จับตา 'ลานีญา' สะเทือนไทย กระทบสินค้าเกษตร ดันเงินเฟ้อสูง

จับตา 'ลานีญา' สะเทือนไทย กระทบสินค้าเกษตร ดันเงินเฟ้อสูง

โลกเผชิญภาวะ ENSO ทั้งเอลนิโญ และลานีญา ทำให้สภาพอากาศแปรปรวน สร้างความเสียหายต่อสินค้าเกษตร ขณะที่ไทยเจอฝนแล้ง อุณหภูมิสูงตั้งแต่ปลายปี66 เป็นต้นมา คาดครึ่งปีหลัง ปี 2567 ไทยเจอ “ลานีญา”ฝนตกหนักรุนแรง และเกิดความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรและอัตราเงินเฟ้อไทย

KEY

POINTS

Key Point

  • ปี 2567 โลกจะเผชิญกับ “เอลนีโญ” ในช่วงเดือนม.ค. – เม.ย. และจะเข้าสู่สภาวะปกติ ในช่วงเดือนพ.ค. – ก.ค. จากนั้นจะเข้าสู่ “ลานีญา” ตั้งแต่เดือนส.ค”
  • ไทย คาดว่า ผลกระทบจาก “ลานีญา” จะเริ่มต้นตั้งแต่เดือนส.ค.เป็นต้นไป
  • ลานีญา ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อไทย ในสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์

สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยรายงานเกี่ยวกับ El Niño-Southern Oscillation (ENSO) ที่ผลต่อต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตรของไทย โดยโลกกำลังเผชิญกับ El Niño-Southern Oscillation (ENSO)  ซึ่งเป็นปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตศูนย์สูตร และความผันแปรของระบบอากาศ ในซีกโลกใต้ ทีเรียกว่า “Trade Wind” ที่ส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศทั่วโลก ปรากฏการณ์นี้ ประกอบด้วย 3 สภาวะ ได้แก่ สภาวะเป็นกลางหรือปกติ(Neutral) เอลนีโญ (El Niño) และ ลานีญา (La Niña) ซึงจะเกิดขึ้นหมุนเวียนต่อเนื่องกันไปไม่มีช่วงเวลาที่แน่นอน ทุก ๆ 2 – 3 ปี และแต่ละครั้งจะใช้เวลา 9 – 12 เดือน

องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration: NOAA) รายงานว่า ในปี 2567 โลกจะเผชิญกับ “เอลนีโญ” ในช่วงเดือนม.ค. – เม.ย. และจะเข้าสู่สภาวะปกติ ในช่วงเดือนพ.ค. – ก.ค. จากนั้นจะเข้าสู่ “ลานีญา” ตั้งแต่เดือนส.ค เป็นต้นไป

ขณะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสภาพภูมิอากาศแปรปรวนอย่างรุนแรงทั้ง “ปรากฏการณ์เอลนีโญ” ทำให้เกิดภาวะฝนแล้งและอุณหภูมิที่สูงขึ้น ต่อเนื่องมา ตั้งแต่ปลายปี 2566 และสิ้นสุดลงช่วงปลายไตรมาสแรกของปี 2567 ซึ่งปัญหาขาดแคลนน้ำในหลายพื้นที่น่าจะลดความรุนแรงลง

แต่ทว่า ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 คาดการณ์ว่าไทยจะเผชิญกับ “ปรากฏการณ์ลานีญา” ซึ่งมีแนวโน้มสูงที่จะเกิดภาวะฝนตกหนักรุนแรง และเกิดความเสียหายต่อผลผลิต ทางการเกษตร ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงการขาดแคลนวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง

จับตา \'ลานีญา\' สะเทือนไทย กระทบสินค้าเกษตร ดันเงินเฟ้อสูง

ปี 2554 “ลานีญา” มีส่วนสำคัญทำให้ฝนตกหนักและยาวนาน จนเกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ของไทย พื้นที่การเกษตรเสียหาย 11.20 ล้านไร่ ภาคการผลิตอุตสาหกรรมทั้งยานยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ก็ได้รับความเสียหายจากโรงงานถูกน้ำท่วม สร้างความเสียหาย ต่อระบบเศรษฐกิจกว่า 1.44 ล้านล้านบาท

ในปี 2567 ผลกระทบจาก “ลานีญา” คาดว่าจะเริ่มต้นตั้งแต่เดือนส.ค.เป็นต้นไป โดยจะทำให้ปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติ ประกอบกับอิทธิพลของพายุหมุนเขตร้อนที่จะเคลื่อนผ่านไทย ในช่วงเดือนส.ค. – ต.ค.ของทุกปี จะส่งผลให้ช่วงเวลาดังกล่าว เกิดภาวะน้ำท่วมขัง และอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพและปริมาณผลผลิตทางการเกษตร

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วม เป็นวงกว้างยังไม่สูงนัก เนื่องจากสถานการณ์เอลนีโญในช่วงครึ่งแรกของปีทำให้ปริมาณน้ำฝนลดลงและปริมาณน้ำฝนสะสม ทั้งปียังอยู่ในระดับต่ำจึงคาดว่าความเสียหายยังคงจำกัดอยู่เฉพาะในเขตพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากในภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือตอนล่างเท่านั้น

ปี 2566/67 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รายงานว่า พื้นที่ เกษตรกรรมนอกเขตชลประทาน ขาดแคลนน้ำรวมทั้งจะเกิด สภาวะฝนทิ้งช่วงในเดือนมิ.ย. – ก.ค. 2567 ทำให้พืชผลเกษตรจะได้รับผลกระทบ ได้แก่ ข้าว พืชไร่ (มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย) และพืชสวน (ลำใย กาแฟ ทุเรียน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน) ซึ่งคาดการณ์ว่าจะ กระทบพื้นที่การเกษตรกว่า 3.2 ล้านไร่ และจะมีมูลค่าความเสียหาย 5,793 ล้านบาท

จับตา \'ลานีญา\' สะเทือนไทย กระทบสินค้าเกษตร ดันเงินเฟ้อสูง

สำหรับแนวทางการมือรับกับปรากฏการณ์ ENSO ที่จะส่งผลกระทบต่อการค้าภาคเกษตรในอนาคต ประกอบด้วย 1.เกษตรกรควรประยุกต์ใช้ เทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่มีการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ 2.การสนับสนุนและส่ง เสริมการทำประกันภัยพืชผล เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ

3.การบริหารจัดการวัตถุดิบ และศึกษาตลาดล่วงหน้า เพื่อรับมือกับความผันผวนของต้นทุน สินค้าเกษตร และราคาสินค้าเกษตร เช่น การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 4.ภาครัฐสนับสนุนการจัดการน้ำเพื่อการเพาะปลูก โดยเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นทีนอกเขตชลประทาน พร้อมทั้งปรับปรุง เส้นทางน้ำให้สามารถระบายน้ำได้อย่าง มีประสิทธิภาพ

5.การพัฒนาเทคโนโลยีการพยากรณ์ อากาศ และระบบเตือนภัยล่วงหน้า เพื่อำนวยความสะดวกให้แก่เกษตรกร สามารถวางแผนเพาะปลูก และเตรียม รับมือกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง อย่างรวดเร็ว 6.การพัฒนาพันธุ์พืชและสัตว์ ที่ทนแล้ง ทนร้อน และทนน้ำท่วม รวมทั้งส่ง เสริมการเพาะปลูกพืชและพันธุ์ให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่

"พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผอ.สนค. "กล่าวว่า  ปรากฏการณ์ลานีญาที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่จะกระทบต่อสินค้าเกษตรแต่อาจกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อของไทย โดยสินค้าในตระกร้าเงินเฟ้อของไทยที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากลานีญา เป็นสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เป็นสำคัญ

โดยเฉพาะสินค้าเกษตร อาทิ ผักสด และผลไม้สด เนื่องจากเป็นสินค้าที่อ่อนไหวต่อสถานการณ์น้ำค่อนข้างมาก ซึ่งปริมาณน้ำฝนที่มากเกินไปจะกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูก เป็นอุปสรรคต่อการเก็บเกี่ยว และเกิดความเสียหายต่อผลผลิต นำไปสู่การสูงขึ้นของระดับราคาสินค้าจากปัญหาภาวะอุปทานขาดแคลน เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง สำหรับผักและผลไม้สดมีสัดส่วนในตะกร้าเงินเฟ้อของไทยประมาณ 5.83 %

"ปรากฏการณ์ลานีญา และผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนและความเสี่ยงที่จะเกิดปรากฏการณ์ลานีญาเป็นวัฏจักรตามธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และอาจส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อในหมวดสินค้าที่เกี่ยวข้อง"นายพูนพงษ์ กล่าว

ส่วนขนาดของผลกระทบคงต้องรอความชัดเจนของสถานการณ์อีกครั้ง หากปีนี้ความรุนแรงของปรากฏการณ์ลานีญาอยู่ในระดับต่ำ อาจทำให้มีปริมาณน้ำที่เพียงพอและเหมาะสมต่อการเพาะปลูก มีผลผลิตเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อภาคการเกษตร

อย่างไรก็ตาม หากปรากฏการณ์ลานีญามีความรุนแรงจนถึงขั้นเกิดอุทกภัย อาจนำมาซึ่งความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรและเกิดปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง

นอกจากผักและผลไม้ อาจส่งผลทางอ้อมไปยังกลุ่มสินค้าอื่นๆ ที่ใช้ผักและผลไม้เป็นหนึ่งในวัตถุดิบ อาทิ อาหารตามสั่ง ข้าวราดแกง และอาหารโทรสั่ง (Delivery) ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องคอยติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด วางแผนบริหารจัดการน้ำและช่วงเวลาการเก็บเกี่ยวผลผลิต พัฒนาพื้นที่เพาะปลูก รวมทั้งส่งเสริมการบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด