวเล็ก ซึ่งเป็นห่วงโซ่อาหารที่สำคัญของพวกนกกินที่กินแมลงหรือสัตว์บางชนิดที่กินแมลงเป็นอาหาร
2. แมลงสาบสามารถอาศัยอยู่ในที่ที่สกปรกมากได้มากกว่าสัตว์ชนิดอื่น เพราะน่าจะมีภูมิคุ้มกันในตัวเอง นักวิทยาศาสตร์จึงสนใจที่จะศึกษาและสร้างภูมิคุ้มกันนี้ เพื่อนำไปพัฒนาเป็นภูมิคุ้มกันให้มนุษย์ ในการต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย MRSA (methicillin-resistant Staphylococcus aureus) อันเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยาปฏิชีวนะ
3. พฤติกรรมการกินของแมลงสาบ คือ จะกินทุกอย่างที่ขวางหน้า กินไปและถ่ายไปด้วยตลอด ช่วยกำจัดซากพืชที่ทับถมบริเวณหน้าดินในป่า และมูลแมลงสาบมีไนโตรเจนสูง ช่วยเพิ่มไนโตรเจนในวัฏจักรพืชและวัฏจักรไนโตรเจนได้อีกด้วย
ภัยร้าย “แมลงสาบ” โรคหืดจากการแพ้
รู้จัก ประโยชน์ของแมลงสาบไปแล้ว มาเข้าใจภัยร้ายจากแมลงสาบกันบ้าง ข้อมูลจาก รศ. นพ.สุวัฒน์ เบญจพลพิทักษ์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายในเว็บไซต์ Rama Channel ว่า สิ่งที่น่ากลัวคือ มีรายงานวิจัยในสหรัฐอเมริกาว่า ผู้ป่วยโรคหืดที่แพ้แมลงสาบ จะมีความรุนแรงของโรคมากกว่าคนที่ไม่แพ้ และมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าคนที่ไม่แพ้แมลงสาบเลย
เราจะแพ้อะไรในแมลงสาบ ?
ในแมลงสาบตัวเป็น ๆ ส่วนที่ทำให้คนแพ้คือ ปัสสาวะของมัน อย่างไรก็ตาม ซากแมลงสาบที่ตายในบ้านและสลายเป็นส่วนประกอบเป็นฝุ่นแล้ว จะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ก่อโรคภูมิแพ้ได้ในคน
จัดการแมลงสาบในบ้านได้อย่างไร
แมลงสาบเป็นสัตว์หากินในห้องครัว หาเศษอาหารกินเป็นหลัก มีชีวิตหลบซ่อนตามท่อนํ้าหรือคูนํ้าต่าง ๆ ชอบอาศัยในที่มืด ที่อบอุ่น และมีความชื้นสูง จากสถิติพบว่า ถ้าเห็นแมลงสาบเดินในครัวหมายความว่าบริเวณนั้น จะมีเพื่อนหรือญาติแมลงสาบอาศัยอยู่ไม่น้อยกว่า 500 ตัวเลยทีเดียว แมลงสาบสามารถแพร่พันธุ์ได้เร็วและมีความอดทนต่อสภาวะต่าง ๆ ได้ดี หรือเรียกง่าย ๆ ว่าตายยาก จึงยากที่จะกำจัดให้หมดไปจากสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม มีหลายวิธีในการลดจำนวนแมลงสาบในบ้านให้ลดลง ดังนี้
1. ใช้ยากำจัดแมลงสาบ ไม่แนะนำให้ใช้ยาพ่นแบบสเปรย์ เพราะจะระคายเคืองทางเดินหายใจของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ในบ้านและอาจเกิดอาการจับหืดเฉียบพลัน ยากำจัดแมลงสาบที่แนะ นำคือ ก้อนยาที่วางล่อให้แมลงสาบมากัดกินแล้วกลับไปตายที่รัง ซากของแมลงสาบจะได้ไม่แพร่กระจายเป็นฝุ่นในบ้าน อีกวิธีคือ กาวดักแมลงสาบ เมื่อจับได้มากพอก็นำไปทิ้งนอกบ้าน
2. ปิดรูหรือ รอยแตกที่พื้นและเพดานทิ้งหมด เพื่อลดซอกมุมที่จะเป็นที่อยู่ของแมลงสาบ
3. กำจัดไม่ให้มีแหล่งสะสมของเศษอาหาร โดยเฉพาะในห้องครัว ต้องทำความสะอาดไม่ให้มีเศษอาหารหลงเหลือ ไม่เก็บขยะค้างคืนในห้องครัว ถังขยะต้องมีฝาปิดมิดชิด ท่อนํ้าทิ้งต้องมีตะแกรงชนิดตาถี่ เพื่อไม่ให้แมลงสาบเล็ดลอดขึ้นมาได้ หลีกเลี่ยงการกินอาหารในห้องนอน เพื่อลดเศษอาหารที่จะเป็นอาหารของแมลงสาบและไรฝุ่น
อ้างอิง : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ , สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) , RAMA Channel