‘TPIPP’ ลุ้น พ.ร.บ. 'Climate Change' บังคับใช้ หนุนไทยสู่สังคมไร้คาร์บอน

‘TPIPP’ ลุ้น พ.ร.บ. 'Climate Change' บังคับใช้ หนุนไทยสู่สังคมไร้คาร์บอน

“ภัคพล” ชี้ความท้าทายของพลังงานสะอาดในไทย ยังขาดกลไกตลาดคาร์บอนเครดิตและการเก็บภาษีคาร์บอน ธุรกิจไม่มีแรงกระตุ้น เชื่อหลังจาก พ.ร.บ. Climate Change มีผลบังคับก็คาดว่าจะหนุนไทยก้าวสู่สังคมไร้คาร์บอนอย่างจริงจัง

นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP กล่าวในงานสัมมนา “Investment Forum 2024: เจาะขุมทรัพย์ลงทุน…ยุคโลกเดือด” จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ ในหัวข้อ ”Trends & Challenges Renewable Energy Investment“ ว่า แนวโน้มของการลงทุนในพลังงานสะอาดเป็นไปในนทิศทางเดียวกับเมกะเทรนด์ของโลก ที่คำนึงถึงเรื่อง Climate Change ในสถาการณ์ที่โลกกำลังร้อนขึ้นและมีขยะมีมากขึ้น ยิ่งตอกย้ำว่าเทรนด์ในอนาคตจะเกี่ยวข้องกับการทรานส์ฟอร์มไปสู่การใช้พลังงานสะอาด (Cleaner และ Greener)

ซึ่งสอดคล้องกับที่ประเทศไทยได้ประกาศจุดยืนร่วมกับนานาประเทศบนเวที COP และได้ทำข้อตกลงว่าภายในปี 2025 จะมีการลดโรงไฟฟ้าที่มาจากการใช้น้ำมัน และเริ่มใช้โรงไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียนและในปี 2065 ไทยจะต้องเป็นสังคมไร้คาร์บอน (Net Zero)

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของพลังงานสะอาดในไทย คือยังไม่มีตลาดคาร์บอนเครดิตและการเก็บภาษีคาร์บอน ทำให้บริษัทในไทยยังไม่เห็นความสำคัญของการนำแนวคิด ESG เข้ามาอยู่ในกระบวนการผลิต

ทั้งนี้ เชื่อว่าหลังจาก พ.ร.บ. Climate Change มีผลบังคับก็คาดว่าจะทำให้ไทยตื่นตัวและก้าวสู่สังคมไร้คาร์บอนและพลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจัง

“ตลาดยุโรปตลาดคาร์บอนเครดิตขายได้ประมาณ 90 ยูโรต่อตันคาร์บอน ที่จีนจะขายได้ 7 ดอลลาร์ต่อตันคาร์บอน แต่ไทยในปัจจุบันยังไม่มีตลาดคาร์บอน”

โดย TPIPP มุ่งที่จะเป็นผู้นำทางด้านการนำขยะไปสู่พลังงาน โดยจะต้องเป็นบริษัท Net Zero พร้อมกับ ESG รวมถึงการสร้างระบบนิเวศภายในบริษัทให้เป็น Zero Waste และในอนาคตจะต้องยั่งยืน

นายภัคพล กล่าวว่า TPIPP ทำธุรกิจโรงไฟฟ้าโดยเริ่มต้นธุรกิจครั้งแรกในปี 2009 มีกำลังผลิต 60 เมกะวัตต์ มาจากการใช้พลังงานความร้อนทิ้งที่มาจากบริษัทแม่ ส่วนปี 2022 มีกำลังผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 440 เมกะวัตต์ สัดสว่นพลังงานความร้อนทิ้ง 40 เมกกะวัตต์ และมีพลังงานจากขยะ 180 เมกะวัตต์ ส่วนอีก 220 เมกะวัตต์คือถ่านหิน

หลังจากนั้นปี 2024 พลังงานความร้อนทิ้งเหลือ 40 เมกะวัตต์เท่าเดิม ส่วนพลังงานขยะเพิ่มขึ้นเป็น 250 เมกะวัตต์ โดยมีโซลาร์เพิ่มมา 37 เมกะวัตต์ และอีก 150 เมกะวัตต์ยังเป็นถ่านหิน

ขณะที่เป้าหมายของบริษัทหลังจากปี 2026 จะมีเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็น 540 เมกะวัตต์ โดยที่ 40 เมกกะวัตต์ ยังเป็นความร้อนทิ้ง ส่วน 79 เมกะวัตต์จะเป็นโซลาร์ ขณะที่อีก 420 เมกะวัตต์จะเป็นพลังงานขยะ และถ่านหินจะกลายเป็นศูนย์