‘ปารีส’ ไม่มี ‘ฉลาม’ ว่ายน้ำใน ‘แม่น้ำแซน’ ได้สบายใจ

‘ปารีส’ ไม่มี ‘ฉลาม’ ว่ายน้ำใน ‘แม่น้ำแซน’ ได้สบายใจ

“แม่น้ำแซน” ไม่มี “ฉลาม” อาศัยอยู่ใต้น้ำ ฉลามส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในน้ำเค็มที่มีความเข้มข้นสูง และต่อให้เข้ามาได้ก็มักจะอ่อนแรง ไม่สามารถไล่เขมือดคนได้

KEY

POINTS

  • “แม่น้ำแซน” ไม่มี “ฉลาม” อาศัยอยู่ใต้น้ำ ฉลามส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในน้ำเค็มที่มีความเข้มข้นสูง
  • ที่สำคัญน้ำในแม่น้ำแซนยังสกปรกเกินกว่าที่ฉลามจะอยู่ได้ อีกทั้งบริเวณปากแม่น้ำค่อนข้างตื้น
  • โลกใบนี้ยังคงมี “ฉลามน้ำจืด” แต่ไม่ฉลามเหล่านี้ไม่ได้อาศัยอยู่ในยุโรป และยังเสี่ยงสูญพันธุ์

ชื่อของ “แม่น้ำแซน” กลายเป็นที่พูดถึงอย่างมากในช่วงปี 2024 เนื่องจากสถานที่แห่งนี้จะมีบทบาทสำคัญในการแข่งขัน “โอลิมปิก 2024” ที่ฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพ ทั้งใช้จัดพิธีเปิด รวมถึงจัดการแข่งขันไตรกีฬาและว่ายน้ำมาราธอน ซึ่งหลายฝ่ายเป็นกังวลถึงความสะอาดของแม่น้ำ จน “แอนน์ ฮิดัลโก” นายกเทศมนตรีของกรุงปารีสต้องลงไปว่ายน้ำพิสูจน์ เรียกความเชื่อมั่น

อีกทั้งแม่น้ำแห่งนี้ยังถูกใช้เป็นโลเคชันหลักใน “Under Paris” ภาพยนตร์จาก “Netflix” ที่เล่าถึงเหตุการณ์ฉลามบุกอาละวาดในแม่น้ำแซน จนกลายเป็นภาพจำว่าแม่น้ำแซนมี “ฉลาม” อาศัยอยู่ใต้น้ำ

เนื่องด้วย Under Paris ได้รับความนิยมอย่างมาก เมื่อตอนที่แอนน์ ฮิดัลโก ลงว่ายไปว่ายน้ำในแม่น้ำแซน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักกีฬา ว่าสะอาดพอที่จะลงไปว่ายน้ำ หลายคนจึงติดภาพไปแล้วว่าแม่น้ำแซนมีฉลามอยู่ และเป็นห่วงว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบในซีรีส์ แต่ความเป็นจริงคือ “ไม่มีฉลามอยู่ในแม่น้ำแซน”

แม่น้ำแซนมีความยาวประมาณ 777 กิโลเมตร เชื่อมต่อกับมหาสมุทรแอตแลนติก ผ่านทางช่องแคบอังกฤษ โดยเรือเดินสมุทรสามารถเข้ามาแม่น้ำแซนได้ประมาณ 120 กิโลเมตรจากทะเล ทำให้สัตว์น้ำไม่ค่อยหลงเข้ามาในแม่น้ำแซนมากนัก

“แม่น้ำแซน” ไม่มี “ฉลาม”

เอลี ฮูด ผู้อำนวยการฝ่ายอนุรักษ์ของ Shark Trust องค์กรส่งเสริมการศึกษา การจัดการ และการอนุรักษ์ฉลาม กล่าวว่า “เมืองใหญ่ ๆ หลายเมืองตั้งอยู่บนเส้นทางน้ำขึ้นน้ำลง ซึ่งเป็นน้ำเค็มและน้ำจืดปะปนกัน และเราได้รับรายงานว่าสัตว์ทะเล ตั้งแต่วาฬและโลมาตัวเล็ก ไปจนถึงฉลามที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งหลงเข้ามาในแม่น้ำบ้างเป็นครั้งคราว แต่ไม่ใช่ที่ปารีส”

ช่องแคบอังกฤษ ถือเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีทั้งฉลามและปลากระเบนอยู่หนาแน่น แต่ฉลามส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในน้ำเค็มที่มีความเข้มข้นสูง ไม่ชอบน้ำจืด พวกมันจึงไม่ค่อยหลงเข้ามาในแม่น้ำมากนัก 

ที่สำคัญน้ำในแม่น้ำแซนยังสกปรกเกินกว่าที่ฉลามจะอยู่ได้ อีกทั้งบริเวณปากแม่น้ำค่อนข้างตื้น

ขณะเดียวกัน ทางด้านสรีรวิทยาของฉลามแล้ว มีฉลามเพียงไม่กี่สายพันธุ์ที่วิวัฒนาการให้สามารถทนต่อความเค็มได้หลากหลายระดับ ดังนั้นหากฉลามหลงเข้ามาในแม่น้ำ ซึ่งมีความเค็มระดับต่ำ พวกมันจะไม่สามารถควบคุมระดับได้ สูญเสียน้ำในร่างกาย และจะทำให้ขาดน้ำในที่สุด

ในภาพยนตร์เราอาจจะเห็นฉลามที่หลุดเข้ามากระหายเลือด ไล่กัดคนอย่างบ้าคลั่ง แต่ในชีวิตจริง ฉลามน้ำเค็ม ส่วนใหญ่ที่หลงเข้ามาในแม่น้ำ มักจะมีสภาพอ่อนแรง ไม่สามารถไล่ฆ่าคนได้อย่างสนุกสนาน ครั้งล่าสุดที่เจอฉลามขนาดในยุโรป ต้องย้อนกลับไปถึงปี 1787 โดยพบฉลามกลางกรุงลอนดอนในสภาพไม่สู้ดีนัก แม้ว่าจะสงสัยว่ามันอาจจะกินคนมาก่อนแล้วก็ตาม เนื่องจากพบนาฬิกาสีเงินอยู่ในท้องของมัน

ส่วนในฝรั่งเศส นับตั้งแต่ปี 1580 เป็นต้นมามีรายงานพบฉลามโจมตีมนุษย์ (โดยไม่ได้รับการยืนยัน) เพียงแค่ 5 ครั้งเท่านั้น

โลกนี้ “ฉลามน้ำจืด” แต่ไม่ได้อยู่ในแม่น้ำแซน

ในโลกนี้มี “ฉลามน้ำจืด” อยู่หลายสายพันธุ์ ได้แก่ ฉลามแม่น้ำคงคา ฉลามแม่น้ำนิวกินี ฉลามฟันหอก ฉลามหัวบาตร และอีกหลายสายพันธุ์ที่พบแม่น้ำในเกาะบอร์เนียว ซึ่งยังไม่สามารถระบุสายพันธุ์ได้ แต่ทั้งหมดนี้ไม่มีถิ่นที่อยู่ในยุโรปเลย

ฉลามหัวบาตร” เป็นฉลามน้ำจืดปรับตัวได้ดี สามารถอยู่อาศัยได้ทั้งในน้ำเค็มและน้ำจืด รวมไปถึงน้ำอุ่น น้ำตื้น หรือแม้แต่น้ำกร่อย ฉลามชนิดนี้พบได้บ่อยในน่านน้ำชายฝั่งเขตร้อนหรือกึ่งเขตร้อน โดยพวกมันจะว่ายช้า ๆ อยู่ใกล้ก้นทะเล และฉลามที่ค่อนข้างดุร้ายมีข่าวโจมีตีมนุษย์อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งบางรายถึงขั้นเสียชีวิต

แต่ถึงจะมีข่าวกัดมนุษย์ ฉลามหัวบาตรก็อยู่ในสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เช่นกัน เนื่องจากการทำประมงเกินขีดจำกัด การสูญเสียถิ่นที่อยู่จากสภาพแวดล้อมใกล้ชายฝั่งและบริเวณปากแม่น้ำเสื่อมโทรม

ปัจจุบันนี้ หนึ่งในสามของฉลามและปลากระเบนกำลังใกล้สูญพันธุ์ โดยเฉพาะฉลามบอร์เนียว ฉลามหางเล็ก ฉลามหนูสีเรียบ ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ซึ่งฉลามเหล่านี้มักจะติดมาอยู่ในอวนลาก ซึ่งเรียกว่า “การจับสัตว์น้ำพลอยได้” ในขณะที่ในบางภูมิภาคจงใจจับฉลาม เพื่อมาทำ “หูฉลาม” ซึ่งจะตัดครีบพวกมัน และจับโยนกลับลงไปในน้ำ ทำให้พวกมันจะตายอย่างช้า ๆ อย่างทรมาน เพราะครีบมันไม่สามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้

แม้จะเป็นไปได้ยากที่จะพบฉลามในแม่น้ำแซน แต่ที่ผ่านมาก็มีสัตว์แปลก ๆ มาโผล่ในแม่น้ำแซนหลายชนิด เช่นในปี 2022 มีวาฬเบลูกาแก่และป่วยอยู่ในแม่น้ำ

ผู้เชี่ยวชาญด้านวาฬกล่าวว่าวาฬตัวนี้อาจหลงเข้ามาในแม่น้ำ เนื่องบริเวณดังกล่าวอาจมีเสียงดังรบกวน รบกวนคลื่นโซนาร์ของวาฬ จนทำให้พลัดหลงเข้ามาในแม่น้ำ

อีกหนึ่งกรณีที่น่าเศร้า ในเดือนพฤษภาคม ปี 2022 มีผู้พบวาฬออร์กาตัวหนึ่งเสียชีวิตในแม่น้ำแซน แม้ว่าจะพบว่ามันถูกยิงเข้าที่กะโหลกศีรษะ แต่สาเหตุการตายของมันมาจากการขาดสารอาหาร เนื่องจากว่ายทวนน้ำมาหลายวัน


ที่มา: Connexion FranceMetroThe Conversation