สินทรัพย์ดิจิทัลสีเขียวบูม Wave BCG ลุยโทเคนหนุนใบรับรองพลังงานหมุนเวียน
ทิศทางสินทรัพย์ดิจิทัลสีเขียวขยายตัวสูง Wave BCG เตรียมออกโทเคนหนุนใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (RECs) ร้อมร่วมลงทุนสินทรัพย์โทเคนดิจิทัล 500 ล้าน คาดว่ามูลค่าโทเคนดิจิทัลที่จะออกและเสนอขาย 1,000 ล้านบาท เพื่อสร้างความมั่นใจนักลงทุนเล็งเปิดขายปลายปีนี้
นายเจมส์ แอนดริว มอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเวฟ บีซีจี จำกัด หรือ WAVE BCG ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท เวฟ เอกซ์โพเนนเชียล จำกัด (มหาชน) หรือ WAVE เปิดเผยว่า บริษัทและบริษัท ไคลเมท ออฟเซ็ท แอ็คเซลเลอเรเทอร์ จำกัด ได้ร่วมกับบริษัท โทเคน เอกซ์ จำกัด ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล ซึ่งอยู่ภายใต้กลุ่มธุรกิจทางการเงินเอสซีบี เอกซ์ (SCBX) ในการศึกษาความเป็นไปได้ในการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่มีใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Certificates: Energy RECs) เป็นสินทรัพย์อ้างอิง มาตรฐานสากล I-REC(E)
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 คณะกรรมการได้มีมติอนุมัติลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนในใบรับรองพลังงานหมุนเวียน จำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 500ล้านบาท ของมูลค่าโทเคนที่คาดว่าจะออก และเสนอขาย ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท โดยบริษัท ไคลเมท ออฟเซ็ท แอ็คเซลเลอเรเทอร์ จำกัด
การที่คณะกรรมการของบริษัทได้อนุมัติการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นจุดเริ่มต้นตาม Roadmap เพื่อนำไปสู่การเสนอขายนักลงทุนรายใหญ่และประชาชนทั่วไปเมื่อได้รับอนุญาตจากสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
บริษัทได้มีการเข้าลงทุนในใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (RECs) เพื่อนำมาชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานในอนาคตอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา จนทำให้ในปัจจุบันเป็นหนึ่งในผู้ถือครองใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (RECs) รายใหญ่ที่สุดในประเทศ
ในขณะเดียวกัน ยังได้มีการศึกษาเรื่องการนำใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (RECs) มาเป็นสินทรัพย์หรือโครงการอ้างอิงสำหรับการออกโทเคนดิจิทัล เพื่อสนับสนุนให้มีการตระหนักรู้สำหรับการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากพลังงานแก่ภาคเอกชนและสนับสนุนให้ประเทศไทยมีความสามารถในการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ
ตามที่บริษัทฯ ได้ดำเนินการศึกษานำไปสู่โอกาสในการออกและเสนอโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนของ บริษัท ไคลเมท ออฟเซ็ท แอ็คเซลเลอเรเทอร์ จำกัด เพื่อเข้าสู่เป้าหมายในการรองรับสินทรัพย์ดิจิทัลสีเขียวและเพื่อสนับสนุนให้ภาคเอกชนไทยมีความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลก
พร้อมกับการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศตามที่รัฐบาลและประเทศได้ประกาศไว้ซึ่งมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 30-40 ในปี พ.ศ. 2573 รวมทั้งการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี พ.ศ.2593 และปี พ.ศ.2608 ตามลำดับ
“บริษัทฯ เห็นโอกาสการมีส่วนร่วมเพื่อเข้าลงทุนในโครงการสินทรัพย์ดิจิทัลสีเขียวดังกล่าวในฐานะ Anchor Investor สำหรับโครงการโดยมีวัตถุประสงค์สร้างความมั่นใจให้นักลงทุนที่อาจขาดความรู้ด้านตลาดคาร์บอน พลังงานสะอาด และสินทรัพย์อ้างอิงของโทเคนดิจิทัล โดยจะดำเนินการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องและคำนึงถึงผลประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับบริษัทฯ และผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ เป็นสำคัญ โดยจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2567 “นายเจมส์กล่าว
ทั้งนี้ การออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนในใบรับรองพลังงานหมุนเวียนนี้จำเป็นจะต้องได้รับการอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ก่อนที่จะสามารถดำเนินการได้