‘โรคติดเชื้อข้ามสายพันธุ์’ ระบาดง่ายขึ้น เพราะ ‘ภาวะโลกร้อน’
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อข้ามสายพันธุ์ นักวิทยาศาสตร์เผยอาจมีการแพร่เชื้อไวรัสข้ามสปีชีส์อย่างน้อย 15,000 ครั้งอาจเกิดขึ้นได้ภายในปี 2070
KEY
POINTS
- การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นตัวเร่งให้เกิดการแพร่กระจายของไวรัสข้ามสายพันธุ์ และถ้าหากอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับก่อนยุคอุตสาหกรรม จะทำให้เกิดการแพร่กระจายของไวรัสข้ามสายพันธุ์ใหม่อย่างน้อย 15,000 ครั้ง ภายในปี 207
- การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีศักยภาพมากพอที่จะเป็นแรงผลักดันสำคัญในการแพร่เชื้อไวรัสข้ามสายพันธุ์ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่โรคติดเชื้อสู่คนได้
- อุณหภูมิที่สูงขึ้นอาจสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคและพาหะของเชื้อโรคบางชนิด ทั้งการเพิ่มอัตราการแพร่พันธุ์ของพาหะนำโรค และขยายขอบเขตการแพร่กระจายไปยังพื้นที่ใหม่
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ (CDC) ได้ยืนยันพบผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์อันตราย H5N1 มีประวัติการสัมผัสโดยตรงกับวัวที่ติดเชื้อในฟาร์มโคนมที่มีการแพร่บาดของไข้หวัดนก และมีความกังวลอาจว่าการระบาดในอุตสาหกรรมฟาร์มโคนมสหรัฐอาจแย่กว่าที่คิด
ปกติแล้วไวรัสไข้หวัดสามารถแพร่ระบาดในสัตว์หลายสายพันธุ์ และในบางครั้งไวรัสก็จะข้ามสปีชีส์ไประบาดยังสายพันธุ์ที่ไม่เฉพาะเจาะจง ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตสำหรับพาหะสายพันธุ์ใหม่ โดยนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า “ภาวะโลกร้อน” จะเพิ่มจำนวนการแพร่กระจายของ “ไวรัสข้ามสายพันธุ์” อย่างมีนัยสำคัญในทศวรรษต่อ ไป ดังนั้นจึงเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคติดต่อระหว่างคนและสัตว์
โลกร้อนทำให้เกิด “ไวรัสข้ามสายพันธุ์” ได้ง่าย
ในขณะที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สัตว์หลายชนิดมีแนวโน้มที่จะอพยพไปยังสภาพแวดล้อมใหม่ โดยนำปรสิตและเชื้อโรคติดตัวไปด้วย และยิ่งเพิ่มการติดต่อของไวรัสระหว่างสายพันธุ์ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ทั้งสองสายพันธุ์ไม่เคยมีปฏิสัมพันธ์กัน
ตามการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature เมื่อปี 2022 พบว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นตัวเร่งให้เกิดการแพร่กระจายของไวรัสข้ามสายพันธุ์ และถ้าหากอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับก่อนยุคอุตสาหกรรม จะทำให้เกิดการแพร่กระจายของไวรัสข้ามสายพันธุ์ใหม่อย่างน้อย 15,000 ครั้ง ภายในปี 2070
แม้ว่ามนุษย์จะสามารถติดเชื้อไวรัสจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดต่างๆ ได้ทุกที่ในโลก แต่การติดเชื้อจะเกิดขึ้นมากเป็นพิเศษในเขตร้อน เนื่องจากภูมิภาคนี้เป็นแหล่งอาศัยของโรคติดเชื้อส่วนใหญ่ที่สามารถแพร่เชื้อจากสัตว์สู่คนได้ อีกทั้งมีความหนาแน่นของประชากรสูง เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และบริเวณเส้นศูนย์สูตรของทวีปแอฟริกา
รายงานระบุว่า การเปลี่ยนแปลงตามสภาพอากาศเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การแพร่กระจายของไวรัสต่าง ๆ อาจเป็นไปได้ว่าในตอนนี้ไวรัสต่าง ๆ ได้วิวัฒนาการตัวเองเพื่อปรับตัวให้อยู่ในโลกที่ร้อนขึ้นได้แล้ว โดยนักวิจัยคาดว่า “ค้างคาว” จะเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสมาสู่คนมากที่สุด เพราะมันเป็นแหล่งรวมของเชื้อโรคและมีโอกาสแพร่เชื้อมาสู่มนุษย์ได้มากที่สุด
ตามรายงานร่วมกันขององค์การอนามัยโลกและทางการจีน เมื่อเดือนมีนาคม 2021 ระบุว่า ไวรัสโควิด-19 น่าจะมีต้นกำเนิดจากสัตว์สู่คน ไวรัสมีแนวโน้มแพร่เชื้อจากค้างคาวไปยังสัตว์อื่นและแพร่เชื้อมายังมนุษย์
“เราจะยังคงมองเห็นความเสี่ยงจากไวรัสหลายสายพันธุ์ เช่น อีโบลา โคโรนา และไข้หวัดใหญ่” โคลิน คาร์ลสัน ศาสตราจารย์วิจัยจากศูนย์การศึกษาวิทยาศาสตร์และสุขภาพทั่วโลก มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ผู้เขียนการศึกษาวิจัยกล่าว
ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่ าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีศักยภาพมากพอที่จะเป็นแรงผลักดันสำคัญในการแพร่เชื้อไวรัสข้ามสายพันธุ์ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่โรคติดเชื้อสู่คนได้ นอกจากนี้รายงานยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในควบรวมการเฝ้าระวังไวรัสเข้ากับการประเมินการเปลี่ยนแปลงของชนิดพันธุ์อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“สิ่งนี้กำลังเกิดขึ้น และเราไม่สามารถป้องกันมันได้ ต่อให้จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเลยก็ตาม และเราจำเป็นต้องวางมาตรการเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพเพื่อปกป้องมนุษย์และสัตว์ต่าง ๆ” เกรกอรี อัลเบอรี่ ผู้ร่วมเขียนการศึกษาและนักนิเวศวิทยาด้านโรคที่มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ กล่าวเสริม
โลกร้อนทำให้โรคระบาดรุนแรงขึ้น
สมาคมโรคระบาดและโรคที่เกิดจากภูมิอากาศ ทำงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์หลายร้อยคนจากทั่วโลก เพื่อรวบรวมรายงานการสังเคราะห์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและโรคระบาดปี 2023 พบว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นอาจสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคและพาหะของเชื้อโรคบางชนิด ทั้งการเพิ่มอัตราการแพร่พันธุ์ของพาหะนำโรค และขยายขอบเขตการแพร่กระจายไปยังพื้นที่ใหม่
อาร์โบไวรัส (Arbovirus) เป็นกลุ่มของเชื้อไวรัสที่สามารถติดต่อมาสู่คนหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้ โดยมีสัตว์ขาปล้องเป็นพาหะ เช่น ยุง เห็บ ริ้นฝอยทราย เป็นต้น ทำให้เกิดโรคชิคุนกุนยา ไข้เวสต์ไนล์ และไข้เลือดออก ซึ่งแต่เดิมพบในเอเชียใต้ และอเมริกาใต้ แต่ในตอนนี้กลับสามารถพบผู้ป่วยไข้เวสต์ไนล์ทางตอนเหนือของเทือกเขาแอลป์ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ยุโรปไม่เคยเจอโรคนี้มาก่อน
สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงยังทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาตินานัปการ เช่น น้ำท่วม พายุ และความแห้งแล้ง ซึ่งสภาพอากาศที่เลวร้ายมักกระตุ้นให้เกิดการย้ายถิ่นฐานของมนุษย์และสัตว์ และทำให้การจัดหาสิ่งของจำเป็น การดูแลรักษาทางการแพทย์ และการขนส่งลดลง
นับตั้งแต่ปี 2022 โลกได้เข้าสู่ยุคการระบาดของอหิวาตกโรคครั้งที่ 7 โดยมาลาวีประสบกับการระบาดของอหิวาตกโรคครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ หลังจากเจอพายุโซนร้อนรุนแรง 2 ลูกทำให้เกิดน้ำท่วมและทำลายบ้านเรือนทั้งประเทศ
ขณะที่ความแห้งแล้งก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการติดเชื้ออีกด้วย ผู้คนจำเป็นต้องใช้น้ำจากแหล่งน้ำไม่สะอาดในการอุปโภคบริโภคและทำปศุสัตว์ ซึ่งอาจสัมผัสกับสารปนเปื้อนและเชื้อโรค จนทำให้เกิดการระบาดของโรคไวรัสตับอักเสบอี ในประเทศกำลังพัฒนา
ยิ่งมนุษย์ทำให้สภาพแวดล้อมของโลกเสื่อมโทรมลงมากเท่าไหร่ พวกเรากำลังสร้างโอกาสให้เกิด “โรคระบาด” เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะนี้สัตว์และแมลงพาหะนำโรค เช่น ยุงและเห็บ สามารถเจริญเติบโตได้ดีบนโลกที่ร้อนยิ่งขึ้นจาก “การปล่อยก๊าซเรือนกระจก” เหล่าปรสิตและเชื้อโรคแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว จากการปรับตัวเพื่อขยายพันธุ์ให้ได้มากที่สุด
ที่มา: ABC News, BBC, The Conversation