‘ฟลอร์เกีย’ ดอกไม้หายาก พบครั้งแรกในรอบร้อยปี
ค้นพบ “ฟลอร์เกีย” (Floerkea) ดอกไม้หายากอีกครั้ง หลังจากนักพฤกษศาสตร์เข้าใจสูญพันธุ์ไปแล้วตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 และได้กลายเป็นตัวแทนสัญลักษณ์ของความหวัง
KEY
POINTS
- “ฟลอร์เกีย” (Floerkea) หรือ “ฟอลส์เมอร์เมดวีด” (false mermaid-weed) พืชที่ไม่ได้มีใครพบเห็นมาตั้งแต่ปี 1916 เพิ่งถูกค้นพบในรอบ 108 ปี
- ฟลอร์เกียเป็นพืชขนาดเล็กที่มีดอกสีขาวเล็กเท่าหัวเข็มหมุด ขึ้นอยู่ตามป่าที่น้ำท่วมถึง และถูกรุกรานจากพืชต่างถิ่นได้ง่าย หลังจากออกดอกไม่นานก็จะเฉาตาย ทำให้ยิ่งหายากกว่าเดิม
- การค้นพบฟลอร์เกียอีกครั้งหลัง จึงเป็นข้อพิสูจน์ว่าการดูแลรักษาหน้าดินสามารถช่วยให้ธรรมชาติกลับมาสมบูรณ์ ฟลอร์เกียจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความหวังฟื้นฟูธรรมชาติ
“ฟลอร์เกีย” (Floerkea) หรือ “ฟอลส์เมอร์เมดวีด” (false mermaid-weed) พืชที่ไม่ได้มีใครพบเห็นมาตั้งแต่ปี 1916 เพิ่งถูกค้นพบอีกครั้งโดยเกรซ กลินน์ นักพฤกษศาสตร์ และมอลลี พาร์เรน ผู้เชี่ยวชาญด้านเต่า
ย้อนกลับไปในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2024 ระหว่างที่พาร์เรนกำลังสำรวจถิ่นที่อยู่ของเต่าไม้ในรัฐเวอร์มอนต์ เธอได้สังเกตเห็นต้นกระเทียมป่าหายากจึงถ่ายรูป แล้วส่งไปให้กลินน์ เพื่อนร่วมงานของเธอ
เมื่อกลินน์ได้รับภาพนั้น เธอสังเกตเห็นต้นไม้ต้นเล็ก ๆ 2 ต้น ที่กำลังออกดอกสะพรั่งอยู่ที่มุมภาพ เธอตื่นเต้นมาก ถึงขั้นกรีดร้องออกมา เพราะนี่คือต้น “ฟอลส์เมอร์เมดวีด” ต้นไม้ที่ไม่มีใครเคยเจอมานานถึง 108 ปี
“ตอนที่ฉันดูภาพ ฉันเห็นต้นไม้ต้นเล็ก ๆ อยู่ข้างหน้า ซึ่งมีสีแตกต่างออกไปมาก ฉันรู้ทันทีว่ามันเป็นฟลอร์เกีย” กลินน์บอกกับ CNN
ตามข้อมูลที่มีการบันทึกไว้ นักพฤกษศาสตร์คนสุดท้ายพบฟอลส์เมอร์เมดวีดในรัฐเวอร์มอนต์ คือ เนลลี ฟลินน์ โดยพบเมื่อปี 1916 และหลังจากนั้นไม่มีการค้นพบต้นไม้ชนิดนี้อีกเลย กลินน์กล่าวว่าในรัฐเวอร์มอนต์มีเพียงแค่ 3 แห่งเท่านั้นที่เคยพบฟลอร์เกีย ซึ่งเธอเองก็ตามหาพืชจิ๋วชนิดนี้อยู่นาน
“ฉันใฝ่ฝันที่จะพบมันสักครั้ง เพราะว่านี่เป็นต้นไม้เล็ก ๆ ที่ไม่เด่นนัก แถมมองเห็นได้ยาก ฉันรู้ว่ามันอาจซ่อนตัวอยู่ในที่ธรรมดา ๆ ฉันไม่เคยเห็นมันด้วยตาตัวเอง แต่ฉันได้ดูรูปถ่ายหลายครั้ง” เธอกล่าว
ดอก “ฟอลส์เมอร์เมดวีด”
เครดิตภาพ: เฟซบุ๊ก Vermont Fish & Wildlife
“ฟอลส์เมอร์เมดวีด” ต้นไม้ที่หายไป 108 ปี
ข้อมูลจาก Native Plant Trust สมาคมเพื่อการคุ้มครองพืชพื้นเมืองแห่งสหรัฐ ระบุว่า ฟอลส์เมอร์เมดวีดเป็นพืชที่พบได้ยากมาก มีดอกสีขาวขนาดเล็กเท่ากับหัวเข็มหมุด โดยจะขึ้นอยู่ตามพื้นที่เปียกชื้นเป็นหลัก เช่น ป่าที่ราบน้ำท่วมถึงและหนองน้ำ นั่นหมายความว่าพืชประเภทมักจะถูกพืชต่างถิ่นที่รุกราน ไม่ว่าจะเป็น ผักเสี้ยนฝรั่ง หญ้ารีดคานารี ผักไผ่ญี่ปุ่น และอื่น ๆ อีกมากมาย แย่งพื้นที่เจริญเติบโต
ภูมิภาคนิวอิงแลนด์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของรัฐเวอร์มอนต์เกิดน้ำขึ้นบ่อยมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะพืชท้องถิ่นที่ขึ้นบริเวณริมฝั่งน้ำอย่างฟอลส์เมอร์เมดวีดอาจจะปรับตัวไม่ได้ เพราะพวกมันวิวัฒนาการมาเพื่อได้รับน้ำท่วมในฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิ ไม่ใช่ในฤดูร้อนที่ต้นไม้จะเริ่มสืบพันธุ์และออกดอก โดยน้ำท่วมสามารถสร้างความเสียหายให้กับต้นไม้ในระหว่างกระบวนการดังกล่าว และบังคับให้พืชต้องเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง
แม้ว่าต้นไม้บางชนิดอาจสามารถแตกหน่อและสร้างดอกไม้ใหม่ได้อย่างรวดเร็ว แต่หลังจากเกิดน้ำท่วมขึ้นหลายฤดูกาล ต้นไม้อาจทำให้เครียดเกินไปและพวกมันอาจตายหรือถูกเอเลี่ยนสปีชีส์แย่งที่อยู่อาศัย
ฟอลส์เมอร์เมดวีดเป็นพืชชนิดแรก ๆ ที่ออกดอกในฤดูใบไม้ผลิ และจะเฉาตายภายในกลางเดือนมิถุนายน ด้วยลักษณะการบานที่จำกัดเช่นนี้ จึงทำให้ฟลอร์เกียถูกค้นพบได้ยากขึ้น โชคดีที่พาร์เรนที่บังเอิญพบพืชชนิดนี้ได้พอดี
หลังจากที่กลินน์ได้รับภาพถ่ายจากพาร์เรน เธอจึงรีบเดินกลับเข้าป่า โดยเดินย้อนรอยเท้าของพาร์เรน และพบฟอลส์เมอร์เมดวีดขึ้นกระจายอยู่ริมลำธาร ไปจนถึงบริเวณที่ดินรกร้างปลายน้ำ ซึ่งกลินน์กล่าวว่าในพื้นที่ปลายน้ำอาจมีฟอลส์เมอร์เมดวีดจำนวนมากรอให้ค้นพบอีก เธอวางแผนที่จะสำรวจพื้นที่เพิ่มเติม แต่อาจต้องรอปีหน้า เพราะในตอนนี้ต้นฟลอร์เกียเริ่มเหี่ยวเฉาตายแล้ว
เพื่อช่วยรักษาสายพันธุ์นี้ กลินน์จะส่งเมล็ดพันธุ์ฟลอร์เกีย ไปยังธนาคารเมล็ดพันธุ์ในรัฐแมสซาชูเซตส์ สถานที่เก็บเมล็ดพันธุ์พืชหายากที่มีถิ่นกำเนิดในนิวอิงแลนด์มากกว่า 230,000 เมล็ด เผื่อเหตุการณ์ไม่คาดฝัน
“นี่คือการค้นพบใหม่ที่น่าทึ่ง” อาร์ต กิลแมน นักพฤกษศาสตร์บอกกับ Vermont Biz “ฟอลส์เมอร์เมดวีดเป็นส่วนสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ”
ขณะที่ กรมปลาและสัตว์ป่าของรัฐเวอร์มอนต์ กล่าวว่าการค้นพบทุ่งฟอลส์เมอร์เมดวีดแห่งนี้หลังจากผ่านไปกว่าศตวรรษ เป็นข้อพิสูจน์ว่าการดูแลที่ดีของเจ้าของที่ดินและนักอนุรักษ์สามารถสร้างความแตกต่างทางธรรมชาติได้อย่างมาก
พืชพื้นเมืองวิวัฒนาการมาให้สมดุลกับระบบนิเวศบริเวณนั้น แมลงผสมเกสรและสัตว์ป่าในท้องถิ่นต้องอาศัยพันธุ์พื้นเมือง “แมลงพื้นเมืองบางชนิดอาศัยพืชท้องถิ่นที่เฉพาะเจาะจงมากเพื่อทำให้วงจรชีวิตของพวกมันสมบูรณ์ เช่นเดียวกับนกที่ต้องกินแมลงบางชนิด และเป็นเช่นนี้ไปตลอดห่วงโซ่อาหาร” กลินน์อธิบาย
การค้นพบฟอลส์เมอร์เมดวีดจึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่จะทำให้ผู้คนหันมาเห็นความสำคัญของการช่วยกันลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ ทิม จอห์นสัน ซีอีโอของ Native Plant Trust กล่าวว่า
“เราอาจจะคิดว่าเราเหนือกว่าธรรมชาติ เพราะเรามีซูเปอร์คอมพิวเตอร์อยู่ในกระเป๋า เรามีเครื่องบินไอพ่นพาคุณไปทั่วโลก แต่จริง ๆ แล้ว เราพืชสร้างความสะดวกสบายให้แก่เรา เพราะพืชเป็นผู้ผลิตหลักของโลก เรากินพืชเป็นอาหาร เราใช้พืชเป็นวัสดุก่อสร้าง พืชผลิตออกซิเจนให้เราหายใจ เราไม่สามารถอยู่ได้โดยปราศจากพืชอย่างแท้จริง”
ที่มา: CNN, Phys, The New York Times, Vermont Public