‘แม่น้ำ’ ในเอกวาดอร์ชนะคดีละเมิดสิทธิ ศาลสั่งห้ามสร้างมลพิษในแหล่งน้ำ

‘แม่น้ำ’ ในเอกวาดอร์ชนะคดีละเมิดสิทธิ ศาลสั่งห้ามสร้างมลพิษในแหล่งน้ำ

ศาลเอกวาดอร์ตัดสินให้ “แม่น้ำมาชังการา” ได้รับการคุ้มครองจากมลพิษทางน้ำ และการเกิดมลพิษในแม่น้ำถือเป็นการ “ละเมิดสิทธิ” ของแม่น้ำ โดยเทศบาลจำเป็นต้องวางแผนทำความสะอาดและกำจัดสิ่งปนเปื้อนในแม่น้ำ 

KEY

POINTS

  • ศาลเอกวาดอร์ตัดสินให้ “แม่น้ำมาชังการา” ชนะคดีละเมิดสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม เทศบาลจำเป็นต้องวางแผนทำความสะอาดและกำจัดสิ่งปนเปื้อนในแม่น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ 
  • แม่น้ำมาชังการา เต็มไปด้วยมลพิษ ทั้งจากการทิ้งน้ำเสีย ขยะ สิ่งปฏิกูล และสิ่งปนเปื้อนทุกประเภท ส่งผลให้น้ำเน่าเสีย จนมีระดับออกซิเจนเฉลี่ยเพียงแค่ 2% ซึ่งเป็นระดับสิ่งมีชีวิตในน้ำเจริญเติบโตได้ยาก
  • เอกวาดอร์ เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่ตระหนักถึงสิทธิของลักษณะทางธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ถึงขั้นบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่าธรรมชาติมีสิทธิที่จะไม่เสื่อมโทรมหรือปนเปื้อนจากมลพิษ

เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2024 ศาลเอกวาดอร์ตัดสินให้ “แม่น้ำมาชังการา” ได้รับการคุ้มครองจากมลพิษทางน้ำ และการเกิดมลพิษในแม่น้ำถือเป็นการ “ละเมิดสิทธิ” ของแม่น้ำ โดยเทศบาลจำเป็นต้องวางแผนทำความสะอาดและกำจัดสิ่งปนเปื้อนในแม่น้ำ 

พร้อมหามาตรการในการลดระดับการปนเปื้อนในแม่น้ำอย่างรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ และชี้ว่าปัญหาด้านงบประมาณไม่ควรเป็นอุปสรรคในการจัดการปัญหาดังกล่าว อีกทั้งศาลยังเน้นย้ำให้มีความร่วมมือและเกิดการมีส่วนร่วมของชุมชน ระหว่างภาคประชาสังคมและเทศบาล ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้มาตรการต่าง ๆ บรรลุผลได้ 

แม้ว่าในขณะนี้ เทศบาลเมืองกีโตได้ยื่นอุทธรณ์คำตัดสินนี้ แต่เทศบาลจะต้องเริ่มดำเนินมาตรการกำจัดมลพิษในแม่น้ำทันที

ดาริโอ อิซา นักเคลื่อนไหวตัวแทนจากกลุ่มเอ็นจีโอ Kitu Kara ที่ยื่นฟ้องศาลในนามตัวแทนของแม่น้ำ กล่าวว่าการตัดสินใจครั้งนี้ถือเป็น “การตัดสินประวัติศาสตร์”

“นี่เป็นชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์เพราะแม่น้ำไหลผ่านกรุงกีโต เมืองหลวงของประเทศ และด้วยอิทธิพลของแม่น้ำนี้ ผู้คนจึงอาศัยอยู่ใกล้กับแม่น้ำนี้มาก” อิซากล่าว

หลังจากคำสั่งศาลนี้ออกมา โครงการโรงบำบัดน้ำเสียทั้งขนาดใหญ่ 3 แห่ง ได้รับไฟเขียวในการศึกษา ออกแบบ และหาเงินทุนสำหรับการก่อสร้าง โดยหนึ่งในนั้นชื่อว่า PTAR Quito ซึ่งจะช่วยบริหารจัดการลุ่มน้ำมาชังการา และบำบัดน้ำเสียในอัตรา 4.38 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ปาเบล มูโนซ นายกเทศมนตรีเมืองคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 900 ล้านดอลลาร์

หลายประเทศในลาตินอเมริกาและอเมริกาเหนือ รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้สิทธิแก่ประชาชนในประเทศมีสิทธิ์อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สะอาด แต่เอกวาดอร์ก้าวล้ำไปมากกว่านั้น เพราะเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่ตระหนักถึงสิทธิของลักษณะทางธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ถึงขั้นบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่าธรรมชาติมีสิทธิที่จะไม่เสื่อมโทรมหรือปนเปื้อนจากมลพิษต่าง ๆ

“ธรรมชาติหรือ พระแม่ธรรมชาติ (Pacha Mama/ Mother Nature) ที่ซึ่งทำให้ชีวิตเกิดขึ้นและสืบพันธุ์ต่อได้ มีสิทธิที่จะได้รับการเคารพถึงการมีอยู่อย่างสมบูรณ์ เพื่อการบำรุง การเกิดใหม่ของวงจรชีวิต โครงสร้าง หน้าที่ และกระบวนการวิวัฒนาการ บุคคล ชุมชน ประชาชน และประเทศชาติสามารถเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐบังคับใช้สิทธิของธรรมชาติได้” 

“รัฐจะให้สิ่งจูงใจแก่บุคคลธรรมดา นิติบุคคล และชุมชนในการปกป้องธรรมชาติ และส่งเสริมความเคารพต่อองค์ประกอบทั้งหมดที่ประกอบเป็นระบบนิเวศ”

แหล่งกำเนิดของแม่น้ำมาชังการาอยู่ที่บนเทือกเขาแอนดีส และทอดยาวมายังกรุงกีโต เมืองหลวงของเอกวาดอร์ ซึ่งเกิดมลพิษในแม่น้ำ ทั้งจากการทิ้งน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมและในครัวเรือนลงแม่น้ำ ตลอดจนขยะ สิ่งปฏิกูล และสิ่งปนเปื้อนทุกประเภทหลายล้านตัน ส่งผลให้น้ำเน่าเสีย จนมีระดับออกซิเจนเฉลี่ยเพียงแค่ 2% ซึ่งเป็นระดับสิ่งมีชีวิตในน้ำเจริญเติบโตได้ยาก

ความเสื่อมโทรมของแม่น้ำมาชังการา ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนประมาณ 2.6 ล้านคนในกรุงกีโต และประชากรจำนวนมากที่อยู่ปลายน้ำ ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมตามรัฐธรรมนูญอย่างร้ายแรง

“แม่น้ำมาชังการาสูญเสียเอกลักษณ์ของมันไป ในตอนนี้แม่น้ำไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของความภาคภูมิใจ ที่มีประวัติศาสตร์ของเมืองอีกต่อไป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของผู้อยู่อาศัย” Global Alliance for the Rights of Nature หรือ GARN เครือข่ายองค์กรด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมกล่าวในแถลงการณ์

ด้วยเหตุนี้กลุ่มนักอนุรักษ์จึงได้ยื่นคำร้องแก่ศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่เมื่อเดือนพ.ค. และเพิ่งมีผลการตัดสินออกมาเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2024 ที่ผ่านมา

“ผลการตัดสินของศาลในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการปกป้องและขจัดการปนเปื้อนของแม่น้ำที่เปราะบางที่สุดในประเทศ การปนเปื้อนในแม่น้ำไม่เพียงแต่เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังเป็นการรับประกันสำหรับอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน” GARN กล่าว

ไม่ใช่แต่เอกวาดอร์ประเทศเดียวที่มีการฟ้องร้องคดีในลักษณะนี้ เมื่อเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา รัฐฮาวายและชาวฮาวายได้บรรลุข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ หลังจากที่เยาวชนชาวฮาวายรวมตัวกันฟ้องกระทรวงคมนาคมแห่งรัฐฮาวาย เนื่องจากล้มเหลวในการปกป้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่จะต้องมีสภาพแวดล้อมที่สะอาดและดีต่อสุขภาพ

 

ที่มา: Euro NewsGARNIFL ScienceThe Guardian