‘โอลิมปิก 2024’ ที่ปารีส ไม่เสิร์ฟเฟรนช์ฟรายส์เพราะทำโลกร้อน

‘โอลิมปิก 2024’ ที่ปารีส  ไม่เสิร์ฟเฟรนช์ฟรายส์เพราะทำโลกร้อน

"โอลิมปิก 2024" ตั้งเป้าจะลดการปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” 50% เสิร์ฟอาหารเน้นผัก ไม่มี "เฟรนช์ฟรายส์" และ สเต็กเนื้อ เพราะมาจากระบวนการผลิตที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสูง ตัวการทำ "โลกร้อน"

KEY

POINTS

  • อาหารส่วนใหญ่ที่เสิร์ฟใน “โอลิมปิก 2024” จะเน้นพืชผักเป็นหลัก แต่ว่า “เฟรนช์ฟรายส์” หรือมันฝรั่งทอดจะไม่ได้ถูกเสิร์ฟให้นักกีฬา
  • แต่นักกีฬาก็ยังจะได้เรียนรู้ความเป็น “ฝรั่งเศส” ผ่านอาหารชนิดอื่น ๆ ได้ และสามารถทดลองทำขนมปังฝรั่งเศส
  • ฝรั่งเศสสั่งห้ามใช้ช้อนส้อมและจานแบบใช้แล้วทิ้ง พร้อมสร้างวัฒนธรรมลดขยะให้เป็นศูนย์ (Zero Waste) โดยวัตุดิบในการปรุงอาหารประมาณ 80% จะมาจากในฝรั่งเศส ส่วนที่เหลือจะต้องอยู่ภายในรัศมี 155 ไมล์จากกรุงปารีส

โอลิมปิก 2024” ที่จะจัดในกรุงปารีส ฝรั่งเศส ที่จะเปิดฉากระหว่างวันที่ 26 ก.ค. - 11 ส.ค. 2024 จะเป็นโอลิมปิกครั้งที่ “รักษ์โลก” มากที่สุด เพราะตั้งเป้าจะลดการปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” 50% เมื่อเทียบกับการแข่งขันโอลิมปิก 2012 ที่ลอนดอน ดังนั้นคณะจัดงานจึงเข้มงวดกับทุกกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อน รวมถึงการเสิร์ฟอาหาร

สเตฟาน ชิเชรี และชาลส์ กิลลอย เชฟผู้รับผิดชอบระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ระบุว่าจะมีการเสิร์ฟอาหาร 45,000 มื้อ ตลอด 24 ชั่วโมงในช่วงระหว่างการแข่งขันกีฬา โดยอาหารส่วนใหญ่มักจะเป็นอาหารที่เน้นพืชผักเป็นหลัก เช่น ชาวาร์มามังสวิรัติ กะหล่ำปลีดอง ฟาลาเฟลบีทรูท มันปรุงรสพร้อมฮัมมูส มะเขือม่วงย่าง และฮอทดอกมังสวิรัติ 

ถึงจะเน้นเมนูผักเป็นหลัก แต่ว่า “เฟรนช์ฟรายส์” หรือมันฝรั่งทอดจะไม่ได้ถูกเสิร์ฟให้นักกีฬา โดยกิลลอยกล่าวว่า เฟรนช์ฟรายส์อาจจะทำให้เกิดไฟไหม้ได้ เพราะต้องใช้หม้อทอดดีฟฟรายตลอดเวลา นอกจากนี้ในการแข่งขันโอลิมปิกก็จะไม่เสิร์ฟฟัวกราส์ด้วย เนื่องจากกระบวนการผลิตเป็นการทรมานสัตว์ เช่นเดียวกับอโวคาโดที่เป็นพืชนำเข้าและใช้น้ำในการเพาะปลูกมาก

แม้จะไม่มีเฟรนช์ฟรายส์ แต่นักกีฬาก็ยังจะได้เรียนรู้ความเป็น “ฝรั่งเศส” ผ่านอาหารชนิดอื่น ๆ ได้ ทั้งชีสฝรั่งเศส เนื้อลูกวัวลวก และแน่นอนว่าต้องมีบาแกตต์ หรือขนมปังฝรั่งเศส ซึ่งชิเชรีกล่าวว่า นักกีฬาที่สนใจสามารถทดลองทำขนมปังฝรั่งเศสจากนักทำขนมปังระดับปรมาจารย์ได้

อาหารประมาณ 500 เมนูจะเสิร์ฟที่ห้องอาหาร Olympic Village ในเมืองแซงต์-เดอนี ทางตอนเหนือของกรุงปารีส โดยห้องอาหารนี้ถูกดัดแปลงมาจากโรงไฟฟ้าอายุเกือบ 100 ปี ซึ่งนอกจากจะต้อนรับนักกีฬาแล้ว รัฐบาลคาดว่า Olympic Village จะช่วยดึงดูดให้ผู้คนจากทั่วโลกที่สนใจในอาหารฝรั่งเศสและต้องการเรียนรู้วัฒนธรรมอาหารที่เกี่ยวข้องกับประเพณี นับเป็นอีกหนึ่ง “ซอฟต์พาวเวอร์” ที่ฝรั่งเศสต้องการส่งออก

“เรามีว้ฒนธรรมการกินที่มีมายาวนานหลายศตวรรษ แต่ถ้าเราไม่รักษามันไว้ สิ่งเหล่านี้ก็จะหายไปได้”
โอลิเวีย เกรกัวร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวกล่าว

ในเดือนพ.ค. 2567 เกรกัวร์เดินทางเยือนนิวยอร์กเพื่อโปรโมตโครงการริเริ่มมูลค่าหลายล้านดอลลาร์สหรับแนะนำเชฟรุ่นใหม่และอาหารฝรั่งเศสแนวผสมผสานในประเทศต่าง ๆ เช่นในสหรัฐ เกาหลีใต้ ฮ่องกง ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 

ธุรกิจอาหารในฝรั่งเศส ทั้งภาคธุรกิจอาหาร รวมถึงไวน์และสุรา มีการจ้างงานมากกว่า 800,000 ตำแหน่ง สร้างรายได้มากกว่า 55,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี

ฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับการนำเสนออาหาร เพราะถือเป็นการแสดงความภาคภูมิใจในวัตถุดิบที่มีความหลากหลายในประเทศตั้งแต่เทือกเขาแอลป์ไปจนถึงมหาสมุทรแอตแลนติก และจากนอร์มังดีไปจนถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

“วิธีทำอาหารที่ดีที่สุดฝังอยู่ในดีเอ็นเอของเรา นี่เป็นสิ่งที่นักศึกษาด้านอาหารชั้นสูงทุกคนยึดมั่น” อลัง ดูคาส หนึ่งในเชฟชาวฝรั่งเศสที่ได้รับการยกย่องมากที่สุด ผู้ได้รับเลือกให้จัดงานเลี้ยงอาหารค่ำเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกวันที่ 26 กรกฎาคมสำหรับประมุขแห่งรัฐ กล่าว

แม้ว่าอาหารฝรั่งเศสจะเปลี่ยนแปลงไป โดยการเพิ่มการผสมผสานเข้ากับอาหารเก่า ๆ ในลักษณะที่ก่อให้เกิด “néobistrot” (นีโอบิสโตร) และทำให้เกิดการกินแบบ “le sharing” (เล แชร์ริง) วิธีการรับประทานอาหารแปลกใหม่ แต่ภาพลักษณ์ของอาหารฝรั่งเศสที่เป็นอาหารชั้นสูงแทบไม่เปลี่ยนแปลงเลย

ดังนั้นหมู่บ้านโอลิมปิกอาจเป็นตัวเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์อาหารฝรั่งเศส โดยภายในหมู่บ้านนักกีฬาจะมีร้านอาหารพร้อมทาน หรือ grab-and-go 6 ร้าน ซึ่งมีขายทั้งอาหารเอเชีย อาหารแอฟโฟรแคริบเบียน ชาวาร์มามังสวิรัติ แฮมเบอร์เกอร์ (เนื้อ มังสวิรัติ หรือทั้งสองอย่างรวมกัน) อาหารตะวันออกกลาง และอาหารฮาลาล นอกจากนี้ยังมีอาหารโคเชอร์ให้บริการตามความต้องการอีกด้วย

อีกประเด็นหนึ่งที่ฝรั่งเศสเน้นย้ำมาตลอดคือความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เจ้าหน้าที่โอลิมปิกของฝรั่งเศสสั่งห้ามใช้ช้อนส้อมและจานแบบใช้แล้วทิ้ง พร้อมสร้างวัฒนธรรมลดขยะให้เป็นศูนย์ (Zero Waste) โดยวัตุดิบในการปรุงอาหารประมาณ 80% จะมาจากในฝรั่งเศส ส่วนที่เหลือจะต้องอยู่ภายในรัศมี 155 ไมล์จากกรุงปารีส 


ที่มา: The New York Times