‘ยุงลาย’ บุกยุโรป ผลพวง ‘ภาวะโลกร้อน’ ผู้ป่วย ‘ไข้เลือดออก’ เพิ่มขึ้น 2 เท่า

‘ยุงลาย’ บุกยุโรป ผลพวง ‘ภาวะโลกร้อน’ ผู้ป่วย ‘ไข้เลือดออก’ เพิ่มขึ้น 2 เท่า

“ไข้เลือดออก” เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าใน “สหภาพยุโรป” ในปี 2023 เนื่องจาก “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ทำให้ “ยุงลาย” แพร่พันธุ์ได้ง่ายขึ้น

กรมควบคุมโรคแห่งยุโรป หรือ ECDC เปิดเผยตัวเลขผู้ป่วยไข้เลือดออกภายในสหภาพยุโรปประจำปี 2023 มีสูงถึง 130 ราย เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าเมื่อเทียบกับปี 2022 ที่มีเพียง 71 ราย และในปี 2024 พบ “ยุงลาย” แพร่ระบาดแล้วใน 13 ประเทศทั่วอียู

แอนเดรีย แอมมอน ผู้อำนวยการ ECDC กล่าวว่า “ยุโรปเห็นแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังทำให้ยุงต่างถิ่นแพร่กระจายในพื้นที่ที่เคยไม่มียุงมาก่อนได้ดีขึ้น และทำให้ผู้คนป่วยเป็นโรคต่าง ๆ เช่น ไข้เลือดออกได้มากขึ้นเช่นกัน”

ข้อมูลล่าสุดจาก ECDC ยังเผยให้เห็นว่าการเดินทางออกนอกประเทศทำให้ผู้คนสามารถติดโรคไข้เลือดออกกลับมาได้ ในปี 2566 ชาวยุโรปมากกว่า 4,900 รายติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออก ขณะเดินทางไปต่างประเทศ ถือเป็นจำนวนผู้ป่วยนำเข้าสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มเฝ้าระวังในปี 2008 และเพิ่มขึ้นจาก 1,572 รายในปี 2022 ทำให้เป็นกังวลว่าอาจเพิ่มความเสี่ยงการระบาดในท้องถิ่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แม้ว่าปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อในยุโรปยังมีน้อย แต่ “เราจะเห็นการเพิ่มขึ้นในปีต่อ ๆ ไป” แอมมอนกล่าว

เดิมทีแล้วยุงลายกระจายพันธุ์ในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน ซึ่งเป็นที่ตั้งของทวีปเอเชีย แอฟริกา และอเมริกา แต่ปัจจุบัน “ภาวะโลกร้อน” ที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซเรือนกระจก จากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล ถ่านหิน น้ำมัน ทำให้ยุโรปมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น จนขึ้นชื่อว่าเป็นทวีปที่ร้านที่สุดในโลก ซึ่งเป็นสภาวะที่เหมาะสมกับการแพร่พันธุ์ของยุงลาย

ยุงสายพันธุ์ที่พบทั่วยุโรปในตอนนี้คือ “ยุงลายสวน” (Aedes albopictus) และ “ยุงลายเสือ” (Tiger mosquitoes) ซึ่งเป็นพาหะของไวรัสไข้เลือดออก ชิคุนกุนยา และไวรัสซิกา 

สำหรับประเทศที่มียุงลายอาศัยอยู่ได้แก่ ออสเตรีย บัลแกเรีย โครเอเชีย ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ฮังการี อิตาลี มอลตา โปรตุเกส โรมาเนีย สโลวีเนีย และสเปน นอกจากนี้ยังมีการพบยุงลายบริเวณท่าเรือของสหราชอาณาจักรหลายครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา 

แม้ว่าในตอนนี้ยุงจะยังไม่สามารถเข้ายึดครองสหราชอาณาจักรได้ แต่อีกไม่นานอาจเกิดการแพร่ระบาดของพวกมัน จากการศึกษาวิจัยในปี 2019 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of the Royal Society Interface ระบุว่า ยุงเหล่านี้สามารถแพร่ระบาดได้ทั่วทั้งอังกฤษและเวลส์ภายในทศวรรษ 2060

นอกจากในอียูแล้ว ปี 2023 ยังเป็นปีที่ทั่วโลกพบจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยมีผู้ป่วยที่ได้รับรายงานมากกว่า 6.5 ล้านรายในกว่า 80 ประเทศ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากไข้เลือดออกถึง 7,300 ราย และทำให้ไข้เลือดออกกลายเป็นโรคไวรัสที่มียุงเป็นพาหะที่แพร่กระจายเร็วที่สุดในโลก

องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ระบุว่า ก่อนทศวรรษ 1970 มีเพียง 9 ประเทศเท่านั้น ที่บันทึกการระบาดของโรคไข้เลือดออกอย่างรุนแรง แต่เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นและเกิดการเดินทางเพื่อการค้าขายทั่วโลกเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้โรคสามารถระบาดได้ง่ายขึ้น

“ปรากฏการณ์เอลนีโญ” และ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปี 2023 เป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนและความชื้นสูงขึ้น ซึ่งเป็นสภาวะที่เอื้ออำนวยต่อการขยายพันธุ์ของยุง เช่นเดียวกับน้ำท่วมที่เกิดจาก

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสามารถทำให้เกิดการแพร่เชื้อไวรัสได้มากขึ้น โดยแหล่งน้ำขังจะเป็นสถานที่เพาะพันธุ์ยุงลายชั้นดี

นอกจากนี้ WHO ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าโรคที่มียุงเป็นพาหะมักจะแพร่ระบาดหนัก ในประเทศที่เผชิญกับความไม่มั่นคงทางการเมืองและการเงิน ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากการอพยพย้ายถิ่นฐานของประชากรจำนวนมาก และระบบสุขภาพอ่อนแอลงจากการแพร่ระบาดของโควิด

ECDC ระบุว่า ยุงกำลังบุกพื้นที่อื่น ๆ ของยุโรปเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวล เนื่องจากยุงดูดเลือดมนุษย์เป็นอาหาร ทำให้แพร่เชื้อโรคได้โดยตรง พร้อมแนะนำให้ประชาชนกำจัดน้ำขังตามสวนหรือระเบียงบ้านที่สามารถเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงได้ ใช้ผลิตภัณฑ์ไล่ยุง ตลอดจนติดมุ้งลวดที่หน้าต่างและประตู

ในตอนนี้ไม่ใช่แค่ไข้เลือดออกที่เป็นปัญหาของยุโรป ยุงยังพาโรคต่าง ๆ มาอีกด้วย อย่างเช่น ไซปรัสเจอกับ “ไข้เหลือง” มาตั้งแต่ปี 2022 เมื่อเดือนมีนาคม 2024 สเปนรายงานว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ ในเมืองเซบิยา โดย ECDC ระบุว่า ช่วงต้นปีมีสภาพภูมิอากาศที่สูงขึ้นเหมาะสมต่อการแพร่พันธุ์ 

ขณะที่อิตาลีเผชิญหน้ากับโรคมาลาเรีย จากยุงก้นปล่อง ทั้งที่อิตาลีไม่เคยเจอโรคนี้มานานถึง 50 ปี ทำให้เกิดความกังวลว่าโรคมาลาเรียอาจจะระบาดในยุโรปในอนาคต หากอุณหภูมิสูงขึ้นเป็นไปตามเงื่อนไขการขยายพันธุ์ของยุง

เนื่องด้วยยุโรปตั้งอยู่ในเขตอบอุ่น ทำให้ขาดการลงทุนในระบบสาธารณสุขและการรักษาพยาบาล ที่เกี่ยวข้องกับโรคเขตร้อน ซึ่งไม่ค่อยเกิดขึ้นในอดีต แต่ปัจจุบันกำลังแพร่หลายมากขึ้นในยุโรป อาจส่งผลร้ายแรงตามมา

ดร.รามาน เวลายุธาน หัวหน้าหน่วยงานด้านสุขภาพของหน่วยงานด้านสุขภาพแห่งสหประชาชาติ เตือนถึงการแพร่กระจายของไวรัสทั่วโลกที่น่ากังวลอย่างยิ่ง ตั้งแต่ในปี 2565 ซึ่งเป็นช่วงที่วิกฤติสภาพภูมิอากาศเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญ

ขณะที่ ศ.เรเชล โลว์ ผู้นำกลุ่มการฟื้นฟูด้านสุขภาพระดับโลกจากสเปน กล่าวว่าหากอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการเพิ่มขึ้นประชากรโลกยังคงอยู่ในระดับนี้ต่อไปเรื่อย ๆ จำนวนคนที่อยู่อาศัยในพื้นที่มีการระบาดโรคที่มียุงเป็นพาหะจะเพิ่มขึ้นสองเท่า เป็น 4,700 ล้านคน ภายในสิ้นศตวรรษนี้

ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปพยายามหาวิธีการป้องกันยุงให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะฝรั่งเศสที่กำลังจะจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในเดือนกรกฎาคม เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขของฝรั่งเศสกล่าวก่อนหน้านี้ว่า ทางการเตรียมพร้อมรับมืออย่างเต็มที่ ต่อเชื้อโรคทุกชนิดที่อาจแพร่ระบาดในระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก


ที่มา: BBCEuro NewsIndependent