ฟื้นชีพ 'โรงไฟฟ้านิวเคลียร์' ดันเทคโนโลยี 'SMR' ปักหมุดประเทศไทย

ฟื้นชีพ 'โรงไฟฟ้านิวเคลียร์' ดันเทคโนโลยี 'SMR' ปักหมุดประเทศไทย

ฟื้นชีพ 'โรงไฟฟ้านิวเคลียร์' ดันเทคโนโลยี 'SMR' ปักหมุดประเทศไทย ทางเลือกสู่สังคมคาร์บอนต่ำ หนุนการใช้พลังงานสะอาดมีความมั่นคงปอดภัยมากยิ่งขึ้น  

KEY

POINTS

  • "เศรษฐา" ระบุว่า แม้ประเทศไทยในตอนนี้จะไม่มีแผนการสร้างโรงไฟฟ้าประเภทนิวเคลียร์ แต่ก็ได้ศึกษาเทคโนโลยีจาก EU, ฝรั่งเศส และจีน หวังนำมาเรียนรู้หากอนาคตต้องตัดสินใจจะสามารถที่จะตัดสินใจได้ถูกต้อง
  • "สนพ." บรรจุพลังงานนิวเคลียร์ในช่วงปลายแผน PDP 2024 ขนาด 600 เมกะวัตต์ รับต้องสร้างความเข้าใจด้านกฏระเบียบแก่ประชาชน
  • ไทยได้มีแนวคิดสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาด 600 เมกะวัตต์ ที่ชลบุรีเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1976 แต่ต้องเลื่อนโครงการออกไป เนื่องจากถูกกระแสต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่
  • วิกฤตการณ์น้ำมันโลกปลายคริสต์ทศวรรษ 2000 รัฐบาลทบทวนก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติ ปี 2011 – 2021 กำลังผลิตรวมไม่ต่ำกว่า 4,000 เมกะวัตต์ อนุมัติงบประมาณระหว่างปี 2008 – 2011 

รัฐบาลไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้พลังงานสะอาดเต็มสูบ จะเห็นได้ชัดว่า ในเวที เสวนา Thailand Energy Executive Forum จัดโดยสถาบันวิทยาการพลังงาน (วพน.) เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “จุดเปลี่ยนพลังงานไทยสู่ความยั่งยืน” โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของรัฐบาลเศรษฐา ในเวทีต่างๆ ที่ทั้งฝ่ายรัฐบาลและข้าราชการระดับสูงเริ่มที่จะหยั่งเชิงเสียงสาธารณะเกี่ยวกับการศึกษาเทคโนโลยีนิวเคลียร์อย่างจริงจัง  

นายเศรษฐา กล่าวว่า แม้ประเทศไทยในตอนนี้จะไม่มีแผนการสร้างโรงไฟฟ้าประเภทนิวเคลียร์ แต่ว่าหลายประเทศได้มีเทคโนโลยี ทั้งสหภาพยุโรป (EU) ฝรั่งเศส และจีน ซึ่งตรงนี้เราก็สามารถที่จะเรียนรู้และเก็บข้อมูลไว้ก่อนเพื่อที่ในอนาคตหากที่จะต้องตัดสินใจก็จะสามารถที่จะตัดสินใจได้ถูกต้อง   

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP 2024) โดยรายละเอียดร่างแผนฯ จะเปิดเผยพร้อมกันวันที่ 12-13 มิ.ย. 2567 นี้ ในการรับฟังความเห็น เบื้องต้นจะพยายามรักษาระดับราคาค่าไฟฟ้าไม่ให้เกิน 4 บาทต่อหน่วย จากแผนเดิม (PDP 2018) โดยค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.66 บาทต่อหน่วย 

ทั้งนี้ ในร่างแผนPDP 2024 ได้กำหนดสัดส่วนผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนมากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงขึ้นแต่ถือว่าไม่มากเพราะมีการพึ่งพาเทคโนโลยีไฟฟ้าที่หลากหลายเพื่อกระจายความเสี่ยง กระจายต้นทุน ทั้งพลังงานหมุนเวียน ก๊าซธรรมชาติ ไฮโดรเจน และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบโมดูล (SMR) ภายใต้ 3 เงื่อนไขสำคัญที่ประชาชนจะได้ประโยชน์ คือ 1.ความมั่นคงทางไฟฟ้า 2.ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ3.ควบคุมต้นทุนค่าไฟให้มากที่สุด

แผนPDP 2024 คาดการณ์ว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าช่วงปลายแผนในปี 2580 จะสูงถึง 5.5 – 5.6 หมื่นเมกะวัตต์ จากแผนเดิม 3.6 หมื่นเมกะวัตต์ ดังนั้น การผลิตไฟฟ้าใหม่จะต้องเพิ่มขึ้น โดยจะพิจารณาเป็นรายภาค โดยเฉพาะภาคใต้ และภาคเหนือ ที่ไฟฟ้าไม่เพียงพอความต้องการใช้  ซึ่งการกำหนดสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ต้องสอดคล้องกับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกลง 30-40% ในปี 2573 และเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2593 

นอกจากนี้ แผน PDP 2024 จะมุ่งเน้นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) มากขึ้นเป็นสัดส่วน 51% จากแผนเดิม 36% ของปริมาณการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด โดยสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีมากที่สุดถึง 30% ของพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด หรือประมาณ 2 หมื่นเมกะวัตต์ และการใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงผสมในก๊าซธรรมชาติ ในสัดส่วนการใช้ 5% ของการใช้ก๊าซฯ

สำหรับการกำหนดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) ถือเป็นทางเลือกเพื่อรักษาความมั่นคง เพราะด้วยเทคโนโลยีเปลี่ยนใช้พื้นที่เล็กลง ความปลอดภัยสูง ทุกประเทศมองเป็นทางเลือกสำคัญซึ่งในแผนจะมีขนาดเบื้องต้นที่ 600 เมกะวัตต์ จะเข้ามาช่วงปลายแผน เนื่องจากก่อนเปิดให้มีอย่างจริงจังจะต้องมีขั้นตอนของการขออนุญาตลงทุน รวมถึงการทำกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะในเรื่องของการสร้างความรู้ความเข้าใจถึงความปลอดภัย โดยขณะนี้ ประเทศพัฒนาแล้ว ได้นำพลังงานนิวเคลียร์กลับมาเป็นทางเลือกหลักของการนำมาสู่พลังงานสะอาดมากขึ้นแล้ว 

"หากดูตามกรอบจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.), คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมชาติ พิจารณา คาดว่าจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเพื่อประกาศใช้อย่างเป็นทางการในเดือนก.ย. 2567" 

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า พลังงานนิวเคลียร์ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของพลังงานที่สะอาด ไม่ก่อให้เกิดมลพิษและทำลายสิ่งแวดล้อม หากแต่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล และอยู่บนพื้นฐานความเชื่อมั่นของประชาชน 

ที่ผ่านมากระทรวงพลังงาน ได้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ศึกษาเทคโนโลยี Small Modular Reactors (SMR) ถือเป็นเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ ที่พูดคุยกันมานานแล้ว เพราะเครื่องปฏิกรณ์แบบแยกส่วนขนาดเล็กเป็นเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิชชันที่มีขนาดเล็กกว่าเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบทั่วไป ออกแบบโดยคำนึงถึงความเป็นรูปแบบโมดูลสำเร็จรูป 

อีกทั้ง จะมีกำลังไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ระดับ 100-300 เมกะวัตต์ หรือกำลังไฟฟ้าความร้อนที่ส่งออกน้อยกว่า 1,000 เมกะวัตต์ ถือเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของกำลังไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แบบปกติ ซึ่งการเลือกใช้เทคโนโลยี SMR มีผลดีในแง่การประหยัดงบประมาณการก่อสร้าง ติดตั้งง่าย มีความปลอดภัยสูง สามารถติดตั้งในพื้นที่ห่างไกล

"ที่ผ่านมาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เคยอยู่ในแผน PDP นานแล้ว พอเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิที่เกิดขึ้นในภูมิภาค Tohoku ของญี่ปุ่นส่งผลให้กระทบกับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในญี่ปุ่น เกิดการระเบิดของเตาปฏิกรณ์หลายครั้ง ทำให้สารกัมมันตภาพรังสีรั่วไหล ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ความปลอดภัยของพลังงานนิวเคลียร์ในภาพรวม" แหล่งข่าว กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่มีความทันสมัย ปลอดภัยมากขึ้น เทคโนโลยี SMR ถือเป็นเทคโนโลยีที่ทั้งโลกได้เห็นถึงความสำคัญและนิยมใช้ สนพ.จึงหารือกับกฟผ. และเสนอเป็นอีกทางเลือกเพราะสะอาด ต้นทุนต่ำ และปลอดภัย เพราะถ้าไม่ทำก็อาจเสียโอกาส ถือเป็นหน้าที่ของสนพ. ด้วยเทรนด์เทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยลดคาร์บอน อาทิ แอมโมเนีย ไฮโดรเจน และ การดักจับและกักเก็บคาร์บอน (ccs) ที่ยังมีต้นทุนสูง ดังนั้น ทุกอย่างอยู่ที่ภาคประชาชน และผู้มีอำนาจตัดสินใจ 

แหล่งข่าว กล่าวว่า ประเทศไทยได้มีแนวคิดเรื่องการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์นานแล้ว จากปัจจัยที่ไทยไม่สามารถผลิตพลังงานได้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ รัฐบาลได้อนุมัติโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาด 600 เมกะวัตต์ ที่จังหวัดชลบุรีเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1976 แต่ท้ายที่สุดจำเป็นต้องเลื่อนโครงการออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากถูกกระแสต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่

นอกจากนี้ จากการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติแห่งใหม่ในอ่าวไทย แม้ว่าเมื่อปี 1992 คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีมติเห็นชอบต่อการดำเนินโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ จำนวน 2 แห่งภายในปี 2006 แต่แนวทางการดำเนินการยังคงไม่ชัดเจน รัฐบาลได้ตัดสินใจปรับเปลี่ยนนโยบายด้วยการนำเข้าพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้าน และสนับสนุนให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าพลังงานทางเลือกมากขึ้น

อย่างไรก็ดี วิกฤตการณ์น้ำมันโลกครั้งล่าสุดช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 2000 ทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องทบทวนโครงการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในไทยอีกวาระหนึ่งอย่างจริงจัง โดยได้กำหนดแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติ ปี 2011 – 2021 ครอบคลุมโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่มีกำลังผลิตรวมไม่ต่ำกว่า 4,000 เมกะวัตต์ โดยได้อนุมัติงบประมาณระหว่างปี 2008 – 2011 สำหรับเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วน

โดยเลือกสถานที่ก่อสร้าง/เทคโนโลยีการผลิต ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สร้างความรู้ความเข้าใจแก่สาธารณชน และพัฒนาบุคลากรซึ่ง กฟผ. ตั้งงบประมาณ 240 ล้านบาท ระหว่างปี 2008 – 2010 สำหรับเตรียมความพร้อมในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ โดยเฉพาะการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาและการพัฒนาบุคลากร เลือกสถานที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่มีความเป็นไปได้แล้วรวม 4 จังหวัด คือ สุราษฎร์ธานี นครสวรรค์ ขอนแก่น และตราด

ทั้งนี้ สิ่งที่ทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย แบ่งเป็นประเด็นหลัก ๆ คือ กระแสต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์ของสังคม เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ขาดความเข้าใจและไม่มั่นใจในความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ และเสถียรภาพทางการเมือง ทำให้รัฐบาลไม่สามารถกำหนดนโยบายด้านพลังงานของไทยไปในทิศทางที่ชัดเจนและขาดการต่อเนื่องจนมาถึงรัฐบาลปัจจุบันที่ศึกษาอย่างจริงจังอีกครั้ง