สหรัฐผลิต ‘เนย’ จาก ‘ก๊าซคาร์บอน’ อร่อยดีไม่กระทบสิ่งแวดล้อม
Savor สตาร์ทอัพจากสหรัฐ ใช้กระบวนการปิโตรเคมีที่เรียกว่าการสังเคราะห์ Fischer-Tropsch เพื่อเปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และถ่านหิน กลายเป็นไฮโดรคาร์บอน ในการผลิตสเปรดทาขนมปังที่มีไขมันคล้ายกับเนย
KEY
POINTS
- สตาร์ทอัพในสหรัฐ ผลิต “เนย” จาก “ก๊าซคาร์บอน” ซึ่งไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเลย ไม่มีการใช้พื้นที่เพาะปลูก และใช้น้ำน้อยกว่าหนึ่งในพันของปริมาณน้ำที่ใช้ในการเลี้ยงวัว
- อุตสาหกรรมปศุสัตว์ซึ่งรวมถึงเกษตรกรรมโคนมและเนื้อสัตว์ทั้งหมด คิดเป็น 14.5% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก
- เนยจากก๊าซคาร์บอนเป็นนวัตกรรมที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และได้รับความสนใจจากบิล เกตส์ จนเขาตัดสินใจเข้าร่วมลงทุนด้วย
ผลิตภัณฑ์จากนมถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบอาหารมากมาย แต่การทำฟาร์มโคนม (รวมถึงโคเนื้อ) ก่อให้เกิด “ก๊าซมีเทน” จำนวนมหาศาล ซึ่งเป็น “ก๊าซเรือนกระจก” ที่ทำให้โลกร้อน แต่ปัญหานี้กำลังจะได้รับการแก้ไข เมื่อสตาร์ทอัพที่ บิล เกตส์ ให้การสนับสนุนซุ่มพัฒนา “เนย” ที่ผลิตจาก “ก๊าซคาร์บอน” ซึ่งไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม
Savor สตาร์ทอัพจากสหรัฐ ใช้กระบวนการปิโตรเคมีที่เรียกว่าการสังเคราะห์ Fischer-Tropsch เพื่อเปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และถ่านหิน กลายเป็นไฮโดรคาร์บอน ในการผลิตสเปรดทาขนมปังที่มีไขมันคล้ายกับเนย
วิธีการนี้ใช้เพียงคาร์บอนไดออกไซด์ ความร้อน ไฮโดรเจน และออกซิเจนเท่านั้น โดยจะดึงคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ และดึงไฮโดรเจนออกจากน้ำ จากนั้นให้ความร้อนและออกซิไดซ์ให้กลายเป็นไขมัน
“ไม่มีชีววิทยาใดที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตของเรา” แคธลีน อเล็กซานเดอร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของ Savor กล่าวกับ New Scientist
ผลงานชิ้นนี้ได้รับความสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะจากบิล เกตส์ ซึ่งเป็นแฟนพันธุ์แท้ของผลิตภัณฑ์จากไขมันสัตว์ ซึ่งมหาเศรษฐีผู้ร่วมก่อตั้ง Microsoft อธิบายว่าทำไมบริษัท Breakthrough Energy Ventures หรือ BEV บริษัทที่ลงทุนด้านพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืน ของเขาถึงตัดสินใจร่วมลงทุนใน Savor
“กระบวนการนี้ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเลย ไม่มีการใช้พื้นที่เพาะปลูก และใช้น้ำน้อยกว่าหนึ่งในพันของปริมาณน้ำที่ใช้ในการเลี้ยงวัว และที่สำคัญที่สุดคือ มีรสชาติดีมาก เหมือนของจริง” เกตส์อธิบาย
จากข้อมูลขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า อุตสาหกรรมปศุสัตว์ซึ่งรวมถึงเกษตรกรรมโคนมและเนื้อสัตว์ทั้งหมด คิดเป็น 14.5% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ต่อให้ไม่มีการเลี้ยงวัวก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีผลิตภัณฑ์จากนมให้บริโภค เพราะปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์นมทางเลือกมากมายในท้องตลาด เช่น เนยเทียม ซึ่งผลิตจากน้ำมันพืชผสมกัน และพืชเหล่านี้ต้องใช้ที่ดินและทรัพยากรในการเจริญเติบโต ซึ่งอาจทำให้เกิดการบุกรุกทำลายป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติมากกว่าเดิม
หนึ่งในนั้นคือ ปาล์มน้ำมัน ที่นำมาผลิตน้ำมันปาล์ม ส่วนประกอบสำคัญที่อยู่ในทุกสิ่งตั้งแต่อาหาร ผลิตภัณฑ์ความงาม ไปจนถึงเชื้อเพลิงชีวภาพ และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด แม้ว่าอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มจะได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น แต่ก็ยังคงมีหลายพื้นที่ในโลกที่มีการตัดไม้ทำลายป่า เพื่อนำไปปลูกปาล์มจนเกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
Savor กล่าวว่าเนยของพวกเขาดีกว่าเนยทั่วไปและเนยเทียม เนื่องจากไม่จำเป็นต้องใช้พืช สัตว์ หรือสารเคมีที่ใช้ทำเนย มาการีน และผลิตภัณฑ์ไขมันอื่น ๆ
จากข้อมูลของ Pitchbook ผู้ให้บริการข้อมูลเชิงลึกที่ครอบคลุมตลาดทุนทั่วโลก ระบุว่า ในปัจจุบัน Savor ได้ระดมทุนมากกว่า 33 ล้านดอลลาร์จาก BEV และบริษัทธุรกิจเงินร่วมลงทุนอื่น ๆ เช่น Climate Capital และ CPT Capital
Savor ตั้งเป้าว่าเนยที่ผลิตจากคาร์บอนจะเป็นผลิตภัณฑ์แรกของบริษัท โดยอาจจะเริ่มวางจำหน่ายในอีก 1-2 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ยังวางแผนที่จะผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น นม ไอศกรีม ชีส เนื้อสัตว์ และแม้แต่น้ำมันพืชที่ใช้บ่อยในประเทศเขตร้อน (tropical oils)
“ขณะนี้เราอยู่ในช่วงดำเนินการผ่านการอนุมัติตามกฎระเบียบเพื่อให้สามารถขายเนยของเราได้ และเราจะยังไม่ขายสินค้าจนถึงปี 2025 เป็นอย่างน้อย” อเล็กซานเดอร์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันอาหารสังเคราะห์ส่วนใหญ่ เช่น เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง ยังคงมีราคาแพง เนื่องจากมีต้นทุนในการผลิตสูง และยังไม่เป็นที่รู้จักต่อสาธารณะมากนัก ซึ่ง Savor ยืนกรานว่าจะสามารถแข่งขันกับต้นทุนของเนยแท้ได้ แต่อีกประเด็นที่น่ากังวลคือ ผู้ซื้อจะเปิดใจลองผลิตภัณฑ์ที่มาจากการทดลองหรือไม่
เกตส์สนับสนุนความโครงการริเริ่มนี้ โดยกล่าวในบล็อกส่วนตัวว่า “แนวคิดในการเปลี่ยนมาใช้ไขมันและน้ำมันที่ผลิตในห้องแล็บอาจดูแปลกในตอนแรก แต่ศักยภาพในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั้นมีมหาศาล จากการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งทำให้เราจะเข้าใกล้การบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศไปอีกก้าวหนึ่ง”
ที่มา: Futurism, Gates Notes, Inc., The Guardian