‘ซักผ้า’ ปล่อย ‘ไมโครพลาสติก’ จำนวนมาก ต้องซักผ้าอย่างไรให้โลกยั่งยืน

‘ซักผ้า’ ปล่อย ‘ไมโครพลาสติก’ จำนวนมาก ต้องซักผ้าอย่างไรให้โลกยั่งยืน

การซักผ้าปล่อยไมโครพลาสติกออกมาเป็นอันดับต้น ๆ โดยเฉพาะ “ไมโครไฟเบอร์” เศษพลาสติกที่มีรูปร่างคล้ายด้ายหรือเส้นใยเล็ก ๆ จำนวนมาก แล้วซักผ้าอย่างไรถึงจะยั่งยืน

KEY

POINTS

  • ไมโครไฟเบอร์สามารถหลุดออกเสื้อผ้าได้ทุกช่วงเวลา ตั้งแต่เริ่มกระบวนการผลิต การสวมใส่ การถูกฝังกลบ หรือแม้แต่การซักทำความสะอาด โดยในการซักแต่ละครั้ง สามารถปล่อยไมโครไฟเบอร์ได้หลายล้านชิ้น
  • หลังจากซักผ้าเสร็จ ไมโครไฟเบอร์ที่หลุดออกจากเสื้อผ้าจะถูกไหลทิ้งไปตามท่อน้ำทิ้ง อาจจะติดค้างอยู่ในท่อ ไหลลงดิน หรือรวมกับน้ำเสียอื่น ๆ ทำให้ไมโครพลาสติกเข้าสู่แหล่งธรรมชาติ
  • แพทริค ริชาร์ดสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการซักรีด กล่าวว่าทุกวันนี้เราใช้ผงซักฟอกมากเกินไป โดยเขาแนะนำว่าในการซักผ้าแต่ละครั้งควรใช้ผงซักฟอกเพียงแค่ 2 ช้อนโต๊ะก็เพียงพอที่จะทำให้เสื้อผ้าสะอาด

ไมโครพลาสติก” มีอยู่ทุกที่ทั่วโลก ตั้งแต่ยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก ไปจนถึงร่องลึกใต้ทะเล และพลาสติกขนาดจิ๋วเหล่านี้ยังมีอยู่ในพืช สัตว์ แม้แต่ในร่างกายของมนุษย์เองก็ตาม 

ไมโครพลาสติกที่พบมากที่สุดในสิ่งแวดล้อมคือ “ไมโครไฟเบอร์” เศษพลาสติกที่มีรูปร่างคล้ายด้ายหรือเส้นใยเล็ก ๆ ซึ่งมาจากหลายแหล่ง ตั้งแต่ ก้นบุหรี่ อวนจับปลา และเชือก แต่แหล่งที่ใหญ่ที่สุดคือ “ผ้าใยสังเคราะห์” จากเสื้อผ้าที่พวกเราสวมใส่

ไมโครไฟเบอร์สามารถหลุดออกเสื้อผ้าได้ทุกช่วงเวลา ตั้งแต่เริ่มกระบวนการผลิต การสวมใส่ การถูกฝังกลบ หรือแม้แต่การซักทำความสะอาด โดยในการซักแต่ละครั้ง สามารถปล่อยไมโครไฟเบอร์ได้หลายล้านชิ้น แต่จะมาหรือน้อยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นประเภทของผ้า ชนิดผงซักฟอก อุณหภูมิของน้ำ และระยะเวลาการซัก

 

“ไมโครพลาสติก” มีทั่วแหล่งน้ำและดิน

หลังจากซักผ้าเสร็จ ไมโครไฟเบอร์ที่หลุดออกจากเสื้อผ้าจะถูกไหลทิ้งไปตามท่อน้ำทิ้ง อาจจะติดค้างอยู่ในท่อ ไหลลงดิน หรือรวมกับน้ำเสียอื่น ๆ และส่งไปยังโรงบำบัดน้ำเสีย แท้จริงแล้ว โรงงานบำบัดขั้นสูงสามารถกำจัดไมโครไฟเบอร์ออกจากน้ำได้มากถึง 99% แต่เนื่องจากน้ำในการซักผ้าแต่ละครั้งมีไมโครพลาสติกหลายล้านเส้น ทำให้น้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วก็ยังคงมีมีเส้นใยจำนวนมาก

ขณะที่ ไมโครไฟเบอร์ที่ถูกคัดแยกออกในกระบวนการบำบัดน้ำเสีย จะถูกไปรวมกับกากตะกอนน้ำเสีย หรือ สลัดจ์ (sewage sludge) จะถูกนำไปแปรรูปเป็นปุ๋ย ทำให้ไมโครไฟเบอร์แพร่กระจายเข้าไปอยู่ในดินและอากาศ

หากพลาสติกแตกตัวเป็นชิ้นเล็ก ๆ มากพอ พืชผักผลไม้จะดูดซับไมโครพลาสติกผ่านระบบราก และถ่ายโอนสารเคมีเหล่านั้นไปยังส่วนต่าง ๆ ของพืช เช่นเดียวกับในสัตว์ที่อาจะเผลอกินไมโครพลาสติกเข้าไปโดยที่ไม่รู้ตัว เมื่อพืชและสัตว์เหล่านี้กลายเป็นอาหารของมนุษย์ ก็จะส่งมอบไมโครพลาสติกมาให้มนุษย์ด้วยเช่นกัน

ไมโครพลาสติกที่ถูกชะล้างลงแม่น้ำ ทะเลสาบ และมหาสมุทรจะส่งผลเสียมากมายต่อปลาและสัตว์น้ำ ทั้งในด้านชีวเคมี สรีรวิทยา การสืบพันธุ์ การพัฒนา หรือพฤติกรรมของพวกมัน ไมโครพลาสติกเหล่านี้มีสารเคมีเจือปน รวมถึงสารอย่างพาทาเลตและบิสฟีนอล เอ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพในมนุษย์และสัตว์ โดยเฉพาะหัวใจวาย มะเร็ง โรคในระบบต่อมไร้ท่อ และปัญหาการเจริญพันธุ์

แต่ไมโครไฟเบอร์จากผลิตภัณฑ์สิ่งทอยังมีสารเคมีที่เป็นพิษมากกว่าไมโครพลาสติก เช่น สีย้อมผ้า สารต่อต้านริ้วรอย และสารหน่วงการติดไฟ ในขณะเดียวกันสารปนเปื้อนที่มีอยู่ในน้ำ เช่น โลหะและยาฆ่าแมลง สามารถเกาะติดกับอนุภาคไมโครพลาสติก ทำให้เกิดการปนเปื้อนมากขึ้น และสารดังกล่าวอาจจะเข้าสู่ร่างกายสิ่งมีชีวิตที่กินพวกมันได้

ซักผ้าอย่างยั่งยืน

จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science of the Total Environment เมื่อปี 2022 พบว่า ผ้าโพลิเอสเตอร์ปล่อยไมโครไฟเบอร์มากที่สุด ถึง 1,900 ชิ้นต่อตัวต่อการซักหนึ่งครั้ง แตกต่างจากผ้าไนลอนที่ปล่อยไมโครพลาสติกน้อยกว่าถึง 8 เท่า เนื่องจากผ้าไนลอนเป็นผ้าที่ทอแน่น มีเส้นใยยาวกว่าโพลิเอสเตอร์

นักวิทยาศาสตร์และผู้ผลิตสิ่งทอหลายรายกำลังพัฒนาเนื้อผ้าที่มีการแตกตัวของไมโครไฟเบอร์น้อยลง ซึ่งอาจต้องใช้เทคนิคต่าง ๆ เข้าช่วย เช่น ผลิตเส้นใยที่ยาวขึ้น หรือใช้สารเคลือบเพื่อลดการหลุดร่วง ในขณะเดียวกัน เราสามารถลดปริมาณไมโครไฟเบอร์จากการซักผ้าได้ด้วย การซักผ้าในแต่ละรอบให้มากขึ้น เพราะการซักผ้าด้วยจำนวนชิ้นน้อย ๆ จะทำให้ผ้าเสียดสีกันมากขึ้น และที่สำคัญช่วยประหยัดน้ำได้อีกด้วย

นอกจากนี้ การใช้น้ำเย็นซักผ้าจะช่วยลดการปล่อยไมโครไฟเบอร์ออกมาน้อยกว่าน้ำร้อน เช่นเดียวกับการใช้ผงซักฟอกให้น้อยลงก็จะช่วยจำนวนไมโครพลาสติกได้เช่นกัน ไม่ควรใช้เครื่องอบผ้า เพราะทำให้เสื้อผ้าปล่อยไมโครไฟเบอร์เพิ่มเติมออกสู่อากาศจากช่องระบายอากาศ ควรเปลี่ยนมาตากผ้าบนราวตากผ้าแทน

แพทริค ริชาร์ดสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการซักรีด กล่าวว่าทุกวันนี้เราใช้ผงซักฟอกมากเกินไป โดยเขาแนะนำว่าในการซักผ้าแต่ละครั้งควรใช้ผงซักฟอกเพียงแค่ 2 ช้อนโต๊ะก็เพียงพอที่จะทำให้เสื้อผ้าสะอาด

ผงซักฟอกเป็นอีกแหล่งหนึ่งของมลพิษไมโครพลาสติก โดยเฉพาะชนิดที่มีเม็ดไมโครบีดส์ที่ไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ซักผ้าชนิดแคปซูล (laundry detergent pods) ที่ส่วนมากถูกเคลือบด้วยโพลีไวนิลแอลกอฮอล์ (PVA) ทำหน้าที่เป็นแผ่นฟิล์มบาง ๆ และแตกตัวเมื่อโดนน้ำ เจมส์ เจนนาโร สมาชิกสภานครนิวยอร์ก ได้ผลักดันร่างกฎหมายแบนการใช้ผลิตภัณฑ์ซักผ้าชนิดแคปซูล เนื่องจาก  PVA ที่ใช้ไม่ปลอดภัย และไม่สามารถย่อยสลายทางชีวภาพได้

ปัจจุบันมีแผ่นกรองกักเก็บไมโครไฟเบอร์วางจำหน่าย สามารถซื้อไปใช้กับเครื่องซักผ้าที่มีอยู่ได้ โดยจะสามารถดักจับไมโครไฟเบอร์ที่หลุดระหว่างการซักได้ถึง 90% แต่จำเป็นต้องทำความสะอาดและนำเศษเส้นใยไปทิ้งเสมอเพื่อให้แผ่นกรองสามารถดักจับได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

หลายประเทศเริ่มให้ความสำคัญกับปัญหาไมโครไฟเบอร์จากการซักผ้ามากขึ้น ในปี 2020 ฝรั่งเศสออกคำสั่งว่าเครื่องซักผ้าใหม่ทุกเครื่องจะต้องมีแผ่นกรองไมโครพลาสติกภายในปี 2025 หลังจากนั้นไม่นานออสเตรเลียประกาศใช้กฎหมายในลักษณะที่คล้ายกัน ขณะที่นักรณรงค์เรียกร้องให้มีการนำกฎหมายดังกล่าวไปใช้ในสหราชอาณาจักรด้วย


ที่มา: Euro NewsPhysThe Conversation