‘อะโวคาโด’ ผลไม้ดีต่อสุขภาพ แต่ทำโลกร้อน ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง

‘อะโวคาโด’ ผลไม้ดีต่อสุขภาพ แต่ทำโลกร้อน ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง

สวนอะโวคาโดส่วนใหญ่เติบโตได้จากปุ๋ยและเชื้อเพลิงฟอสซิลจำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น แต่กลับให้ผลผลิตน้อยกว่าพืชชนิดอื่นจำนวนมาก และมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อผลไม้หนึ่งกิโลกรัมที่สูงกว่า

KEY

POINTS

  • ต้นอะโวคาโดเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก เพื่อให้ได้ผลผลิต 1 กิโลกรัมจะต้องใช้น้ำเฉลี่ยประมาณ 1,000 ลิตร ถือว่าสูงกว่าผักและผลไม้ส่วนใหญ่ ซึ่งปัญหาหลักคืออะโวคาโดปลูกในภูมิภาคที่มีปัญหาเรื่องน้ำอยู่แล้ว
  • อะโวคาโด 1 กิโลกรัมจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าประมาณ 2.5 กิโลกรัม สูงกว่าผลไม้ชนิดอื่น ๆ 
  • ในแต่ละปีพื้นที่ป่ามากถึง 25,000 เฮกตาร์ในรัฐมิโชอากัง แหล่งผลิตอะโวคาโดที่ใหญ่ที่สุดของเม็กซิโก ถูกทำลายลง เพื่อนำไปปลูกอะโวคาโด

เมื่อเทรนด์รักสุขภาพกลายเป็นที่พูดถึงทั่วโลก “อะโวคาโด” เป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ส่งผลให้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนอะโวคาโดเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า แต่ผลไม้ยอดนิยมชนิดนี้กำลังเป็นที่ถกเถียงกันมากขึ้น เนื่องจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการเพาะปลูกและการขนส่งไปจำหน่ายไปทั่วโลก

อะโวคาโดมีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ และจะเจริญเติบโตได้ดีในสภาพภูมิอากาศอบอุ่น ซึ่งมีหลายร้อยสายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยในปัจจุบัน คือพันธุ์แฮส (Hass) โดยมีการปลูกมาแล้วเกือบ 100 ปี

ส่วนหนึ่งที่อะโวคาโดได้รับความนิยมในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมานั้นมาจากผลการตลาดที่ชูให้เป็น “ซูเปอร์ฟู้ด” ซึ่งเป็นแหล่งวิตามิน แร่ธาตุ และไขมันไม่อิ่มตัวที่ดี ที่สามารถทานได้ง่าย ด้วยเนื้อครีม รสชาติมัน ทำเป็นอาหารและเครื่องดื่มได้หลากหลาย

เช่นเดียวกับการเกษตรสมัยใหม่ส่วนใหญ่ สวนอะโวคาโดส่วนใหญ่เติบโตได้จากปุ๋ยและเชื้อเพลิงฟอสซิลจำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น แต่กลับให้ผลผลิตน้อยกว่าพืชชนิดอื่นจำนวนมาก และมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อผลไม้หนึ่งกิโลกรัมที่สูงกว่า

โดยเฉลี่ยแล้ว อะโวคาโด 1 กิโลกรัมจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าประมาณ 2.5 กิโลกรัม ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่เป็นผลจากการผลิตและขนส่งอะโวคาโด เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์ ซึ่งรอยเท้าคาร์บอนของอะโวคาโดสูงกว่ากล้วยมากกว่า 2 เท่า อีกทั้งยังสูงกว่าแอปเปิ้ลถึง 5 เท่า 

ต้นอะโวคาโดเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก เพื่อให้ได้ผลผลิต 1 กิโลกรัมจะต้องใช้น้ำเฉลี่ยประมาณ 1,000 ลิตร ถือว่าสูงกว่าผักและผลไม้ส่วนใหญ่ แต่ต่ำกว่าธัญพืชบางชนิด เช่น ข้าว ซึ่งปัญหาหลักคืออะโวคาโดปลูกในภูมิภาคที่มีปัญหาเรื่องน้ำอยู่แล้ว

เม็กซิโก ผู้ผลิตอะโวคาโดรายใหญ่ที่สุดของโลก กำลังเผชิญกับภาวะแห้งแล้งเป็นเวลานาน ดังนั้น การให้น้ำในพื้นที่ปลูกอะโวคาโดจึงอาจบ่อนทำลายการเข้าถึงน้ำของประชากรในท้องถิ่น ปัญหาการกระจายน้ำที่เป็นธรรมนี้อาจเลวร้ายลงภายในทศวรรษข้างหน้า

นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อธรรมชาติที่ต้องพิจารณา เพราะปรกติแล้วเกษตรกรมักจะปลูกต้นอะโวคาโดรวมกับพืชชนิดอื่น ๆ ในลักษณะพืชแซม ไม่ได้เป็นพืชหลัก ซึ่งจะปลูกไว้สำหรับการบริโภคในครัวเรือนเป็นหลัก ไม่เน้นส่งขาย แต่เมื่อความต้องการอะโวคาโดจากสหรัฐและยุโรปเพิ่มขึ้น อะโวคาโดกลายเป็นพืชส่งออกเป็นหลัก

เกษตรกรเปลี่ยนรูปแบบการผลิตอะโวคาโดเป็นระบบเกษตรกรรมพืชเดี่ยว (Monoculture) ปลูกแต่อะโวคาเพียงอย่างเดียวในบริเวณกว้างเพื่อเพิ่มผลผลิตให้ได้สูงสุด ซึ่งวิธีการนี้ได้ลดจำนวนพืชพื้นเมืองชนิดอื่นลง และทำให้ให้ต้นพืชเสี่ยงต่อศัตรูพืชและโรคมากกว่าการปลูกแบบผสม

ทั้งหมดนี้หมายความว่าจำเป็นต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยสังเคราะห์ในปริมาณที่มากขึ้นในการดูแลอะโวคาโด สิ่งเหล่านี้ส่งผลเสียต่อความหลากหลายทางชีวภาพ คุณภาพดิน และสุขภาพของมนุษย์

ที่แย่กว่านั้นคือ ในบางภูมิภาคการเพิ่มพื้นที่ปลูกอะโวคาโด กำลังทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า ในแต่ละปีพื้นที่ป่ามากถึง 25,000 เฮกตาร์ในรัฐมิโชอากัง แหล่งผลิตอะโวคาโดที่ใหญ่ที่สุดของเม็กซิโก ถูกทำลายลง เพื่อนำมาปลูกอะโวคาโดส่งไปขายในสหรัฐ

มิโชอากังมีพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด เช่น เสือจากัวร์ เสือพูมา หมาป่าโคโยตี้ และผีเสื้อจักรพรรดิ ดังนั้นการเพิ่มการผลิตอะโวคาโดในภูมิภาคนี้อาจเป็นภัยคุกคามครั้งใหญ่ต่อความหลากหลายทางชีวภาพ

นอกจากนี้ อะโวคาโดยังสร้างผลกระทบต่อมนุษย์อีกด้วย แม้ว่าการส่งออกอะโวคาโดสามารถช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร แต่พวกเขาก็ยังเป็นกลุ่มที่รู้สึกถึงความรุนแรงของปัญหาสิ่งแวดล้อม 

อีกทั้งการปลูกอะโวคาโดในบางพื้นที่ เชื่อมโยงกับการก่ออาชญากรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยบางเมืองและหมู่บ้านเริ่มเบื่อหน่ายกับปัญหาเหล่านี้ จนทำให้การปลูกอะโวคาโดเป็นสิ่งผิดกฎหมายโดยสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังคงไม่มีทางออกสำหรับการเพาะปลูกอะโวคาโดอย่างยั่งยืน แม้จะมีความพยายามในการเพาะปลูกอะโวคาโดแบบออร์แกนิก ซึ่งอาจจะช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกร และเป็นผลดีต่อความหลากหลายทางชีวภาพ แต่กระบวนการนี้ก็ไม่ได้ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้น้อยลงได้ แถมยังมีต้นทุนสูงเกินไปสำหรับเกษตรกรรายย่อยในประเทศกำลังพัฒนา


ที่มา: The ConversationWorld Economic Magazine