สศก. ชูความมั่นคงด้านอาหารรับมือสภาพอากาศเปลี่ยน บนเวทีสหประชาติ
สศก. ผลักดันประเด็นด้านการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร ในเวที อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มั่นใจเกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคเกษตรและต่อประเทศ
นางสาวกาญจนา ขวัญเมือง รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก. ในฐานะผู้ประสานหลักการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตร และฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร ได้เข้าร่วมการประชุมองค์กรย่อยภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศประจำปี พ.ศ. 2567 รวมทั้งได้ร่วมการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ณ เมืองบอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ระหว่างวันที่ 3 - 13 มิถุนายน 2567 โดยมีภาคีสมาชิกและรัฐสมาชิกที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ (Parties and observer States) จำนวน 187 ประเทศ และองค์กรผู้สังเกตการณ์อื่น (Observer organizations) จำนวน 889 องค์กร เข้าร่วม
สำหรับการประชุมองค์กรย่อย (The Subsidiary Body: SB) ภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ ประกอบด้วย การประชุมองค์กรย่อยเพื่อให้คำปรึกษาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (The Subsidiary Body for Scientific and Technological Advice: SBSTA) และการประชุมองค์กรย่อยด้านการดำเนินงาน (The Subsidiary Body for Implementation: SBI) โดย SBSTA มีหน้าที่นำเสนอข้อมูลและคำแนะนำทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยให้กับภาคีสมาชิก ส่วน SBI มีหน้าที่ประเมินและทบทวนประสิทธิผลของการดำเนินการกรอบอนุสัญญาฯ ตามความตกลงปารีสในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ในปี พ.ศ. 2643 (ค.ศ. 2100)
การประชุมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 60 (SBSTA 60 และ SBI 60) ซึ่งประเทศไทยในฐานะภาคีสมาชิกในกลุ่ม Non Annex I และกลุ่มย่อย G77 and China ได้ร่วมหารือการดำเนินงานและติดตามประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การพิจารณาสถานการณ์และการดำเนินงานระดับโลกด้านการปรับตัว การลดก๊าซเรือนกระจก การเกษตร ความโปร่งใส เทคโนโลยี เพศ ชุมชนท้องถิ่นและชนพื้นเมือง และการเสริมสร้างขีดความสามารถ ซึ่งผลจากการประชุมองค์กรย่อยฯ จะพัฒนาต่อเนื่องไปสู่การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ สมัยที่ 29 (COP 29) ในเดือนพฤศจิกายน 2567
การประชุมครั้งนี้ ผู้แทน สศก. ได้รับมอบจากกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้ประสานกลางการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศให้รับผิดชอบการประชุมในประเด็นด้านการเกษตร หรือ Sharm el-Sheikh joint work on implementation of climate action on agriculture and food security ภายใต้ SBSTA ครั้งที่ 60 และ SBI ครั้งที่ 60 โดยภาคีสมาชิกมีฉันทามติในแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน ได้แก่ การพัฒนาเว็บไซต์สำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูล ชาร์ม เอล เชค หรือ Sharm el-Sheikh online portal เพื่อเป็น platform ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลโครงการ ข้อริเริ่ม และนโยบาย ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร โดยจะดำเนินการในปีนี้ ช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน - พฤศจิกายน 2567
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีฉันทามติ กำหนดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ใน 2 หัวข้อ ได้แก่
1) วิธีการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ระบบอาหาร และความมั่นคงทางอาหาร อย่างเป็นระบบและองค์รวม ซึ่งจะดำเนินการในช่วงการประชุม SB 62 ในเดือนมิถุนายน 2568
และ 2) ความก้าวหน้า ความท้าทาย และโอกาส ของการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งจะดำเนินการในช่วงการประชุม SB 64 คาดว่าในมิถุนายน 2569
ทั้งนี้ นับเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญของการดำเนินงานความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรและความมั่นคงทางด้านอาหาร และจะได้รายงานความก้าวหน้าความร่วมมือด้านเกษตรและความมั่นคงทางอาหารนี้ในรายงานการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ สมัยที่ 31 (COP 31) ในเดือนพฤศจิกายน 2569
โดย สศก. จะได้ติดตามและพิจารณานำผลจากความร่วมมือดังกล่าวเป็นแนวทางการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคเกษตรและต่อประเทศ และเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของไทยภายในปี พ.ศ. 2608 (ค.ศ. 2065) ต่อไป