PQS Eco Park สร้างความยั่งยืนระบบนิเวศน์ แก้ปัญหาผลผลิตมันสำปะหลังตกต่ำ
PQS ผนึกเกษตรกร ชุมชน พันธมิตร ดันธนาคารต้นไม้ สร้างระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์ให้ชุมชนรอบโรงงานมุกดาหาร พัฒนา PQS Eco Park นำร่อง 250 ไร่ เป็นจุดเริ่มต้นฟื้นฟูป่า อนุรักษ์ดิน ช่วยเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง สร้างความยั่งยืนแหล่งวัตถุดิบ สร้างความแข็งแกร่งให้กับชุมชน
นายรัฐวิรุฬห์ ชาญจึงถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พรีเมียร์ควอลิตี้สตาร์ช จำกัด (มหาชน) หรือ PQS เปิดเผยถึงโครงการปลูกต้นไม้ให้แผ่นดิน หนึ่งในจิ๊กซอว์ของ PQS Eco Park ว่า บริษัทให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมกับประชาคมโลกทุกภาคส่วนในภาระกิจลดโลกร้อน ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2573 โดยหลากหลายวิธีการ ที่สำคัญคือการดูดกลับคืนมาด้วยโครงการปลูกต้นไม้ให้แผ่นดินหรือธนาคารต้นไม้
“เราทำธุรกิจเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายแป้งมันสำปะหลังชั้นพิเศษ และแป้งดัดแปร เราได้รับผลกระทบจากสภาวะอากาศที่แปรปรวน ซึ่งมีนัยยะสำคัญต่อคุณภาพ และผลผลิตแป้งมันสำประหลังที่เรารับซื้ออย่างมาก คณะกรรมการบริษัท และทีมบริหารจึงได้หาวิธีการที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับวัตถุดิบ"
ทั้งนี้ ต้องหาวิธีการอนุรักษ์ดิน เพื่อเพิ่มผลิตการปลูกมันเพราะถ้าปล่อยไปนานๆ ผลผลิตก็จะตกต่ำลงไปเรื่อยๆ เรามีโอกาสได้ ไปศึกษาดูงานที่ฟาร์มของคุณปรีดา หงอกสีมา เจ้าของ “วรรณพรรณ ฟาร์ม” จังหวัดขอนแก่น ไร่เกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งทำให้ได้แนวความคิดในการอนุรักษ์ดิน และเดินหน้าปลูกต้นไม้ให้แผ่นดิน
สำหรับโครงการปลูกต้นไม้ให้แผ่นดิน หรือโครงการธนาคารต้นไม้ เป็นโครงการที่ PQS ร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย หลายภาคส่วนเพื่อร่วมกันปลูกต้นไม้ เพื่อดักจับคาร์บอน เพิ่มพื้นที่สีเขียว และเพื่อนำไปสู่การสร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์ให้กับชุมชน รอบโรงงานเพื่อให้ PQS Eco Park เป็น Super Market ของชุมชนให้ได้
สำหรับโครงการ PQS Eco Park ตั้งอยู่บนที่ดินพื้นที่ 250 ไร่ใกล้โรงงานของบริษัทที่จังหวัดมุกดาหาร โดยบริษัทได้กำหนดยุทธศาสตร์ของโครงการให้ครบทุกมิติของ ESG หรือการพัฒนาบริษัทหรือองค์กรตามหลักความยั่งยืน ( Sustainability) มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และเป็นโครงการนำร่องหรือตัวอย่างให้กับคนทั่วไป ซึ่งในโครงการดังกล่าว จะแบ่งพื้นที่ออกเป็น ส่วนๆ ประกอบด้วย ส่วนงานวิจัยและพัฒนามันสำปะหลังเพื่อผลผลิตยั่งยืนแก้ปัญหาเรื่องโรคระบาด
ต่อมาจะเป็นโซนปลูกป่าเพื่อให้เป็นป่านิเวศน์ช่วยกักเก็บความชุ่มชื่นให้พื้นดิน เพิ่มสิ่งมีชีวิตให้พื้นป่าเพื่อให้ตอบสนองต่อการบำรุงดิน และเป็นแหล่งสร้างอาหารให้ชุมชน พวกพรรณไม้ต่างๆ นอกจากนี้จะทำเป็นจุดฝึกอบรวม รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับบุคคลภายนอกที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงานและสุดท้ายต้องการให้เป็นตลาดนัดชุมชนที่เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนของชุมชนด้วย
โครงการธนาคารต้นไม้ของ PQS เป็นโครงการเรือธงของ PQS ในการสร้างความยั่งยืนให้กับห่วงโซ่ทางธุรกิจ โดยบริษัทมุ่งมั่นในการให้การ สนับสนุนการปลูกต้นไม้ร่วมกับเครือข่ายเกษตรกร ชุมชน และพนักงาน เพื่อเป้าหมายระยะยาวในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบริษัท และสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ชุมชน ที่เข้าร่วม ด้วยการซื้อ – ขายคาร์บอนเครดิต
“เรามองเรื่องคาร์บอนเครดิตเป็นเมล็ดพันธุ์ที่จะเป็นเครือข่ายต่อยอดต่อไป เพราะการปลูกป่าถ้าเกิดขึ้นในใจคนก็จะเป็นจุดเริ่มต้นฟื้นฟูป่า เราวางแผนที่จะขยายไปใน 3 จังหวัด กาฬสินธุ์ สกลนคร และมุกดาหาร เพื่อให้เป็นคัสเตอร์ธนาคารต้นไม้และให้เป็นจุดเริ่มต้นในการรับมือกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่แปรปรวน ซึ่งจะเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร ชุมชน เกษตรกรในระดับอนุภาคของสังคม”นายรัฐวิรุฬห์ กล่าว
ขณะที่เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ผู้บริหาร พนักงาน PQS และเกษตรกรในชุมชน ได้ร่วมกันปลูกต้นไม้ 2,867 ต้น ในโครงการปลูกต้นไม้เพื่อสร้างระบบนิเวศน์สีเขียว สร้างแหล่งอาหารชุมชน ช่วยลดปัญหาโลกร้อนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการธนาคารต้นไม้ ณ แปลงสาธิต PQS Eco Park