‘Google’ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกทำลายสถิติ ใช้พลังงานเทรน AI - ดาต้าเซ็นเตอร์

‘Google’ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกทำลายสถิติ ใช้พลังงานเทรน AI - ดาต้าเซ็นเตอร์

เป้าหมายมุ่งสู่เน็ตซีโร่ ของ Google อาจจะเป็นไปได้ยาก หลังจากในปี 2566 Google ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แตะระดับ 14.3 ล้านเมตริกตัน สาเหตุหลักมาจากการใช้พัฒนาเอไอให้มีความสามารถมากขึ้น

KEY

POINTS

  • ในปี 2566 Google ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น 13% แตะระดับ 14.3 ล้านเมตริกตัน สาเหตุหลักมาจากการใช้พัฒนาเอไอให้มีความสามารถมากขึ้น
  • ศูนย์ข้อมูลแต่ละแห่งใช้พลังงานมาก ซึ่งยังคงพึ่งพาจากโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลเป็นหลัก อีกทั้งศูนย์ข้อมูลเหล่านี้ยังต้องใช้สายส่งไฟฟ้าแรงสูง ใช้น้ำปริมาณมากเพื่อรักษาความเย็นให้คงที่
  • สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ ประเมินว่า ความต้องการไฟฟ้าจากศูนย์ข้อมูลและเอไอ อาจเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าภายในปี 2569

เป้าหมายมุ่งสู่เน็ตซีโร ของ Google อาจจะเป็นไปได้ยาก หลังจากในปี 2566 Google ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แตะระดับ 14.3 ล้านเมตริกตัน เทียบเท่ากับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 38 แห่งปล่อยออกมาในแต่ปี ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการใช้พัฒนาเอไอให้มีความสามารถมากขึ้น

ปัจจุบัน Google บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี พยายามผสานเอไอเข้าไปในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของบริษัทมากยิ่งขึ้น ทำให้ต้องใช้พลังงานเพิ่มขึ้นในการประมวลผลเอไอ รายงานสิ่งแวดล้อมของ Google ยอมรับว่า ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบริษัทเพิ่มขึ้น 48% 

“เมื่อเรารวมเอไอเข้ากับผลิตภัณฑ์ของเรามากขึ้น การลดการปล่อยก๊าซอาจเป็นเรื่องท้าทาย เนื่องจากศูนย์ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าจำนวนมหาศาล อีกทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเทคนิคก็มีเพิ่มขึ้นเช่นกัน” รายงานกล่าว

การผลิตไฟฟ้าจำเป็นต้องใช้การเผาไหม้ถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติ ซึ่งปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” ที่ทำให้โลกร้อน ทั้งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมีเทน ส่งผลให้สภาพอากาศเลวร้ายมากขึ้น

ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในศูนย์ข้อมูลของ Google เพิ่มขึ้น 17% ในปี 2566 และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคต ตามรายงาน Google ระบุว่าศูนย์ข้อมูลของบริษัทใช้ไฟฟ้าคิดเป็น 10% ของการใช้ไฟฟ้าของศูนย์ข้อมูลทั่วโลกในปี 2566 

เคท แบรนท์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความยั่งยืนของ Google กล่าวกับสำนักข่าวเอพี ว่า การบรรลุเป้าหมายเน็ตซีโร่ให้สำเร็จภายในปี 2573 ถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทายอย่างยิ่ง

“เรารู้ว่านี่ไม่ใช่เรื่องง่ายและเราจำเป็นต้องพัฒนาแนวทางต่อไป รวมถึงจัดการกับความไม่แน่นอนอีกมากมาย และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากเอไอ” แบรนท์กล่าว

เอไอใช้ไฟฟ้าปริมาณมาก

หนึ่งในวิธีที่จะช่วยจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ คือ การเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด แต่การขยายตัวของศูนย์ข้อมูลที่ใช้สำหรับการขับเคลื่อนเอไอในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ กำลังทำให้การเปลี่ยนไปใช้ไฟฟ้าสะอาดทั้งหมดทำได้ยากยิ่งขึ้น

ศูนย์ข้อมูลแต่ละแห่งใช้พลังงานมาก ซึ่งยังคงพึ่งพาจากโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลเป็นหลัก อีกทั้งศูนย์ข้อมูลเหล่านี้ยังต้องใช้สายส่งไฟฟ้าแรงสูง ใช้น้ำปริมาณมากเพื่อรักษาความเย็นให้คงที่ และทำงานเสียงดังด้วย ดังนั้นศูนย์ข้อมูลจึงถูกสร้างในพื้นที่ที่มีค่าไฟถูกที่สุด ไม่ได้มีพลังงานหมุนเวียน เช่น ลมและแสงอาทิตย์ เป็นแหล่งพลังงานหลัก

ตามรายงานของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ หรือ IEA พบว่า ปัจจุบันศูนย์ข้อมูลทั่วโลกใช้ไฟฟ้าประมาณ 1% ของการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด แต่เนื่องจากอุตสาหกรรมเอไอกำลังเฟื่องฟู IEA ประเมินว่า ความต้องการไฟฟ้าจากศูนย์ข้อมูลและเอไอ อาจเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าภายในปี 2569

นอกจาก Google แล้ว บริษัทเทครายใหญ่ของโลกอีกหลายแห่งก็ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นด้วยเช่นกัน ในเดือนพฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา Microsoft ได้เผยแพร่รายงานความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ระบุว่าบริษัทปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น 29% เมื่อเทียบกับการปล่อยก๊าซในปี 2563 

บิล เกตส์ มหาเศรษฐีผู้ร่วมก่อตั้ง Microsoft กล่าวว่า เอไอจะช่วยต่อสู้กับวิกฤติสภาพภูมิอากาศ ด้วยการหันไปใช้พลังงานสีเขียวให้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้เอไอจะมีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่บริษัทเทคโนโลยีก็กล่าวว่าเอไอของพวกเขาก็ยังช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้เช่นกัน สำหรับในกรณีของ Google เอง เอไอได้เข้ามามีบทบาทในการคาดการณ์น้ำท่วมในอนาคต หรือช่วยหาเส้นทางจราจรที่รถไม่ติด เพื่อช่วยประหยัดน้ำมัน

Google ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบริษัทใช้พลังงานเพิ่มขึ้น 25,910 กิกะวัตต์ชั่วโมง และมีชั่วโมงการใช้พลังงานมากกว่า 4 ปีที่แล้วถึงสองเท่า ในขณะเดียวกัน Google ก็พยายามใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเช่นกัน

ในปี 2566 ศูนย์ข้อมูลและสำนักงานทั่วโลกของ Google ใช้พลังงานที่ปราศจากคาร์บอนโดยเฉลี่ย 64% และศูนย์ข้อมูลของบริษัทสามารถประหยัดพลังงานได้มากกว่าศูนย์ข้อมูลของบริษัทอื่น ๆ ถึง 1.8 เท่า

เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม Google กำลังพยายามสร้างโมเดลเอไอ ฮาร์ดแวร์ และศูนย์ข้อมูลให้ประหยัดพลังงานมากขึ้น อีกทั้งบริษัทยังมีเป้าหมายในการใช้พลังงานที่ปราศจากคาร์บอนบนโครงข่ายไฟฟ้าเชื่อมต่อภายในปี 2573

ลิซ่า แซคส์ ผู้อำนวยการศูนย์โคลัมเบียด้านการลงทุนที่ยั่งยืน ให้เครดิต Google สำหรับความทะเยอทะยานและความซื่อสัตย์ในการเปิดเผยข้อเท็จจริง แต่ยังเห็นว่า Google ควรทำอะไรมากกว่านี้ เช่นการร่วมมือกับบริษัทพลังงานสะอาด หรือลงทุนในโครงข่ายไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น

“หวังว่า Google จะมาร่วมวงสนทนาการใช้พลังงานสะอาด เพื่อไม่ให้วิกฤติสภาพภูมิอากาศเลวร้ายไปกว่านี้” แซคส์กล่าว


ที่มา: AljazeeraThe GuardianThe Verge