‘การเปลี่ยนผ่านสีเขียว’ ประเด็นสำคัญช่วยบรรลุเป้าหมาย ‘Net Zero’
“การเปลี่ยนผ่านสีเขียว” (Green Transition) เป็นประเด็นที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ แต่ในเอเชียยังคงเป็นเรื่องใหม่ แม้ว่าธนาคารโลกจะบอกว่า เอเชียเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสีเขียวในหลาย ๆ ด้านก็ตาม และเป็นหนึ่งในวิธีที่บรรลุเป้าหมาย “เน็ตซีโร” (Net Zero) ได้
ธนาคารโลก เป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (Multilateral Development Banks) มีภารกิจของธนาคารโลกจึงเป็นการทำงานร่วมกับประเทศกำลังพัฒนา เพื่อสนับสนุนให้เกิดความเจริญในประเทศเหล่านั้น ลดความยากจน และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนบนโลกที่น่าอยู่ ด้วยการเป็นแหล่งเงินทุนและแหล่งข้อมูลเพื่อการพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดของประเทศที่กำลังพัฒนา
ธนาคารโลกทำงานเพื่อสนับสนุนประเทศต่าง ๆ ใน 3 ลักษณะ รูปแบบแรกคือ การช่วยเหลือทางการเงิน ทั้งในรูปแบบสินเชื่อ และการค้ำประกัน รูปแบบที่ 2 เป็นการให้ความรู้ด้านการพัฒนา และความช่วยเหลือด้านเทคนิค ส่วนรูปแบบสุดท้าย จะเป็นการประชุมกลุ่มประเทศพันธมิตร เพื่อกำหนดวาระการพัฒนาและวิธีแก้ปัญหาร่วมกันในประเด็นการพัฒนาที่สำคัญทั้งหมด
“การเปลี่ยนผ่านสีเขียว” เป็นหนึ่งในความสำคัญที่ธนาคารโลกให้ความสำคัญและกำลังทำงานร่วมกับประเทศสมาชิก รวมถึงในประเทศไทยโดยเป้าหมายของธนาคารโลกไม่ได้หยุดแค่การลดคาร์บอนที่เป็นส่วนสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ยังต้องคำนึงถึงความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อมด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น ความหลากหลายทางชีวภาพ
ดร. อรศรัณย์ มนุอมร ผู้เชี่ยวชาญด้านภาคการเงินอาวุโส ธนาคารโลกแห่งประเทศไทย อยู่ในทีมการแข่งขันทางการเงินและนวัตกรรมของธนาคารโลก ได้กล่าวในงาน Krungsri-MUFG ESG Symposium ถึงการทำงานร่วมกับภาคการเงินในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อส่งเสริมการเงินที่ยั่งยืน ใน 3 ระดับ ได้แก่ ตั้งแต่ระดับหน่วยงานกําหนดมาตรฐานสากลต่าง ๆ เช่นISSB, TCFD, IGMA, GFUN รวมถึงสนับสนุนรัฐบาลและหน่วยงานกํากับดูแลในการส่งเสริมการเงินที่ยั่งยืนเพื่อขยายตลาดทุนและการลงทุนบนคลาวด์ และทำงานร่วมกับผู้ออกหลักทรัพย์ของภาครัฐและเอกชน เพื่อทำธุรกรรมการเงินที่ยั่งยืนด้วย
ในปัจจุบันเอเชียเป็นภูมิภาคที่เผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะคลื่นความร้อน ในทางหนึ่งเราก็ต้องหาทางรับมือกับผลกระทบความเสียหายจากภาวะโลกร้อน แต่ขณะเดียวกันเอเชียก็กำลังเผชิญกับ “ความเสี่ยงเปลี่ยนผ่าน” (transition risk) ซึ่งความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในแง่นโยบาย กฎเกณฑ์ รวมถึงเทคโนโลยี ในการลดคาร์บอนและก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
ทั้งนี้ ดร. อรศรัณย์ กล่าวว่ายังมีโอกาสใหม่ ๆ มากมายในการลงทุน เพื่อจัดการกับความเสี่ยงและโอกาสเหล่านี้เช่นกัน
ธนาคารโลกมองว่า เอเชียเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสีเขียวในหลาย ๆ ด้าน และมีโครงสร้างพื้นฐานที่สร้างขึ้นเพื่อให้เกิดความยั่งยืน จากการสำรวจข้อมูลกับสถาบันการเงินในประเทศไทย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย พบว่ามีความตระหนักในประเด็น ESG สูงมาก และมีการนำปัจจัย ESG ไปใช้ประกอบการตัดสินใจทางการเงินค่อนข้างสูง จีนและญี่ปุ่นเองก็มีการออก ตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืนจำนวนมาก
รัฐบาลจึงจำเป็นต้องสนับสนุนนโยบายทางการเงินเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสีเขียว เพราะแนวคิดนี้ยังคงเป็นอะไรที่ใหม่มากในไทยหลายประเทศได้ออกแนวปฏิบัติเป็นของตนเองซึ่งโดยรวมแล้วมันไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว แต่ก็คล้ายคลึงกันบางอย่าง
ผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน (Transition Finance) ควรมุ่งไปสู่การลงทุนที่ยังไม่มีทางเลือกสีเขียวที่ชัดเจนในปัจจุบัน พร้อมหลีกเลี่ยงการลงทุนสินทรัพย์คาร์บอนสูงและไม่ขัดขวางการพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียวในอนาคต
นอกจากนี้กฎระเบียบ นโยบาย หรือแนวทางทางเทคนิคสามารถกำหนดเพิ่มเติมผ่าน มาตรฐานกลางที่ใช้อ้างอิงในการจำแนกและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม(Taxonomy) พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์ทางเทคนิคเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนการการเปิดเผยข้อมูลในการจัดเตรียมโครงการต่าง ๆ รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการ เช่น การกำกับดูแล แผนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตัวชี้วัด เป้าหมาย การรายงาน การตรวจสอบฯลฯ
แต่ละประเทศต่างตั้งเป้าหมายบรรลุ “เน็ต ซีโร” เป็นของตนเอง และมีข้อกำหนดกฎระเบียบแตกต่างกันไป ซึ่งทำให้ประเทศต่าง ๆ ก้าวเข้าสู่เป้าหมายช้าเร็วไม่เท่ากัน ระบุได้ว่าจะใช้เวลาเท่าไหร่ถึงจะสำเร็จ แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดในตอนนี้ คือ บริษัทต่าง ๆ หันมาใช้การเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากในปีที่แล้วตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว นับว่าเป็นแนวโน้มที่ดี
สำหรับงาน Krungsri-MUFG ESG Symposium เป็นงานสัมมนาใหญ่ภายใต้แนวคิด Net Zero World และ Transition in Action จัดโดย กรุงศรีธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ร่วมมือกับ มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) เพื่อแสดงวิสัยทัศน์และส่งต่อแนวคิด ตลอดจนโซลูชันที่ช่วยสนับสนุนธุรกิจในการทำแผนเปลี่ยนผ่าน ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันให้เกิดความยั่งยืนทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยจัดเมื่อวันพุธที่ 29 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.00-18.00 น. ณ โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพฯ ที่ผ่านมา
เคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กรุงศรีและ MUFG พร้อมให้คํามั่นว่าจะบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 และการดําเนินงานของกรุงศรีจะต้องเป็นศูนย์ในปี 2030 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเหล่านี้ ทางกรุงศรีจึงได้กำหนดให้การแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ เข้ากับกลยุทธ์การจัดการทางการเงินที่ยั่งยืน อีกทั้งสนับสนุนลูกค้าในการเปลี่ยนแปลงผ่านผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ยั่งยืน
กรุงศรีได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ESG เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ออกพันธบัตรที่คำนึงถึงเพศสภาพ (Gender bonds) และตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) และตราสารหนี้
เพื่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเล (Blue Bond) ครั้งแรกในประเทศไทย
เมื่อความเชี่ยวชาญทางการเงินในประเทศของกรุงศรีรวมกับความเชี่ยวชาญทางการเงินของ MUFG ระดับโลก ช่วยให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์และบริการของกรุงศรีเป็นไปตามมาตรฐานสากล และมีประสิทธิภาพ
อีกทั้งกรุงศรีและ MUFG ยังคงให้ความสำคัญเกี่ยวกับการแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคม พร้อมข้อมูลและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับหลักการ ESG สำหรับธุรกิจ ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Krungsri Business Talk, Krungsri Business Forum, Krungsri ESG Awards และ Krungsri ESG Academy
ขณะที่ ริชาร์ด ยอร์ก หัวหน้าฝ่ายองค์กรระดับโลกและวาณิชธนกิจสำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ของ MUFG Bank กล่าวว่า งานในวันนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในความร่วมมือระหว่าง MUFG กับกรุงศรี และยังเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาวิกฤติสภาพภูมิอากาศที่ทุกคนสามารถช่วยกันได้
การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของเอเชียต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน ในฐานะสถาบันการเงินชั้นนำของโลกทั้ง กรุงศรี และ MUFG มุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับคู่ค้าและพาร์ทเนอร์ทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง เพื่อบรรลุเป้าหมายสร้างสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม
“เราเชื่อในพลังของการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนยิ่งขึ้นสำหรับทุกคน พร้อมใช้ทรัพยากรและความเชี่ยวชาญขององค์กรและเครือข่ายระหว่างประเทศที่แข็งแกร่งของเราเพื่อสนับสนุนให้คู่ค้าสามารถเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero” ยอร์กกล่าวสรุป