เปิดมติ ครม.ต้นเหตุ เพิกถอนพื้นที่อุทยานทับลาน 2.6 แสนไร่

เปิดมติ ครม.ต้นเหตุ เพิกถอนพื้นที่อุทยานทับลาน 2.6 แสนไร่

เปิดมติ ครม.ปี 2566 แก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนอุทยานแห่งชาติทับลาน คทช.เสนอแก้ปัญหา 3 แนวทาง ปรับปรุงแนวเขตตามแผนที่มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) เร่งสำรวจแนวกันชน

ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนบริเวณอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งทำให้เกิดคดีความระหว่างอุทยานแห่งชาติและประชาชน โดยได้มีการแก้ปัญหาระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 14 มี.ค.2566 มีมติแก้ปัญหา 3 แนวทาง ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เสนอ ดังนี้

1.) เห็นชอบแนวทางการใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขต ปี 2553 ในการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดปราจีนบุรี 

รวมทั้งให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดปราจีนบุรี ร่วมกันตรวจสอบข้อมูลพื้นที่ของจุดที่ไม่ชัดเจนให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน และเร่งรัดดำเนินการสำรวจเพื่อจัดทำแนวกันชน (Buffer Zone) ที่ชัดเจน 

 

เพื่อรักษาความสมบูรณ์ของพื้นที่มรดกโลก และสภาพพื้นที่ป่าไม้ ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติเสนอ 

ทั้งนี้ ในส่วนของการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด แนวทางการคุ้มครองการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ ที่ได้ดำเนินการจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมาย และการคุ้มครอง และรับรองการดำเนินการของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน และเจ้าหน้าที่ ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

2.) ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตามหน้าที่ และอำนาจให้ถูกต้อง รอบคอบ เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดด้วย

3.) ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติได้รับยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 พ.ย.2558 (เรื่อง การเสนอเรื่องเร่งด่วนต่อคณะรัฐมนตรี) ในการเสนอเรื่องนี้

รายงานข่าวระบุว่า ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนบริเวณอุทยานแห่งชาติทับลาน แบ่งออกได้ 3 ส่วนประกอบด้วย 

1.พื้นที่ทับซ้อนระหว่างเขตปฏิรูปที่ดินกับอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยกรมป่าไม้ ส.ป.ก.และหน่วยงานความมั่นคง ได้ร่วมกันสำรวจรังวัด และส่งมอบพื้นที่ให้ ส.ป.ก. นำไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าวังน้ำเขียว 2 แปลง คือ พื้นที่ป่าวังน้ำเขียวแปลง 2 และแปลง 2 

    แต่การดำเนินการในแปลง 2 พบว่ามีการสำรวจรังวัดเข้ามาในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ป่าเขาสะโตน บางส่วน ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่ได้อนุมัติให้ ส.ป.ก. เข้ามาดำเนินการปฏิรูปที่ดิน ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่เป็นเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยมิได้กันพื้นที่แปลง 2 ออก ส่งผลทำให้มีพื้นที่ทับซ้อน และ ส.ป.ก. ได้ออกหนังสืออนุญาต (ส.ป.ก. 4-01) ไปแล้วบางส่วน

2.พื้นที่ทับซ้อนระหว่างที่ดินทำกินของราษฎรที่อยู่อาศัยมาแต่เดิมกับอุทยานแห่งชาติทับลาน พื้นที่โดยรอบป่าวังน้ำเขียวแปลง 2 มีการเข้าอยู่อาศัยทำกิน และจัดตั้งหมู่บ้านที่มีมาก่อน และหลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2557 เช่น บ้านบุไทร บ้านบุไผ่ ในอำเภอวังน้ำเขียว 

แต่ต่อมาได้กำหนดเป็นเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งเป็นการประกาศทับซ้อนกับพื้นที่ ที่อยู่อาศัยทำกินที่ราษฎรอยู่มาก่อนการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน

3.พื้นที่ทับซ้อนระหว่างโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อความมั่นคงในพื้นที่ (โครงการ พมพ.) และโครงการจัดที่ดินทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม (โครงการ คจก.) กับอุทยานแห่งชาติ ทับลาน โครงการ พมพ. 

    และโครงการ คจก. เป็นการดำเนินงานโครงการรัฐตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีเป้าหมาย ที่จะให้ราษฎรได้ครอบครองทำประโยชน์ที่ดิน เป็นพื้นที่ที่ราษฎรเข้าอยู่อาศัยทำกินมาก่อนประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ มีหน่วยงานของรัฐเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดที่ดินทำกินให้แก่ราษฎร ออกหนังสืออนุญาต (ส.ป.ก. 4-01) ไปแล้วบางส่วน

    สำหรับการดำเนินการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับอุทยานแห่งชาติทับลานได้มีการหารือกันมาต่อเนื่อง และได้มีการเสนอ ครม.ดังกล่าว โดยเห็นชอบแนวทางการใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขต ปี พ.ศ.2553 ในการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1: 4000 (One Map) พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดปราจีนบุรี 

    และให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดปราจีนบุรี ร่วมกันตรวจสอบข้อมูลพื้นที่ของจุดที่ไม่ชัดเจนให้แล้วเสร็จภายใน

    ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการ การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ (One Map) ครั้งที่ 4/2566 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566 เห็นชอบผลดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ (One Map) ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน โดยหากมีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ตามแนวเขตใหม่นี้ จะมีผลทำให้อุทยานแห่งชาติทับลานมีเนื้อที่ลดน้อยลงไปประมาณ 265,000 ไร่ 

    แม้จะมีการเสนอผนวกพื้นที่ทางตอนเหนือในท้องที่ตำบลจระเข้หิน อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา เพิ่มเข้ามาอีกประมาณ 80,000 ไร่ ก็ยังไม่สามารถที่ จะยืนยันว่าจะผนวกเพิ่มได้หรือไม่

    เนื่องจากพบว่ามีราษฎรถือครองที่ดินอยู่เป็นจำนวนมากรวมทั้งยังอยู่ในขั้นตอนของการหาข้อยุติกับกรมป่าไม้ เนื่องจากมีแผนงานโครงการปลูกป่าที่มีงบประมาณต่อเนื่อง รวมทั้งมีการจัดตั้งป่าชุมชนไปเป็นส่วนใหญ่แล้ว
 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์