‘ญี่ปุ่น’ มีแต่เมืองร้าง อีก 100 ปีข้างหน้า ไม่มีคนอยู่ คนเกิดน้อยกว่าคนตาย

‘ญี่ปุ่น’ มีแต่เมืองร้าง อีก 100 ปีข้างหน้า ไม่มีคนอยู่ คนเกิดน้อยกว่าคนตาย

การศึกษา พบว่า ในอีก 100 ปีข้างหน้า ครึ่งหนึ่งของเมืองใน “ญี่ปุ่น” จะกลายเป็น "เมืองร้าง" เนื่องจาก "อัตราการเกิด" ในประเทศต่ำ และประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ

KEY

POINTS

  • การศึกษาพบว่า หากญี่ปุ่นยังคงมีภาวะเจริญพันธุ์ต่ำแบบในปัจจุบัน อีก 100 ปีข้างหน้าจะมีเมืองที่มีประชากร 100,000 คน เพียง 42 เมือง และเหลือเพียง 6 เมืองเท่านั้นที่มีประชากรมากกว่า 500,000 คน กล่าวโดยสรุป ครึ่งหนึ่งของเมืองในญี่ปุ่นอาจหายไปในศตวรรษหน้า
  • ในอนาคตเมืองที่มีประชากรน้อยกว่า 100,000 คน ที่ไม่ได้มีรถไฟชินคันเซ็นและทางหลวงโทไคโด หรือถนนซันโยโดะพาดผ่านจะหายไปหมด เช่นเดียวกับเมืองที่อยู่ฝั่งตะวันออกของโตเกียว เนื่องจากภูมิภาคดังกล่าวมีแต่ผู้สูงอายุอาศัย และมีสภาพอากาศที่เลวร้ายจนคนไม่อยากย้ายไปอยู่
  • เมื่อมีคนน้อยกว่าเมือง จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะรักษาเมืองไว้ทั้งหมด รัฐจึงจำเป็นต้องเลือกและพัฒนาบางเมืองที่เหมาะแก่การลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐาน 

ญี่ปุ่น” กำลังก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” ในจำนวนประชากร 124 ล้านคน มีผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป อยู่ถึง 29.1% นับเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องรีบแก้ไข ก่อนที่ประเทศนี้จะขาดแคลนแรงงาน และมีจำนวนประชากรที่ลดลงอย่างรวดเร็ว จนอาจจะทำให้ในอีก 100 ปีข้างหน้า ญี่ปุ่นอาจจะหายไปครึ่งประเทศ

ศ.โทโมยะ โมริ จากมหาวิทยาลัยเกียวโต ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว The Japan Times ว่า ผู้กำหนดนโยบายและประชาชนทั่วไปไม่ได้มองว่า “วิกฤติประชากร” ในญี่ปุ่นเป็นเรื่องใหญ่

“ในตอนนี้มีการพูดคุยกันมากมายเกี่ยวกับความเป็นกลางของคาร์บอนและภาวะโลกร้อน ซึ่งหลายคนตระหนักดีว่าเป็นเรื่องที่พวกเขาจะได้รับผลกระทบ ต่างจากเรื่องจำนวนประชากรญี่ปุ่น ผมเชื่อว่าในอนาคตจะยิ่งรุนแรงขึ้น แต่จะไม่ได้มีใครหาทางจัดการกับปัญหานี้”​ ศ.โมริกล่าว

เพื่อให้ทราบว่าในอีก 100 ปีข้างหน้า ญีปุ่นจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ศ.โมริได้สร้างแบบจำลองทางสถิติโดยอิงจากข้อมูลในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา และผสมผสานปัจจัยต่าง ๆ เช่น การลดลงของประชากร แนวโน้มการขยายตัวของเมือง และการเปลี่ยนแปลงด้านการคมนาคมและการสื่อสาร ซึ่งผลที่ได้ออกมาในทางที่เลวร้ายที่สุดคือ ประชากรของญี่ปุ่นจะลดลงเหลือน้อยกว่าหนึ่งในสามของที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

“เนื่องจากความเชี่ยวชาญของผมคือเศรษฐศาสตร์เมือง ผมต้องการให้ทุกคนเห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการลดลงของจำนวนประชากร เพื่อสร้างความตระหนักรู้ของปัญหานี้” 

อีกไม่นานผู้คนหายไป

จำนวนผู้คนผู้สูงอายุลดลงเรื่อย ๆ ซึ่งสามารถสังเกตได้ชัดเจนที่สุดในชนบท ตัวอย่างเช่น นันโมกุ หมู่บ้านบนภูเขาในจังหวัดกุนมะมีจำนวนผู้สูงอายุที่มีออายุเกิน 65 ปีขึ้นไปลดลง 67.5% นับเป็นเปอร์เซ็นต์สูงสุดในบรรดาเทศบาลทั้งหมดในญี่ปุ่น

ในขณะเดียวกัน พบหมู่บ้านเล็ก ๆ ถูกทิ้งร้างกระจายอยู่ทั่วป่าในจังหวัดไซตามะ นับเป็นร่องรอยของการย้ายออกและปัญหาจำนวนประชากรในชนบทอันหวานอมขมกลืน ซึ่งสามารถพบได้ทั่วไปหลายภูมิภาคทั่วญี่ปุ่น จากข้อมูลจากการสำรวจที่อยู่อาศัยและที่ดินในเดือนตุลาคม 2023 พบว่ามีจำนวนบ้านร้างทะลุ 9 ล้านหลังเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนหน้าในปี 2021 ประมาณ 510,000 หลัง

สภายุทธศาสตร์ประชากรคาดว่า ภายในปี 2050 เทศบาล 744 แห่งจากทั้งหมด 1,729 แห่งของญี่ปุ่นอาจหายไปเนื่องจากจำนวนประชากรลดลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่สถาบันวิจัยประชากรและประกันสังคมแห่งชาติ คาดว่าภายในปี 2120 ประชากรญี่ปุ่นจะมีจำนวนประมาณ 36-71 ล้านคน ขึ้นอยู่กับระดับภาวะการเจริญพันธุ์ ซึ่งถ้ามีอัตราการเกิดสูงจะมีประชากรประมาณ 71 ล้านคน หากมีระดับปานกลางจะอยู่ที่ 50 ล้านคน และถ้าอัตราการเกิดต่ำสุดจะมีประชากรเหลืออยู่เพียง 36 ล้านคนเท่านั้น

ปี 2023 อัตราการเกิดของญี่ปุ่นอยู่ในระดับต่ำสุดลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 จนทำสถิติต่ำสุด มีทารกเกิดใหม่เพียง 758,631 คน โดยลดลงจากปี 2022 ราว 5.1% ซึ่งดูเหมือนว่าแนวโน้มอัตราการเกิดใหม่จะลดต่ำลงเรื่อย ๆ และยังไม่มีวิธีการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้คณะนักวิชาการเอกชนและผู้นำธุรกิจ เสนอว่าญี่ปุ่นควรตั้งเป้าหมายมีประชากรคงที่ 80 ล้านคนภายในปี 2100 เพื่อรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจ

โมริกล่าวว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศจะเผชิญกับสังคมสูงวัยและจำนวนประชากรที่ลดลง โดยเฉพาะในประเทศฝั่งเอเชีย ที่ไม่ได้พึ่งพาการอพยพเพื่อเพิ่มประชากร จากการศึกษาของโมริระบุ ในปี 2020 ญี่ปุ่นมี 83 เมืองที่มีประชากรอย่างน้อย 100,000 คน และ 21 เมืองที่มีประชากรอย่างน้อย 500,000 คน

ภายในปี 2120 เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ภาวะเจริญพันธุ์ปานกลาง จำนวนเมืองที่มีประชากรอย่างน้อย 100,000 และ 500,000 คน จะลดลงเหลือ 49 และ 11 เมือง ตามลำดับ และจะประชากรจะกระจัดกระจายมากขึ้น แต่ถ้าญี่ปุ่นยังคงมีภาวะเจริญพันธุ์ต่ำก็จะมีเมืองที่มีประชากร 100,000 คน เพียง 42 เมือง และเหลือเพียง 6 เมืองเท่านั้นที่มีประชากรมากกว่า 500,000 คน กล่าวโดยสรุป ครึ่งหนึ่งของเมืองในญี่ปุ่นอาจหายไปในศตวรรษหน้า

 

“ฟุกุโอกะ” เมืองใหญ่แห่งเดียวที่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้น

โลกกำลังเผชิญกับการเติบโตของเมืองครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ตามข้อมูลของสหประชาชาติระบุว่า ปัจจุบันประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลกอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ เช่นเดียวกับในญี่ปุ่นที่ 80% ของประชากรทั้งหมดอาศัยอยู่ในเมือง ทั้งที่เขตเมืองใหญ่ของญี่ปุ่นมีสัดส่วนเพียง 6% เท่านั้น

โมริกล่าวว่าในอีก 100 ต่อจากนี้ ประชาชนจะหลั่งไหลเข้าไปอยู่อาศัยในเขตเมืองเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มากถึง 90% ของประชากรทั้งหมด นอกจากเมืองใหญ่อย่างโตเกียวแล้ว “ฟุกุโอกะ” จะเป็นอีกเมืองที่มีการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรมากที่สุด

ปัจจุบันฟุกุโอกะเป็นเขตมหานครที่ใหญ่เป็นอันดับสี่ของญี่ปุ่น อยู่ทางตอนเหนือของเกาะคิวชู ซึ่งเป็นเกาะที่ตั้งอยู่ใต้สุดของญี่ปุ่น ใกล้กับจีนและเกาหลีใต้ทำให้สามารถเดินทางได้อย่างสะดวก อีกทั้งยังเป็นจุดแวะพักสุดท้ายของเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายซันโยชินคันเซ็น

จากการศึกษาของโมริ พบว่า จำนวนประชากรในเมืองฟุกุโอกะจะเพิ่มขึ้น 61% ระหว่างปี 2020-2120 เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของจำนวนประชากรผู้สูงอายุในฝั่งตะวันออกลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ศูนย์กลางประชากรย้ายมาที่ฝั่งตะวันตกแทน

แม้ว่าโอซาก้า จะยังคงเป็นเขตมหานครที่ใหญ่เป็นอันดับสอง แต่จำนวนประชากรจะลดลงเรื่อย ๆ โอซาก้าเป็นเมืองใหญ่ 5 อันดับแรกเพียงแห่งเดียวที่มีจำนวนประชากรลดลงตั้งแต่ปี 2000 ซึ่งเป็นผลมาจากการคมนาคมที่สะดวกสบายมากขึ้น ช่วยลดระยะเวลาการเดินทางระหว่างโตเกียวและโอซาก้าลง ทำให้ประชากรไม่จำเป็นต้องย้ายมาอาศัยในโอซาก้าอีกต่อไป

ในขณะเดียวกัน นาโกยาจะยังคงสามารถครองสถานะเมืองใหญ่อันดับ 3 ได้ เนื่องจากเป็นศูนย์กลางของผู้ผลิตรายใหญ่ แม้ว่าประชากรในเมืองนี้จะลดลงอย่างมากก็ตาม การศึกษาของโมริ แสดงให้เห็นว่านาโกยาจะมีประชากรเหลือ 5.29 ล้านคนในปี 2070 และในปี 2120 จะเหลือเพียง 3.06 ล้านคนเท่านั้น หมายความว่าระหว่างปี 2020-2120 จะมีประชากรลดลง 58%

จากการจำลองของโมริแสดงให้เห็นว่า เมืองที่มีประชากรน้อยกว่า 100,000 คน ที่ไม่ได้มีรถไฟชินคันเซ็นและทางหลวงโทไคโด หรือถนนซันโยโดะพาดผ่านจะหายไปหมด เช่นเดียวกับเมืองที่อยู่ฝั่งตะวันออกของโตเกียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมืองที่อยู่ทางตอนเหนือของภูมิภาคโทโฮคุ เมืองเหล่านี้จะหายไปด้วยเช่นกัน แม้ว่าอยู่ตามแนวรถไฟชินคันเซ็นก็ตาม จะมีเพียงแค่เมืองเซนได เมืองหลวงของจังหวัดมิยางิ ที่เหลือรอดเท่านั้น

“ประชาชนในภูมิภาคโทโฮคุส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และมีสภาพอากาศที่เลวร้ายจนคนไม่อยากเข้าไปอยู่อาศัย เมื่อคนที่อยู่ปัจจุบันล้มหายตายจาก ก็เท่ากับไม่มีคนอยู่อาศัยอีกต่อไป” โมริกล่าวสรุป

 

“ญี่ปุ่น” ในอนาคต

“โตเกียว” ยังคงเป็นเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น และจะยังหนาแน่นต่อไปเรื่อย ๆ สวนทางกับภูมิภาคอื่น ๆ ที่ประชากรเริ่มหดตัวลง ปัจจุบันราคาที่ดินในเมืองหลวงกำลังสูงขึ้น และมีโครงการที่อยู่อาศัยเกิดขึ้นมากมาย ข้อมูลจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์ Real Estate Economic Institute Co. ระบุว่าในเดือนมี.ค. 2567 มีอาคารที่มีความสูงมากกว่า 20 ชั้นกำลังก่อสร้างหรือวางแผนแล้วเสร็จหลังปี 2567 มากถึง 321 โครงการ

แต่สิ่งเหล่านี้จะไม่คงอยู่ตลอดไป เมื่อเทคโนโลยีและการคมนาคมก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น คนไม่จำเป็นต้องเข้ามากระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ ตามการจำลองของโมริในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด พบว่า ระหว่างปี 2020-2120 ราคาที่ดินจะลดลง 30% แต่ราคาที่ดินทั้งหมดในเขตเมืองใหญ่ที่สุดสามแห่งของญี่ปุ่นจะลดลงมากกว่า โดยโตเกียว โอซาก้า และนาโกยา คาดว่าจะลดลง 38%

ขณะเดียวกัน เมื่อความบันเทิงและการสั่งซื้อสินค้าสามารถทำได้เพียงแค่ปลายนิ้ว ห้างสรรพสินค้าและร้านค้าตามเมืองจะหายไป และถูกจำกัดไว้แค่ในเมืองใหญ่ ส่วนที่เหลือของประเทศที่ถูกทิ้งร้าง จะถูกสัตว์ป่าและธรรมชาติเข้ายึดครอง

โมริกล่าวว่า สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในอุตสาหกรรมพื้นฐาน เช่น เกษตรกรรม ป่าไม้ และการประมง เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน โดยแต่ละภูมิภาคจะต้องมีเมืองที่จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการสนับสนุนอุตสาหกรรมหลักเพื่อกระจายสินค้าไปยังพื้นที่อื่น ๆ

เมื่อมีคนน้อยกว่าเมือง จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะรักษาเมืองไว้ทั้งหมด รัฐจึงจำเป็นต้องเลือกและพัฒนาบางเมืองที่เหมาะแก่การลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐาน 

 

ที่มา: Japan Times