‘ยูโร 2024’ ลด ‘ก๊าซคาร์บอน’ ไม่เข้าเป้า แฟนบอล - นักเตะแห่นั่งเครื่องบิน
ยูฟ่าตั้งเป้าจะปล่อยก๊าซคาร์บอนตลอดการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2024 ประมาณ 490,000 ตัน พร้อมมอบบัตรโดยสารขนส่งสาธารณะให้ผู้ที่มีตั๋ว กระตุ้นให้แฟนบอลเลิกนั่งเครื่องบิน ที่เป็นตัวปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่กลับไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะยอดจองตั๋วเครื่องบินยังพุ่งสูง
KEY
POINTS
- ยูฟ่าตั้งเป้าปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดการแข่งขัน “ยูโร 2024” ประมาณ 490,000 ตัน หวังจะให้เป็นการแข่งขันฟุตบอลที่ยั่งยืนที่สุด โดยยูฟ่าจะมอบเงิน 25 ยูโร ต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่เกิดขึ้น 1 ตัน
- ภาคขนส่งสาธารณะเป็นแหล่งปล่อยก๊าซคาร์บอนมากถึง 80% ของการจัดงานครั้งนี้ ทำให้ยูฟ่ามอบบัตรโดยสารระบบขนส่งสาธารณะให้แก่ผู้ที่มีตั๋วการแข่งขัน โดยสามารถใช้ได้ 36 ชั่วโมง
- แต่กลยุทธ์นี้ดูเหมือนจะใช้ไม่ได้ผลมากนัก เพราะผู้คนยังคงใช้การเดินทางโดยเครื่องบินจำนวนมาก ยอดจองตั๋วเที่ยวบินในเยอรมนีในช่วงระหว่างการแข่งขันเพิ่มขึ้น 39% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา
“การแข่งขันฟุตบอลยูโร 2024” หรือ “บอลยูโร” งานกีฬาที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลกได้เปิดฉากเริ่มขึ้นแล้ว และกำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือดเข้าไปทุกขณะ แต่ขณะเดียวกันการจัดงานใหญ่ขนาดนี้ก็ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศด้วยเช่นกัน
ปกติแล้วการจัดกิจกรรมขนาดใหญ่ระดับโลก จะต้องกำหนดกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบในการจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นระหว่างการแข่งขัน เมื่อผู้คนจำนวนมากเดินทางมายังสถานที่แห่งเดียวพร้อมๆ กัน
ที่ผ่านมาการแข่งขันกีฬาขนาดใหญ่ เช่น ฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ ตั้งเป้าจัดงานแบบความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ปล่อยก๊าซคาร์บอนเท่าไรจะชดใช้คืนเท่านั้น ส่วนงาน “โอลิมปิก 2024” ที่กำลังจะจัดขึ้นในเดือนก.ค. 2024 ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศสก็ตั้งเป้าเป็นงานกีฬาที่รักษ์โลกที่สุดที่เคยมีมา แต่คำอ้างเหล่านี้ก็ยังไม่มีวิธีที่สามารถตรวจสอบได้จริง หรือแม้แต่ “ยูโร 2024” ที่ยูฟ่าตั้งเป้าเป็นการแข่งขันบอลยูโรที่ยั่งยืนที่สุดตลอดกาลก็ตาม
ยูฟ่าตั้งเป้าจะปล่อยก๊าซคาร์บอนตลอดการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2024 ประมาณ 490,000 ตัน ซึ่งน้อยกว่าฟุตบอลโลกในกาตาร์เมื่อสองปีก่อนที่ปล่อยไปประมาณ 3,630 ล้านตัน ยูฟ่าจะมอบเงิน 25 ยูโร หรือประมาณ 928 บาท ต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่เกิดขึ้น 1 ตัน เพื่อเป็นกองทุนภูมิอากาศ ให้แก่ฟุตบอลทีมชาติเยอรมนี ใช้เป็นเงินสำหรับพัฒนาด้านความยั่งยืน ซึ่งคาดว่าจะบริจาคงานทั้งหมดประมาณ 7 ล้านยูโร หรือราว 275,203,570 บาท
ดังนั้นยูฟ่าพยายามลดผลกระทบด้านคาร์บอนของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้ชม ผู้จัดงาน และทีมนักเตะ ด้วยการใช้สนามกีฬาที่มีอยู่ ไม่สร้างเพิ่มเติม ใช้พลังงานหมุนเวียนในบริเวณสถานที่แข่งขันให้ได้มากที่สุด รวมถึง แบ่งการแข่งขันออกเป็น “คลัสเตอร์” เพื่อจำกัดการเดินทางของทีม และแฟนบอล ลดการใช้น้ำ กำจัดของเสียให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพิ่มวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ให้สูงสุด และใช้บรรจุภัณฑ์อาหารที่สามารถรีไซเคิลได้
นอกจากนี้ ยังเลือกรับสปอนเซอร์ที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยไม่มีบริษัทก๊าซ น้ำมัน หรือระบบสาธารณูปโภคเป็นพาร์ตเนอร์ในการจัดงานครั้งนี้ ทั้งนี้ Carbon Market Watch องค์กรตรวจสอบนโยบายคาร์บอน ระบุว่า ยูฟ่าว่ามีกลยุทธ์ที่ดี แต่ไม่สามารถจัดการให้เกิดขึ้นจริงได้
ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไม่สำเร็จ เพราะยังนั่งเครื่องบิน
เนื่องจากภาคขนส่งสาธารณะเป็นแหล่งปล่อยก๊าซคาร์บอนมากถึง 80% ของการจัดงานครั้งนี้ ทำให้ยูฟ่ามอบบัตรโดยสารระบบขนส่งสาธารณะให้แก่ผู้ที่มีตั๋วการแข่งขัน โดยสามารถใช้ได้ 36 ชั่วโมง และมีการมอบส่วนลดสำหรับการซื้อตั๋วรถไฟทางไกล
แต่กลยุทธ์นี้ดูเหมือนจะใช้ไม่ได้ผลมากนัก เพราะผู้คนยังคงใช้การเดินทางโดยเครื่องบินจำนวนมาก จากการสำรวจพบว่า การจองตั๋วเที่ยวบินในเยอรมนีซึ่งเป็นเจ้าภาพการแข่งขันยูโร 2024ในช่วงระหว่างการแข่งขันเพิ่มขึ้น 39% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา ขณะที่เที่ยวบินจากอังกฤษไปเยอรมนีเพิ่มขึ้นสูงถึง 200%
นอกจากนี้ ยูฟ่าพยายามให้ทีมฟุตบอลชาติต่างๆ คำมั่นว่าจะไม่เดินทางด้วยการบิน แต่มีเพียงเยอรมนี โปรตุเกส และสวิตเซอร์แลนด์เท่านั้นที่ลงนาม โดยทีมชาติอังกฤษยังคงโดยสารเครื่องบินเพื่อไปแข่งขันกับเซอร์เบีย และสโลวีเนีย ยิ่งตอกย้ำว่ายูฟ่าสอบตกในการจัดการปัญหาดังกล่าว
พัฒนาเครื่องคำนวณรอยเท้าคาร์บอน
ยูฟ่าพยายามสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการแข่งขันฟุตบอลให้ดียิ่งขึ้น ผ่านการพัฒนาเครื่องคำนวณรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint Calculator) ซึ่งเป็นเครื่องมือออนไลน์ ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้สโมสรฟุตบอลสามารถจัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ ตั้งแต่การเดินทาง รวมถึงสินค้าที่ซื้อ สิ่งอำนวยความสะดวก และบริการต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วย
“เครื่องคำนวณรอยเท้าคาร์บอนของยูฟ่า แสดงให้เห็นว่าฟุตบอลสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งเป็นปัญหาระดับโลกได้ ” ลอร่า แม็คอัลลิสเตอร์ รองประธานยูฟ่าอธิบาย
แต่ยูฟ่ากลับไม่ได้รวมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเดินทางของผู้ชม ซึ่งมีปริมาณมากที่สุดเข้าไปด้วย
บาสเตียน บอนเนต์-ก็องตาลลูบ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายด้านการลดการปล่อยคาร์บอนในการบิน และการขนส่งของ Carbon Market Watch กล่าวว่า โครงการของยูฟ่าเป็นความก้าวหน้าที่ดี แต่ยังขาดรายละเอียดสำคัญเกี่ยวกับวิธีการบันทึกการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลกระทบมากที่สุด และไม่รู้ว่ายูฟ่าจะลดปริมาณการปล่อยก๊าซลงอย่างไร”
สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่ายูฟ่ายังคงให้ความสำคัญแค่ในส่วนความรับผิดชอบของตนเอง และล้มเหลวในการจัดการกับองค์ประกอบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งก็คือ เที่ยวบินของแฟนบอล และนักกีฬา การรวมผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศเหล่านี้ไว้ในกลยุทธ์ความยั่งยืนของยูฟ่า และการสรุปมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างชัดเจน จึงถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญ
การสำรวจที่จัดทำโดยนักฟุตบอลหญิง เอมี เจมส์-เทิร์นเนอร์ พบว่า 65% ของนักเตะเห็นด้วยว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อฟุตบอลทั้งใน และนอกสนาม และ 70% รู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อสภาพการเล่นฟุตบอลอาชีพของพวกเขา
ที่มา: BBC, Carbon Market Watch, Earth
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์