ภาวะโลกร้อน-โรคพืช ดัน ‘น้ำส้ม’ ราคาพุ่งแรง

ภาวะโลกร้อน-โรคพืช ดัน ‘น้ำส้ม’ ราคาพุ่งแรง

ราคา “น้ำส้ม” พุ่งสูงลิ่ว หลังจากส้มในบราซิลและฟลอริดา แหล่งปลูกส้มรายใหญ่ของโลกมีจำนวนลดลง เนื่องจาก “โรคกรีนนิ่งในพืชตระกูลส้ม” (Citrus greening disease) และ “วิกฤติสภาพภูมิอากาศ”

KEY

POINTS

  •  วิกฤติสภาพภูมิอากาศและโรคในส้มที่เรียกว่า “โรคกรีนนิ่งในพืชตระกูลส้ม” (Citrus greening disease)  ทำให้เก็บเกี่ยวส้มได้น้อยที่สุดในรอบหลายทศวรรษ
  • เนื่องจากราคาน้ำส้มพุ่งสูง ทำให้ผู้ผลิตมีแนวโน้มที่จะ “ลดปริมาณส้มลง” โดยอาศัยการผสมน้ำลูกแพร์ น้ำแอปเปิ้ล และน้ำองุ่นในปริมาณที่มากขึ้นแทน
  • ตอนนี้ “วิกฤติน้ำส้ม” ได้เกิดขึ้นแล้วในญี่ปุ่น ผู้ผลิตหลายรายจำเป็นต้องระงับการขายน้ำส้มชั่วคราว เนื่องจากสู้ราคาไม่ไหว

รายงานจาก Fundecitrus สถาบันพัฒนาการปลูกส้มอย่างยั่งยืน และ CitrusBR ผู้ผลิตและผู้ส่งออกน้ำส้มรายใหญ่ของบราซิล กล่าวว่าวิกฤติสภาพภูมิอากาศและโรคในส้มที่เรียกว่า “โรคกรีนนิ่งในพืชตระกูลส้ม” (Citrus greening disease)  ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกส้มชาวบราซิลเก็บเกี่ยวพืชผลได้น้อยที่สุดในรอบหลายทศวรรษ

บราซิล” เป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำส้มรายใหญ่ที่สุดของโลก รายงานคาดว่าในปีนี้บราซิล โดยเฉพาะในรัฐเซาเปาลูและรัฐมินาเจอร์ไรส์ ซึ่งเป็นพื้นที่หลักในการปลูกส้ม จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณ 2,323,800 ล้านลัง (แต่ละลังหนักประมาณ 40.8 กิโลกรัม) ลดลง 24.36% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว 

หากการคาดการณ์ผลผลิตนี้เป็นจริง ปี 2024 จะกลายเป็นปีที่มีปริมาณส้มน้อยที่สุดนับตั้งปี 1988-1989

ขณะที่ สำนักข่าว Financial Times รายงานว่า รัฐฟลอริดา ผู้ผลิตน้ำส้มรายใหญ่อันดับสองของโลก ก็กำลังเผชิญกับการขาดแคลนอย่างรุนแรงเช่นกัน โดยเป็นผลมาจากโรคในส้มระบาดและสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย 

คีส คูลส์ ประธานสมาคมน้ำผักและผลไม้นานาชาติ หรือ IFU เปิดเผยกับ Financial Times โลกกำลังเผชิญ “วิกฤติ” การขาดแคลนส้ม “เราเจออะไรแบบนี้มาก่อน แม้แต่ในช่วงที่มีอากาศหนาวจัดและพายุเฮอริเคนขนาดใหญ่” คูลส์กล่าว

ผู้ผลิตน้ำส้มหลีกเลี่ยงปัญหาขาดแคลนน้ำส้มในระยะยาวด้วยการแช่แข็งสต็อกน้ำผลไม้ไว้จำนวนมาก ซึ่งเพียงพอต่อการผลิตได้นานถึง 2 ปี แต่ในตอนนี้สต็อกก็เริ่มร่อยหรอลง เนื่องจากมีส้มน้อยลงลง 3 ปีแล้ว

“โรคพืช - โลกร้อน” ทำส้มขาดตลาด

ปัญหาสำคัญที่ทำให้ส้มขาดแคลนคือการระบาดของโรคกรีนนิ่งในพืชตระกูลส้ม ซึ่งเป็นโรคที่ยังไม่วิธีการรักษา เกิดจากแบคทีเรียในแมลงกินพืช ทำให้ผลผลิตลดลง ส่วนส้มที่ได้จะไม่มีรสชาติ บางทีก็มีรสขม และมีรูปทรงบิดเบี้ยว โดยแพร่ระบาดครั้งแรกในฟลอริดาตั้งแต่ปี 2008

โรคกรีนนิ่งยิ่งสร้างผลกระทบร้ายแรงต่อปริมาณผลผลิต เมื่อเกิดวิกฤติสภาพภูมิอากาศควบคู่กันไปด้วย ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาปริมาณการผลิตน้ำส้มของฟลอริดาลดลงจาก 240 ล้านกล่องต่อปี เหลือเพียง 17 ล้านกล่องต่อปีเท่านั้น คูลส์กล่าวว่าผู้ผลิตน้ำส้มอาจจะต้องหันไปใช้ส้มสายพันธุ์อื่น เช่น ส้มแมนดาริน เนื่องจากสามารถปรับตัวต่อสภาพอากาศได้ดีมากกว่า ขณะที่ IFU พยายามล็อบบี้แก้กฏระเบียบด้านอาหารของสหประชาชาติผ่อนคลายลง โดยอนุญาตให้เติมผลไม้รสเปรี้ยวอื่น ๆ ลงในน้ำส้มได้ เพื่อแก้ปัญหานี้

แต่กฎหมายนี้อาจจะช้าเกินไป สิ้นเดือนพ.ค. 2024 ราคาซื้อขายล่วงหน้าของน้ำส้มเข้มข้นแช่แข็ง (FCOJ) ในตลาดนิวยอร์ก ปิดที่ 4.77 ดอลลาร์ต่อปอนด์เมื่อ เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าเทียบกับราคาเมื่อปี 2023

แฮร์รี แคมป์เบลล์ นักวิเคราะห์ข้อมูลตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ของกลุ่มวิจัย Mintec กล่าวว่าผู้ผลิตมีแนวโน้มที่จะ “ลดปริมาณส้มลง” โดยอาศัยการผสมน้ำลูกแพร์ น้ำแอปเปิ้ล และน้ำองุ่นในปริมาณที่มากขึ้นแทน

แต่ “แนวทางแก้ไข” อาจจะไม่ได้แก้ราคาส้มให้ลดลงได้ในระยะยาว เพราะการผสมน้ำผลไม้ชนิดอื่นลงในน้ำส้ม จะต้องมีการแปรรูปเพิ่มเติม รวมถึงเพิ่มการขนส่งผลไม้ชนิดอื่น ๆ เท่ากับเป็นการเพิ่มต้นทุน ส่งผลให้ราคาน้ำผลไม้เพิ่มขึ้นอยู่ดี

“ดูเหมือนว่าน้ำส้มจะมีราคาสูงขึ้นไปอีกนาน และจะยังคงปรับตัวสูงขึ้นจนกว่าจะถึงจุดที่ผู้บริโภคไม่เต็มใจที่จะจ่ายเงินแพง ๆ เพื่อซื้อน้ำส้มอีกต่อไป” แคมป์เบลล์กล่าว  

ฟรองซัวส์ ซอนเนวิลล์ นักวิเคราะห์เครื่องดื่มอาวุโสของ Rabobank บริษัทผู้ให้บริการทางการเงินและธนาคารข้ามชาติ เปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมา ความต้องการน้ำส้มของผู้บริโภคลดลงประมาณหนึ่งในห้า เนื่องจากราคาเพิ่มขึ้น “อุตสาหกรรมน้ำส้มทั่วโลกกำลังวิกฤติ” ซอนเนวิลล์กล่าว

 

“ญี่ปุ่น” ยกเลิกขายสินค้ารสส้มหลายชนิดชั่วคราว

ตอนนี้ “วิกฤติน้ำส้ม” ได้เกิดขึ้นแล้วในญี่ปุ่น ผู้ผลิตหลายรายจำเป็นต้องระงับการขายน้ำส้มชั่วคราว เพราะนอกจากจะขาดแคลนสินค้าแล้ว ค่าเงินเยนอ่อนค่ายังอีกเป็นสาเหตุที่ทำให้ราคาน้ำส้มในญี่ปุ่นพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากญี่ปุ่นต้องนำเข้าน้ำส้มเกือบทั้งหมด

ตามสถิติการค้าของกระทรวงการคลังญี่ปุ่น พบว่า ราคานำเข้าเฉลี่ยของน้ำส้มเข้มข้นแช่แข็งเพิ่มขึ้นจาก 293 เยนต่อลิตรในปี 2021 จากนั้นในปี 2023 เพิ่มขึ้นเป็น 550 เยน และในเดือนมกราคม-มีนาคม 2024 ราคาพุ่งขึ้นมาเป็น 706 เยน หรือราว 165 บาทต่อลิตร

การนำเข้าน้ำส้มแช่แข็งของญี่ปุ่นลดลงจาก 30.84 ล้านลิตรในปี 2020 เหลือเพียง 17.70 ล้านลิตรในปี 2022 แม้ว่าการนำเข้าน้ำส้มในปี 2023 จะเพิ่มขึ้นเป็น 37.38 ล้านลิตร  แต่น้ำส้มยังคงขาดแคลน เนื่องจากในปี 2021-2022 มีการนำเข้าน้ำส้มน้อย

Asahi Soft Drinks ผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่ของญี่ปุ่นได้หยุดขายผลิตภัณฑ์น้ำส้มบางส่วนในปี 2023 เช่นเดียวกับ Megmilk Snow Brand ได้ระงับการขายน้ำส้มบางส่วนด้วย ขณะที่ Morinaga บริษัทขนมและลูกกวาด จำเป็นต้องหยุดขายสินค้ารสส้มในเดือนมิถุนายนหรือหลังจากนั้น “เราเสียใจ แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะขายสินค้าต่อไป ท่ามกลางอุปทานน้ำผลไม้ที่ไม่แน่นอน” เจ้าหน้าที่ของบริษัทกล่าว

อย่างไรก็ตาม นาโอฮิโระ นิอิมูระ หัวหน้าร่วมฝ่ายที่ปรึกษาความเสี่ยงด้านตลาด กล่าวว่า ราคาน้ำส้มในปีนี้ อาจะขึ้นอยู่กับผลกระทบของ “ปรากฏการณ์ลานีญา” ที่จะเกิดขึ้นภายในครึ่งปีหลัง 

ในทางกลับกัน เจ้าหน้าที่ของบริษัทการค้าที่เชี่ยวชาญด้านน้ำผลไม้ ให้ความเห็นว่าราคาน้ำส้มจะยังคงสูงต่อไปเรื่อย ๆ เนื่องจากในปีนี้ส้มในบราซิลยังให้ผลผลิตไม่ดี และเป็นไปได้ที่ราคาขายปลีกของน้ำส้มปี 2025 จะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากปีนี้

 

ที่มา: Japan TimesSouth China Morning PostThe Conversation