'นวัตกรรม'ในฤดูเพาะปลูกใหม่ เปิดโลกการทำนา-เกษตรแบบลดโลกร้อน
หลักการ ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ โดยส่งเสริมพัฒนาทักษะเกษตรกรให้สามารถใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรมูลค่าสูงและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
พีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปี 2567 กรมส่งเสริมการเกษตรขับเคลื่อนงานการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตร ถือเป็นหนึ่งใน 7 ประเด็นภารกิจท้าทายของกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายใน 4 ปี
ปัจจุบันภาคการเกษตรของไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 2 รองจากภาคพลังงาน คิดเป็นปริมาณ 57 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งการปลูกข้าวปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุดกว่า 40%
กรมส่งเสริมการเกษตรจึงส่งเสริมเกษตรกรปลูกข้าวแบบลดโลกร้อนในฤดูเพาะปลูกใหม่ โดยใช้เทคโนโลยี 4 ป. + 1 IPM + พืชใช้น้ำน้อย ประกอบด้วย 1. ป 1 “ปรับหน้าดิน” : การปรับที่นาด้วยระบบเลเซอร์ (Laser Land Leveling : LLL) ให้มีความราบเรียบ สม่ำเสมอทั่วทั้งแปลงนา ซึ่งจะช่วยให้สามารถจัดการให้น้ำ ปุ๋ย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. ป 2 “เปียกสลับแห้ง” : การทำนาเปียกสลับแห้ง ลดการขังน้ำในนาข้าว ช่วยลดก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งในการเกิดก๊าซเรือนกระจกจากการทำนาแบบปกติเฉลี่ย45% และยังลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงสูบน้ำ
3. ป 3 “ปุ๋ยวิเคราะห์” : การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน เกษตรกรสามารถใช้ปุ๋ยอย่างเหมาะสม ไม่เกินความต้องการของพืช ช่วยลดปริมาณการใช้ปุ๋ย และลดต้นทุนค่าปุ๋ย ส่งผลให้เกิดก๊าซไนตรัสออกไซด์จากการใช้ปุ๋ยลดลง
4. ป 4 “แปรสภาพฟาง ตอซัง” : การแปรสภาพฟางข้าวปลอดการเผาสู่การไถกลบหรือส่งเสริมการทำปุ๋ยหมัก รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ นอกจากจะเป็นการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน ใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์แปรรูปจากฟางข้าวแล้วยังช่วยลดก๊าซมีเทน ลดก๊าซไนตรัสออกไซด์ และลดมลพิษทางอากาศ PM2.5 จากการเผาฟางข้าว
5. IPM (Integrated Pest Management) : การป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน ส่งเสริมให้เกษตรกร ใช้เครื่องมือวัดสภาพแวดล้อม (อุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณน้ำฝน) เพื่อพยากรณ์การระบาดของศัตรูพืช
6. พืชใช้น้ำน้อย : การบริหารจัดการพื้นที่นาด้วยพืชใช้น้ำน้อย (ทดแทนข้าวนาปรัง) คือ พืชที่มีอายุการเก็บเกี่ยวน้อยกว่า 120 วัน เช่น แตงโม มะเขือเทศโรงงาน มันฝรั่งโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ฟักทอง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ดาวเรืองตัดดอก และพืชผักต่าง ๆ
จากการบริหารจัดการพื้นที่นาข้าวที่กล่าวมาข้างต้น จะนำไปสู่การสร้างรายได้ 3 ทาง สู่ 3 เสาแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดย “สร้างรายได้เพิ่มขึ้น 3 ทาง” เกษตรกรมีรายได้จาก 1. ขายผลผลิตข้าวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 2. รายได้จากฟางข้าวอัดก้อน นำไปเลี้ยงปศุสัตว์ ใช้เป็นวัสดุคลุมดินรักษาความชื้นในแปลงปลูกพืชผัก หรือไม้ผล ขายได้ 25 - 30 บาท/ก้อน คิดเป็น 750 บาท/ไร่
3. รายได้จากการสร้างมูลค่าเพิ่มจากฟางข้าวที่หลากหลายรูปแบบ อาทิ ผลิตเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่งหรืออัดก้อน ขายได้ 20 บาท/กิโลกรัม และจำหน่ายเป็นเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้าชีวมวล ขายได้ 600 - 1,700 บาท/ตัน 4. รายได้จากการปลูกพืชใช้น้ำน้อย (ทดแทนข้าวนาปรัง) เสริมสร้างรายได้แก่เกษตรกรด้วยการบริหารจัดการพื้นที่นาอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม สามารถสร้างกำไรจากพืชใช้น้ำน้อย 1,010 - 34,890 บาท/ไร่ (ขึ้นกับชนิดพืช) ซึ่งมีผลให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการลดรอบการทำนาได้
จาก“3 เสาแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ส่งผลให้เกิดความยั่งยืน ใน 3 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ ช่วยเพิ่มโอกาสการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลก ช่วยลดการหดตัวของ GDP ภาคเกษตรที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพิ่มการผลิตสินค้าการเกษตรอื่นนอกจากข้าว เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 3 ทาง และมีความมั่นคงทางอาหารเพิ่มขึ้น มีความหลากหลายของชนิดอาหาร มีความปลอดภัย และเพียงพอต่อการบริโภคในครัวเรือนและชุมชน นำไปสู่การช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้
ด้านสังคม เกษตรกรมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน วางแผนการเพาะปลูกที่สอดคล้องกับความต้องการตลาดของสินค้าข้าว จัดการฟางข้าว และปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทนนาปรังร่วมกัน
และด้านสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำนาและอากาศสะอาดขึ้น จากการลดการเผาในพื้นที่นาข้าว ปลอดหมอกควันและฝุ่น PM2.5 และใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า มีประสิทธิภาพด้วยการจัดการน้ำ ทำนาแบบเปียกสลับแห้ง การปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยสามารถลดการใช้น้ำตลอดช่วงอายุการเพาะปลูกลงได้ถึง20 - 40 % คิดเป็น 240 - 480 ลูกบาศก์เมตร/ไร่ อีกทั้งช่วยลดปัญหาขาดแคลนน้ำทำการเกษตรในฤดูแล้ง