รักษ์โลกตลอดไป ‘โอลิมปิก 2024’ บริจาคอุปกรณ์กีฬา ของใช้ในงานให้องค์กรต่างๆ

รักษ์โลกตลอดไป ‘โอลิมปิก 2024’ บริจาคอุปกรณ์กีฬา ของใช้ในงานให้องค์กรต่างๆ

“โอลิมปิก 2024” ปิดฉากลงแล้ว นักท่องเที่ยวและนักกีฬาเดินทางกลับประเทศ อัฒจันทร์เริ่มเงียบเหงาลงและหมู่บ้านนักกีฬาก็ว่างเปล่า แล้วอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการแข่งขันจะเป็นอย่างไรต่อไป ? ผู้จัดงานเตรียมแผนไว้เรียบร้อยแล้ว

KEY

POINTS

  • สิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์จำนวนมากที่ใช้สำหรับการแข่งขัน โอลิมปิก 2024 จะถูกนำไปใช้ต่อในการแข่งขันพาราลิมปิก  และหลังจากเสร็จสิ้นการแข่งขันพาราลิมปิก อุปกรณ์เหล่านี้จะถูกส่งต่อไปยังภาคส่วนต่าง ๆ
  • ในตอนนี้อุปกรณ์ราว 90% จากทั้งหมด 6 ล้านชิ้น ได้เจ้าของใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้บางส่วนยังนำมาขายให้แก่แฟน ๆ และผู้ชมได้ซื้อเก็บไว้เป็นของที่ระลึก
  • กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจำนวนมากเชื่อว่าการแข่งขันโอลิมปิกไม่ได้ยั่งยืนอย่างแท้จริง เนื่องจากยังมีการก่อสร้างจำนวนมากและมีเที่ยวบินหลายล้านเที่ยว แถมถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและ “การฟอกเขียว” จากผู้สนับสนุนรายใหญ่

โอลิมปิก 2024” ปิดฉากลงแล้ว นักท่องเที่ยวและนักกีฬาเดินทางกลับประเทศ อัฒจันทร์เริ่มเงียบเหงาลงและหมู่บ้านนักกีฬาก็ว่างเปล่า แล้วอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการแข่งขันจะเป็นอย่างไรต่อไป ? ผู้จัดงานเตรียมแผนไว้เรียบร้อยแล้ว

ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา การแข่งขันโอลิมปิกขึ้นชื่อว่าเป็นการกิจกรรมที่ผลาญเงินครั้งใหญ่ ทำให้ประเทศเจ้าภาพกลายเป็นหนี้มานักต่อนัก หลังจากแข่งขันเสร็จ สนามกีฬาถูกปล่อยทิ้งร้าง แถมต้องเสียค่าบำรุงรักษาปีละเป็นล้าน แต่ปารีสเลือกจะทำต่างออกไปจากเดิม

แข่งขันโอลิมปิก 2024 ที่กรุงปารีส คณะผู้จัดงานตั้งเป้าจะปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” น้อยกว่าการแข่งขันโอลิมปิก 2012 ที่ลอนดอน 50% ดังนั้นคณะจัดงานจึงเข้มงวดกับทุกกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อน ไม่ว่าจะเป็นการผลิตไฟฟ้า อาหาร การเดินทางมายังสถานที่จัดการแข่งขัน รวมไปถึงการก่อสร้างและจัดเตรียมสถานที่

คณะจัดการแข่งขัน “รีโนเวต” สถานที่แข่งขันแทนที่จะสร้างใหม่ ส่วนสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์ที่ใช้ในการแข่งขันต่าง ๆ ตั้งแต่ลูกเทนนิส ไปจนถึงทรายสำหรับวอลเลย์บอลชายหาด จะต้องสามารถทำไปใช้ต่อได้หลังจากจบการแข่งขันแล้ว

รักษ์โลกตลอดไป ‘โอลิมปิก 2024’ บริจาคอุปกรณ์กีฬา ของใช้ในงานให้องค์กรต่างๆ

โพเดียมรับรางวัลจะถูกนำเอาโลโก้ออก เพื่อนำไปใช้ในงานอื่นต่อไป

ส่งต่ออุปกรณ์ “โอลิมปิก 2024” ให้หน่วยงานต่าง ๆ 

จอร์จินา เกรนอน ผู้อำนวยการด้านความยั่งยืนของการแข่งขันโอลิมปิกที่ปารีสในปี 2024 บอกกับ AFP ว่าแนวทางดังกล่าวถือเป็นแนวทางใหม่สำหรับอีเวนต์กีฬาระดับโลก ซึ่งเป็นการคิดรูปแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขึ้นมาใหม่ โดยเริ่มจากการลิสต์รายการสิ่งของที่จำเป็นสำหรับงานแสดงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก

โอลิมปิกที่ปารีสมีการแข่งขันกีฬา 32 ประเภท และต้องรองรับผู้ชมประมาณ 10 ล้านคน ดังนั้นพวกเขาจะต้องคำนวณว่าต้องใช้ของเท่าใดบ้าง จากนั้นจึงเข้าสู่ประกวดราคา โดยมีข้อกำหนดว่าอุปกรณ์และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จะต้องนำไปใช้ต่อได้หลังจากจบการแข่งขัน

ในช่วงเริ่มต้นของกระบวนการจัดซื้อ ทุกครั้งที่ปารีส 2024 ออกประกวดราคา พวกเขาจะรวมข้อกำหนดที่ขอให้ซัพพลายเออร์เสนอชีวิตใหม่ให้กับผลิตภัณฑ์ของตน

“เราทำเช่นนี้เพื่อให้พวกเขาเข้าใจว่าเราไม่ได้ต้องการซื้อแค่ของชิ้นเดียว จากนั้นก็ขึ้นอยู่กับพวกเขาที่จะเสนอสินค้าที่สุดให้กับเรา” เกรนอนกล่าว

สิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์จำนวนมากที่ใช้สำหรับการแข่งขันโอลิมปิกจะถูกนำไปใช้ต่อในการแข่งขันพาราลิมปิก ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม - 8 กันยายน และหลังจากเสร็จสิ้นการแข่งขันพาราลิมปิก อุปกรณ์เหล่านี้จะถูกส่งต่อไปยังภาคส่วนต่าง ๆ

ทรายละเอียดพิเศษที่ใช้สำหรับสนามวอลเลย์บอลชายหาดหน้าหอไอเฟล จะมอบให้แก่สโมสรแห่งหนึ่งในปารีส ส่วนแท่นรับรางวัลต่าง ๆ ถูกขัดโลโก้ โอลิมปิก 2024 ออก เพื่อนำไปใช้ในรายการอื่น ในส่วนของอุปกรณ์กีฬาอื่น ๆ เช่น ลูกเทนนิส ลูกทุ่มน้ำหนัก หอกซัดในกีฬาพุ่งแหลน จะถูกบริจาคให้กับสโมสรกีฬาของฝรั่งเศส

รักษ์โลกตลอดไป ‘โอลิมปิก 2024’ บริจาคอุปกรณ์กีฬา ของใช้ในงานให้องค์กรต่างๆ

สนามแข่งวอลเลย์บอลชายหาดหน้าหอไอเฟล จะถูกแยกชิ้นส่วนและส่งต่อไปยังองค์กรต่าง ๆ

นอกจากนี้ เฟอร์นิเจอร์สำนักงาน 600,000 ชิ้นที่เช่ามาจากบริษัท Lyreco ของฝรั่งเศส จะถูกส่งคืนให้บริษัท โดยทางบริษัทมีแพลนจะเปิดร้านเฟอร์นิเจอร์มือสอง 2 แห่งในฝรั่งเศส ขณะที่นอนกว่า 14,000 หลังที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลที่ใช้ในหมู่บ้านโอลิมปิก จะส่งมอบให้กับกองทัพฝรั่งเศส ส่วนฐานกระดาษแข็งของที่นอนเหล่านี้จะถูกนำไปรีไซเคิล 

เกรนอนกล่าวว่า ในตอนนี้อุปกรณ์ราว 90% จากทั้งหมด 6 ล้านชิ้น ได้เจ้าของใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้บางส่วนยังนำมาขายให้แก่แฟน ๆ และผู้ชมได้ซื้อเก็บไว้เป็นของที่ระลึก เช่น ธงที่ใช้ในพิธีการมอบเหรียญรางวัล และคบเพลิงที่ใช้ในการวิ่งคบเพลิงโอลิมปิก

ส่วนสระว่ายน้ำชั่วคราวสองสระ กำแพงปีนเขา และลานสเกตบอร์ดจะถูกขุดและย้ายออกไปเช่นกัน โดยส่วนใหญ่จะไปยังชานเมืองแซน-แซ็ง-เดอนี ย่านที่ยากจนทางตะวันออกเฉียงเหนือของปารีส เช่นเดียวกับอัฒจันทร์ชั่วคราวก็จะถูกรื้อถอนและนำกลับมาใช้เมื่อมีกิจกรรมต่าง ๆ 

รักษ์โลกตลอดไป ‘โอลิมปิก 2024’ บริจาคอุปกรณ์กีฬา ของใช้ในงานให้องค์กรต่างๆ

หน้าผาจำลองจะถูกย้ายไปไว้ที่ชานเมืองแซน-แซ็ง-เดอนี

 

“โอลิมปิก 2024” การฟอกเขียวครั้งใหญ่ ?

แม้ว่าจะเน้นเรื่องความยั่งยืน แต่การแข่งขันก็ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและ “การฟอกเขียว” จากผู้สนับสนุนรายใหญ่ เช่น บริษัทผลิตเหล็ก Arcelor หรือผู้ผลิตยานยนต์ Toyota ขณะที่ผู้ให้การสนับสนุนหลักอย่าง Coca-Cola ใช้ขวดพลาสติกหลายล้านขวด แม้ว่าผู้จัดงานจะให้คำมั่นว่าจะลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในสถานที่จัดการแข่งขันโอลิมปิกก็ตาม

ขณะเดียวกัน การแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้มีการผลิตสินค้าจำนวนมาก ทั้งของทีระลึกและของแจกพิเศษ ที่บางครั้งคนก็ไม่อยากได้ และลงเอยลงในถังขยะ

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจำนวนมากเชื่อว่าการแข่งขันโอลิมปิกไม่ได้ยั่งยืนอย่างแท้จริง เนื่องจากมีการก่อสร้างจำนวนมาก และมีเที่ยวบินหลายล้านเที่ยวรองรับนักกีฬาและผู้ชม ทั้งที่ผู้จัดงานตั้งใจจะให้นั่งรถไฟแทน แต่ก็พ่ายแพ้กับความสะดวกสบายของเครื่องบิน

แต่เกรนอน เชื่อว่าการแข่งขันโอลิมปิก 2024 ได้วางรากฐานการจัดงานกีฬาระดับโลกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไว้แล้ว “เราพูดเสมอว่าเราต้องเปลี่ยนงานเหล่านี้ให้กลายเป็นห้องทดลอง และเราต้องเร่งให้มันเกิดขึ้น” เธอกล่าว AFP


ที่มา: South China Morning PostThe Straits Times

รักษ์โลกตลอดไป ‘โอลิมปิก 2024’ บริจาคอุปกรณ์กีฬา ของใช้ในงานให้องค์กรต่างๆ