โลกร้อนอันตรายต่อ ‘สตรีมีครรภ์’ เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด-โรคแทรกซ้อนในเด็ก

โลกร้อนอันตรายต่อ ‘สตรีมีครรภ์’ เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด-โรคแทรกซ้อนในเด็ก

โลกร้อนอันตรายต่อ ‘สตรีมีครรภ์’ เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด เด็กเกิดภาวะแทรกซ้อนถึงตายได้ หญิงผิวดำมีอัตราคลอดก่อนกำหนดมากที่สุด ส่วนเอเชียใต้เป็นพื้นที่มีอัตราสุงสุด

KEY

POINTS

  • อุณหภูมิสูงขึ้นทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดและทารกเสียชีวิตตั้งแต่ในครรภ์ หรือภาวะตายคลอด รวมถึงเกิดโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานขณะตั้งครรภ์
  • ทุกหนึ่งองศาเซลเซียสที่เพิ่มขึ้น ทำให้ทารกเสี่ยงเสียชีวิตเพิ่มขึ้นได้มากถึง 22.4% และเกิดภาวะแทรกซ้อนตั้งแต่โรคโลหิตจาง ภาวะหายใจลำบาก โรคดีซ่าน ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด เบาหวานขึ้นตา ลมบ้าหมู ไปจนถึงความบกพร่องทางการเรียนรู้ 
  • แม่ผิวดำมีความเสี่ยงคลอดก่อนกำหนดมากกว่าคนผิวขาวถึง 2.5 เท่า โดยเชื่อมโยงกับปัจจัยหลายประการ เช่น ขาดโภชนาการ สัมผัสมลพิษทางอากาศ เข้าไม่ถึงการดูแลสุขภาพ ขาดเครื่องปรับอากาศ ทำงานกลางแจ้ง

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์ยังคงดำเนินต่อไป คลื่นความร้อนกินระยะเวลานานกว่าเดิมและทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าคลื่นความร้อนนี้จะทำให้ทารกหลายล้านคนทั่วโลกคลอดก่อนกำหนด และผลกระทบต่อสุขภาพของทั้งสตรีมีครรภ์และเด็กทารก

แอนา โบเนล นักวิชาการแพทย์จากวิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยลอนดอน หรือ LSHTM ทำวิจัยว่าความเครียดจากความร้อนส่งผลต่อสรีรวิทยาของเกษตรกรหญิงตั้งครรภ์และส่งผลกระทบต่อลูกในครรภ์อย่างไร โดยศึกษาจากเกษตรกรที่ตั้งครรภ์ 92 คน ในแกมเบีย ซึ่งทำการตรวจวัดความเครียดจากความร้อนในทุก 2 เดือน 

ผลการวิจัยพบว่าอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียสจะทำให้ทารกในครรภ์มีความเครียด เพิ่มขึ้น 17% ซึ่งวัดได้จากอัตราการเต้นของหัวใจที่เร็วขึ้น และเลือดไหลไหลเวียนไปยังรกลดลง โดยหนึ่งในสามของหญิงตั้งครรภ์ที่เข้าร่วมการทดลองมีอาการดังกล่าว

อุณหภูมิในแกมเบียอาจสูงถึง 45 องศาเซลเซียส และในช่วง 60 ที่ผ่านมาอุณหภูมิเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 1 องศาเซลเซียส นั่นแสดงถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในตอนนี้อุณหภูมิทั่วโลกกำลังสูงขึ้น และจากหลักฐานล่าสุดชี้ให้เห็นว่ามีโอกาสถึง 95% ที่ปี 2024 จะร้อนกว่าปี 2024

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่า สตรีมีครรภ์ ทารกแรกเกิด เด็ก วัยรุ่น และผู้สูงอายุ กำลังเผชิญกับภาวะแทรกซ้อนด้านสุขภาพอย่างร้ายแรง จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่กลุ่มคนเหล่านี้กลับถูกละเลย และไม่ได้รับความช่วยเหลือเท่าที่ควร โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์

แต่ความจริงก็คือ แผนช่วยเหลือและแนวทางการปฏิบัติสำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่ต้องรับมือกับความร้อนจัดยังคงมีน้อยมากในปัจจุบัน จากข้อมูลของฮิวแมนไรท์วอทช์ พบว่าข้อมูลในหน้าเว็บไซต์ของหน่วยงานด้านความปลอดภัยจากอากาศร้อนในแต่ละรัฐของสหรัฐ มีแต่ให้คำแนะนำในการดูแลสัตว์เลี้ยงช่วงหน้าร้อน มากกว่าจะให้ข้อมูลการดูแลหญิงตั้งครรภ์

กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ หรือ UNFPA พบว่า มีเพียง 20% จาก 119 ประเทศเท่านั้น ที่มีกล่าวถึงการดูแลสุขภาพของสตรีมีครรภ์และทารกในครรภ์ในแผนการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด เกิดภาวะแทรกซ้อน เพราะโลกร้อน

นาธาเนียล เดนิโคลา ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพสิ่งแวดล้อมจากโรงพยาบาลจอห์น ฮอปกินส์ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ระบุว่า “มีการศึกษามากมายที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างความร้อนกับสุขภาพ ซึ่งจริง ๆ แล้วทั้งสองอย่างนี้ มีความเชื่อมโยงกันในระดับชีวภาพ”

เดนิโคลาทำการ ทบทวนการศึกษา 68 ชิ้นที่ดำเนินการระหว่างปี  2007-2019 ซึ่งเป็นการวิเคราะห์การเกิด ของชาวสหรัฐจำนวน 32.7 ล้านคน พบความเชื่อมโยงระหว่างความร้อนจัดกับภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด (Preterm Labor) รวมถึงการคลอดก่อนกำหนด

ในระหว่างตั้งครรภ์ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและการขยายตัวของผิวหนังจะทำให้ร่างกายสัมผัสกับความร้อนมากขึ้น นอกจากความรู้สึกไม่สบายแล้ว ความร้อนยังสามารถสร้างผลกระทบต่อทั้งแม่และทารกในครรภ์ได้อีกด้วย โดยอุณหภูมิสูงขึ้นทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดและทารกเสียชีวิตตั้งแต่ในครรภ์ หรือภาวะตายคลอด รวมถึงเกิดโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานขณะตั้งครรภ์

มลพิษทางอากาศ” เพิ่มโอกาสให้แม่เสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูงในระหว่างตั้งครรภ์ รวมถึงส่งผลต่อการพัฒนาสมองและปอดของทารกในครรภ์ อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคระบบทางเดินหายใจในเด็ก และทำให้เด็กทารกมีน้ำหนักแรกเกิดน้อย คลอดก่อนกำหนด ขณะเดียวกัน คลื่นความร้อนส่งผลกระทบต่อการรับรู้และการเรียนรู้สำหรับเด็กและวัยรุ่น 

การคลอดก่อนกำหนดเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การเสียชีวิตในวัยเด็กพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะในที่เกิดคลื่นความร้อน ซึ่งทุกหนึ่งองศาเซลเซียสที่เพิ่มขึ้น ทำให้ทารกเสี่ยงเสียชีวิตเพิ่มขึ้นได้มากถึง 22.4% และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตั้งแต่โรคโลหิตจาง ภาวะหายใจลำบาก โรคดีซ่าน ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด เบาหวานขึ้นตา ลมบ้าหมู ไปจนถึงความบกพร่องทางการเรียนรู้ โดยองค์การอนามัยโลก ชี้ว่าปัจจุบันมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการคลอดก่อนกำหนดอยู่ที่ 16%

นอกจากนี้ การสัมผัสกับความร้อนยังเชื่อมโยงกับอัตราการแท้งบุตรและภาวะตายคลอดที่สูงขึ้นอีกด้วย ในการศึกษาหนึ่งที่ตรวจสอบข้อมูลการคลอดบุตรมากกว่า 140,000 ครั้งในสหรัฐอเมริกา นักวิจัยพบว่าความเสี่ยงในการคลอดบุตรเพิ่มขึ้น 10% สำหรับอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ หนึ่งองศาเซลเซียสที่จากเกินเกณฑ์กำหนด

 

หญิงผิวดำเสี่ยงคลอดก่อนกำหนดมากที่สุด

ในปี 2010 รูปา บาซู แม่ลูกสองและนักวิจัย ได้ตีพิมพ์งานวิจัยที่ถือเป็นการศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์การคลอดก่อนกำหนดกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นชิ้นแรกของโลก สิ่งที่น่าตกตะลึงเป็นพิเศษคือ บาซูพบว่าแม่ผิวดำมีความเสี่ยงคลอดก่อนกำหนดมากกว่าคนผิวขาวถึง 2.5 เท่า

“เราพลาดเรื่องนี้ไปนานได้ยังไง ผู้หญิงมักเป็นคนสุดท้ายที่ได้รับการศึกษา แต่คนที่อ่อนแอที่สุดคือผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์” บาซูตั้งคำถาม

ช่องโหว่นี้กำลังกว้างมากขึ้น ในปี 2023 เป็นปีที่ร้อนที่สุดในรอบกว่า 170 ปี ผู้คนในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออก และแอฟริกา ต้องเผชิญกับความร้อนรุนแรงอย่างน้อย 31 วัน ตอนนี้โลกร้อนขึ้นไม่หยุด เกิดสภาพอากาศสุดขั้วในหลายประเทศทั่วโลก ตั้งแต่ไฟป่า พายุไซโคลน น้ำท่วม และคลื่นความร้อน ทำให้เดือนมิถุนายน 2024 นับเป็นเดือนที่ 13 ติดต่อกันอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นทำลายสถิติอย่างต่อเนื่อง 

งานวิจัยในปี 2023 พบว่า ในปี 2020 อัตราการคลอดก่อนกำหนดโดยเฉลี่ยของอเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และยุโรป อยู่ที่ 7.9% ส่วนอัตราการคลอดก่อนกำหนดสูงสุดอยู่ที่เอเชียใต้ ที่ 13.2% ขณะที่สหรัฐอยู่ที่ 10% 

ตามข้อมูลของ March of Dimes องค์กรทำงานเพื่อปรับปรุงสุขภาพของแม่และเด็ก ระบุว่า ระหว่างปี 2020 -2021 สหรัฐมีอัตราอัตราการคลอดก่อนกำหนดสูงขึ้น 4% โดยพบในผู้หญิงผิวดำ 14.8% ส่วนผู้หญิงผิวขาวมีเพียง 9.5%

 

ให้ความรู้แก่หญิงตั้งครรภ์

การค้นพบดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงสาเหตุที่อยู่เบื้องหลังช่องว่างทางเชื้อชาติ โดยการคลอดก่อนกำหนดมีความเชื่อมโยงกับปัจจัยหลายประการ เช่น โภชนาการที่ไม่เพียงพอ การสัมผัสกับมลพิษทางอากาศ การขาดการเข้าถึงการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพ การขาดเครื่องปรับอากาศ หรือการทำงานกลางแจ้ง ซึ่งบางคนอาจจะมีหลายปัจจัยรวมกัน ความร้อนยิ่งทำให้ความเสี่ยงที่มีอยู่แย่ลงเท่านั้น

ในปี 2023 UNICEF กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ได้ตีพิมพ์เอกสารที่อธิบายมาตรการที่จำเป็นในการปกป้องผู้หญิงและเด็กจากคลื่นความร้อน โดยเน้นย้ำถึงการป้องกันและการเตรียมพร้อม รวมถึงการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่แนวหน้าเพื่อระบุการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นจากความร้อน และมาตรการรองรับของหน่วงงานท้องถิ่น เช่น การจัดหาศูนย์ทำความเย็นและพื้นที่ที่มีร่มเงา

ขณะที่ องค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกกำลังให้ความรู้แก่สตรีมีครรภ์เกี่ยวกับอันตรายจากความร้อน และแนะนำวิธีที่จะช่วยให้พวกเธอและลูกน้อยรู้สึกเย็นสบายระหว่างวัน เช่น สวมเสื้อผ้าบางและน้อยชิ้นลง ดื่มน้ำปริมาณมาก ไม่ออกไปทำงานนอกบ้าน หากจำเป็นควรออกไปทำงานในช่วงที่แดดร่มลมตก รวมถึงมุ่งเป้าไปที่สมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัว ให้ช่วยทำงานบ้าน ลดภาระการทำงานของสตรีมีครรภ์ให้น้อยลง


ที่มา: BBCVoxWHO