ซินเจนทา ชู โครงการ ‘เพาะดี กินดี’ สร้างความมั่นคง อาหารปลอดภัยที่ยั่งยืน

ซินเจนทา ชู โครงการ ‘เพาะดี กินดี’ สร้างความมั่นคง อาหารปลอดภัยที่ยั่งยืน

7 มิถุนายน วันความปลอดภัยทางอาหารโลก ซินเจนทา ประเทศไทย เผยความคืบหน้าโครงการนำร่อง ‘เพาะดี กินดี’ เดินหน้าสร้างความมั่นคงและปลอดภัยทางอาหารอย่างยั่งยืน เผยเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้ว 4 กลุ่ม บนเนื้อที่เพาะปลูก 15 ไร่ ซึ่งผลผลิตที่ได้เกินคาด เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าตัว

นางสาววรรณภร วัฒนาเกษมสัตย์ ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืนทางธุรกิจ บริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด กล่าวว่า “โครงการ ‘เพาะดี กินดี’ (ภายใต้เสาหลักกลยุทธ์ความยั่งยืนทางเกษตรกรรมผ่านเครือข่ายเกษตรกรเพื่ออาหารปลอดภัย) เป็นโครงการที่ซินเจนทาได้ริเริ่มขึ้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของอาหาร นับเป็นจุดเริ่มต้นของการส่งเสริม และสนับสนุนให้เกษตรกรได้ทําการเกษตรแบบปลอดภัยตั้งแต่ต้นน้ำของการผลิตพืชไปจนถึงผู้บริโภค

ซินเจนทา ชู โครงการ ‘เพาะดี กินดี’ สร้างความมั่นคง อาหารปลอดภัยที่ยั่งยืน

โดยบริษัทได้ยึดตามมาตรฐานของ GAP (Good Agricultural Practices) เป็นมาตรฐานสากลในการใช้ควบคุมการผลิตพืชทั้งหลายให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งจะปลอดภัยตั้งแต่ตัวเกษตรกรที่เป็นผู้ปลูกผลผลิตในแปลง กระทั่งถูกส่งต่อไปยังผู้บริโภคในที่สุด และการปลูกพืชภายใต้มาตรฐาน GAP ยังส่งผลดีกับสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะเป็นการบริหารจัดการดูแลแปลงให้มีการใช้สารอารักขาพืชในปริมาณที่เหมาะสม และปลอดภัยไม่ใช้เกินความจําเป็น

โดยบริษัทมีทีมผู้เชี่ยวชาญคอยให้ความรู้และคำปรึกษาแก่เกษตรกร มีเทคนิคการผลิตอาหารปลอดภัย การใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ การป้องกันกำจัดศัตรูพืช ตลอดจนเชื่อมโยงเกษตรกรกับกลุ่มผู้บริโภค บริษัทมุ่งหวังที่จะพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรไทย ให้สามารถผลิตอาหารที่มีคุณภาพ มีโภชนาการที่ดีและปลอดภัย ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค”

 

นายดิเรก เครือจินลิ ผู้ประสานงานโครงการสิ่งแวดล้อมภาคเหนือ มูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวว่า “จากที่ได้ร่วมมือกัน ทำให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนจากเกษตรกรที่มีการรวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชนมากยิ่งขึ้น เดิมทีเคยต่างคนต่างทำ ต่างเผชิญปัญหาของตนเอง ตอนนี้สามารถแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันได้

ซินเจนทา ชู โครงการ ‘เพาะดี กินดี’ สร้างความมั่นคง อาหารปลอดภัยที่ยั่งยืน

นับเป็นเรื่องที่ดีที่เกิดขึ้นจากตัวโครงการฯ ที่ช่วยพัฒนาเกษตรกรให้มีความรู้ตั้งแต่เรื่องการเพาะปลูก ไปจนถึงสามารถจัดการผลผลิตให้ออกได้ตามปริมาณความต้องการของตลาดรับซื้อ และผลผลิตที่ได้ยังมีคุณภาพได้รับคําชมจากผู้รับซื้อปลายทางอีกด้วย ซึ่งเกษตรกรเองก็พึงพอใจในการเข้าร่วมโครงการนี้ เพราะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น มีรายได้ที่ดีขึ้น ตอนนี้ในโครงการฯ ส่งผักทั้งหมดขายไปแล้วกว่า 14 ตัน และกำลังวางแผนผักที่จะปลูกต่อไป เช่น ผักสลัด ข้าวโพดหวาน ถั่วลายเสือ กลุ่มผักหัว ผักใบ เช่น กะหล่ำปลี ผักกาดขาว และตระกูลกล้วยน้ำหว้า ซึ่งเป็นกลุ่มหลักๆ ที่เกษตรกรมองว่ามีทักษะ มีศักยภาพ และพื้นที่ที่เหมาะสมสามารถปลูกได้ทั้งปี”

 

นายธิติพันธ์ บุญมี ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คิว บ็อคซ์ พอยท์ จำกัด กล่าวว่า “ผักเป็นพืชที่มีความต้องการการบริโภคอย่างต่อเนื่องในทุกๆวัน แต่การผลิตนั้นยังไม่เพียงพอ ถ้าเกษตรกรสามารถผลิตในเชิงอุตสาหกรรมเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้ และผลิตได้อย่างแม่นยำก็จะสามารถแข่งขันหรือต่อรองกับตลาดได้ ยิ่งถ้าสร้างมูลค่าของสินค้าได้ มีมาตรฐานเกษตรปลอดภัยด้วยแล้ว ก็จะทําให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในตัวสินค้ามากยิ่งขึ้น

ดังนั้นในฐานะที่เป็นแพลตฟอร์มทางธุรกิจเกษตรที่ช่วยเชื่อมโยงผลผลิตจากเกษตรกรไปสู่ผู้ประกอบการหรือตลาดที่ต้องการผลผลิต จึงเข้ามาช่วยแมทชิ่งให้เกษตรกรได้ผลิตสินค้าตรงกับความต้องการของตลาด สามารถวางแผนการผลิตได้ล่วงหน้า เพื่อช่วยแก้ปัญหาราคาผลผลิตต่ำ ให้เกษตรกรสามารถจัดการการผลิตและทำธุรกิจเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับเกษตรกร ที่เข้าร่วมโครงการนี้“

ซินเจนทา ชู โครงการ ‘เพาะดี กินดี’ สร้างความมั่นคง อาหารปลอดภัยที่ยั่งยืน

 

นายปรีดา สมวถา ประธานกลุ่มวิสาหกิจผักปลอดภัยช่างเคิ่งบน และตัวแทนกลุ่มเกษตรกร กล่าวว่า “ได้เข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่แรกเริ่มต้นปี 2567 ก่อนหน้านี้ปลูกพืชทั่วไป ได้ราคาแพงบ้างถูกบ้างเป็นไปตามกลไกของตลาดในช่วงนั้นๆ แต่พอมาเข้าโครงการฯ ได้มีการตั้งราคาที่หน้าฟาร์ม เป็นราคาที่ตกลงกันได้ รู้ล่วงหน้า ทำให้สามารถวางแผนการปลูกได้ดีขึ้น รายได้ดีขึ้น แน่นอน มั่นคงกว่าเดิม และผักที่ปลูกเป็นไปตามมาตรฐาน GAP

ซึ่งตอนนี้ทางกลุ่ม ปลูกผักเคล ผักสลัด เช่น กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค เรดคอรัล มะเขือยาว มะเขือเจ้าพระยา มีราคารับซื้อที่เป็นธรรม ตอนนี้ทางกลุ่มวิสาหกิจใช้พื้นที่ปลูกที่ตำบลช่างเคิ่ง อําเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ และเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาได้ลองเริ่มปลูกผักเคล และคาดการณ์กันว่า 1 ไร่จะได้ผลผลิตประมาณ 400 กิโลกรัม/สัปดาห์ ภายใต้คำแนะนำในการปลูกของทีมงานผู้เชี่ยวชาญจากซินเจนทา สามารถได้ผลผลิตมากถึง 1 ตัน/สัปดาห์

ส่วนตัวมองว่าโครงการนี้ดี ทำให้เกษตรกรเข้าใจในการทําเกษตรอย่างปลอดภัย ทำให้สุขภาพของตนเองและครอบครัวปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ไม่ใช้สารเคมีเกินตามมาตรฐาน GAP ผลผลิตดีเพิ่มขึ้น ทำให้มีรายได้ที่มั่นคงมาจุนเจือครอบครัว และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย”

ซินเจนทา ชู โครงการ ‘เพาะดี กินดี’ สร้างความมั่นคง อาหารปลอดภัยที่ยั่งยืน

 

“เราภูมิใจที่โครงการนี้มีความก้าวหน้าและประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มผลผลิตที่มากกว่า 2 เท่าตัว ยังสามารถช่วยให้เกษตรกรบางรายสามารถปลดหนี้ได้
 

นอกจากนี้เกษตรกรยังสามารถนำรายได้ไปต่อยอดลงทุนสร้างโรงเรือนเพื่อปลูกผัก ปรับปรุงพื้นที่ทำระบบน้ำในแปลงให้มีคุณภาพดีขึ้น โครงการนี้ยังช่วยส่งเสริมการเรียนรู้การใช้นวัตกรรมใหม่และวิธีปฏิบัติใหม่ๆ ที่จะสามารถนำพาผลผลิตให้เป็นที่ต้องการของตลาดปัจจุบัน เพิ่มขีดความสามารถ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร โดยยกระดับการเกษตรของเกษตรกรผู้เข้าร่วมให้ผลิตพืชผักตามมาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย (GAP) และยังช่วยเชื่อมให้เกษตรกรได้เจอกับผู้จัดหาผลผลิตทางการเกษตร และตลาดจำหน่ายผลผลิต ทำให้เกษตกรเข้าใจมากขึ้นในมิติของการทำธุรกิจในการหาตลาดรับซื้อ และความจำเป็นในการผลิตให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน GAP ซึ่งสำคัญมากเพราะจะทำให้เกษตรกรมีตลาดรับซื้อที่แน่นอน และสามารถวางแผนการปลูกและการผลิตล่วงหน้า

อีกทั้งยังทราบราคารับซื้อล่วงหน้าได้ภายใต้แผนการทำงานร่วมกันกับผู้รับซื้อ รวมถึงการสนับสนุนนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อช่วยให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิต และลดต้นทุนการผลิตได้” นางสาววรรณภร กล่าวเสริม

 

ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ “เพาะดี กินดี” แล้วจำนวน 19 ราย บนพื้นที่ 15 ไร่ ประกอบด้วย 4 กลุ่มอำเภอ ได้แก่ 1. กลุ่มเกษตรกรบ้านช่างเคิ่ง อ.แม่แจ่ม 2. กลุ่มเกษตรกรบ้านแม่ปานสันเกี๋ยง อ.แม่แจ่ม 3. กลุ่มเกษตรกรบ้านห้วยบง นากลาง อ.แม่แจ่ม 4. กลุ่มเกษตรกรบ้านห้วยตอง อ.แม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยโครงการ “เพาะดี กินดี” เป็นการดำเนินโครงการร่วมกันระหว่างบริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด ร่วมกับมูลนิธิรักษ์ไทย, บริษัท คิวบ็อคซ์ พอยท์ จำกัด ผู้ผลิตแอพลิเคชั่น ฟาร์มบุ๊ค, เทศบาลตำบลแม่แจ่ม และองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ศึก

โดยความร่วมมือกันในครั้งนี้ถือเป็นความมุ่งมั่นร่วมกันในการยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรในประเทศไทย สร้างความมั่นคงทางอาชีพ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน  โดยเริ่มโครงการนำร่องที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ และขยายสู่เครือข่ายเกษตรกรในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่านและลำพูน ระยะเวลาตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 ถึงกันยายน 2569