‘เด็ก’ เกินครึ่งโลก อยู่ในโซนอากาศร้อนจัด อันตรายต่อสุขภาพ ความเป็นอยู่
การวิเคราะห์ของ UNICEF พบว่า เด็กกว่า 500 ล้านคนทั่วโลกอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีวันร้อนจัดมากกว่าในช่วงทศวรรษ 1960 ถึง 2 เท่า และเด็ก ๆ ใน 8 ประเทศอาศัยอยู่บริเวณอุณหภูมิสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส เวลาครึ่งปี
KEY
POINTS
- เด็ก 466 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 5 ของโลก อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ต้องเผชิญกับวันที่อากาศร้อนจัดอย่างน้อยเป็นสองเท่าในแต่ละปี
- ปัจจุบัน เด็ก ๆ มากกว่าครึ่งหนึ่งใน 100 ประเทศทั่วโลก ต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า เมื่อเทียบกับ 6 ทศวรรษที่แล้ว
- เด็ก ๆ “มีความเสี่ยงเป็นพิเศษ” ในสภาพอากาศที่ร้อนจัด เนื่องจากร่างกายของพวกเขาไม่เหมือนผู้ใหญ่ ร่างกายของเด็กร้อนเร็วกว่า เหงื่อออกน้อยลง และเย็นลงช้ากว่า
เนื่องจากโลกยังคงร้อนขึ้น ผู้คนทั่วโลกจึงต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากสภาพอากาศ เช่น ความร้อนจัดและคลื่นความร้อนบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้น เด็ก ๆ จึงเสี่ยงต่ออันตรายดังกล่าวมากขึ้น
นักวิจัยของยูนิเซฟได้ทำการเปรียบเทียบอุณหภูมิเฉลี่ยในช่วงทศวรรษ 1960 และ 2020-2024 เพื่อประเมินความเร็วและขนาดของวันที่อากาศร้อนจัด ซึ่งกำหนดไว้ที่อุณหภูมิสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส ที่เพิ่มขึ้น พบว่าเด็ก 466 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 5 ของโลก อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ต้องเผชิญกับวันที่อากาศร้อนจัดอย่างน้อยเป็นสองเท่าในแต่ละปี เมื่อเทียบกับหกทศวรรษที่แล้ว
วันที่มีอากาศร้อนจัดจนอุณหภูมิสูงเกิน 35 องศาเซลเซียส กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กเกือบ 20% ทั่วโลกได้รับผลกระทบ และมีเด็กจำนวนมาก ที่ไม่สามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานหรือบริการที่จช่วยให้พวกเขารับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้
แคทเธอรีน รัสเซลล์ ผู้อำนวยการบริหารองค์การยูนิเซฟกล่าวว่า “ความร้อนจัดกำลังเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ความเป็นอยู่ และกิจวัตรประจำวันของเด็ก ๆ”
ปัจจุบัน เด็ก ๆ มากกว่าครึ่งหนึ่งใน 100 ประเทศทั่วโลก ต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า เมื่อเทียบกับ 6 ทศวรรษที่แล้ว ตามรายงานขององค์การยูนิเซฟ เด็กในแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลางต้องเผชิญกับวันที่อากาศร้อนจัดมากที่สุด และเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเวลาผ่านไป
เด็กทั้งหมด 123 ล้านคนหรือ 39% ในภูมิภาคนี้ต้องเผชิญหน้ากับอากาศที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 35 องศาเซลเซียสมากกว่า 4 เดือนต่อปี โดยในประเทศมาลีมีวันที่ร้อนจัดมากถึง 212 วัน เซเนกัลมี 198 วัน และซูดานมี 195 วัน
เดวิด นอต ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิอากาศระดับภูมิภาคของยูนิเซฟในแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลาง กล่าวว่า “การวิเคราะห์ใหม่ของยูนิเซฟนี้ เป็นการเตือนอย่างชัดเจนเกี่ยวกับความเร็วและจำนวนของวันที่อากาศร้อนจัดที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก การวิเคราะห์นี้เรียกร้องให้รัฐบาลใช้โอกาสอันมีค่านี้ในการดำเนินการและควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิอย่างเร่งด่วน”
ยิ่งเด็ก ๆ เจอวันที่อากาศร้อนจัดมากเท่าไหร่ สุขภาพและความเป็นอยู่ของพวกเขาก็จะยิ่งเลวร้ายลงเท่านั้น ทั้งจากความมั่นคงด้านอาหารและน้ำ ขัดขวางการเข้าถึงการศึกษา และผลักดันให้ผู้คนต้องอพยพ อุณหภูมิที่สูงขึ้นยังเชื่อมโยงกับภัยคุกคามต่อสุขภาพของเด็ก เช่น ภาวะทุพโภชนาการในเด็ก ทำให้พวกเขาเสี่ยงต่อโรคที่แพร่กระจายในอุณหภูมิที่สูงขึ้น เช่น โรคมาลาเรียและไข้เลือดออกมากขึ้น
นอตกล่าวว่าเด็ก ๆ “มีความเสี่ยงเป็นพิเศษ” ในสภาพอากาศที่ร้อนจัด เนื่องจากร่างกายของพวกเขาไม่เหมือนผู้ใหญ่ ร่างกายของเด็กร้อนเร็วกว่า เหงื่อออกน้อยลง และเย็นลงช้ากว่า เมื่อร่างกายของพวกเขาไม่สามารถควบคุมความร้อนได้ จะทำให้เกิดความเครียดจากความร้อน และพวกเขามีแนวโน้มที่จะเป็นโรคลมแดดหรือเสียชีวิตได้มากขึ้น
ปี 2023 เป็นปีที่มีอากาศร้อนที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ และนักวิทยาศาสตร์คาดว่าอุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ซึ่งจะส่งผลร้ายแรงต่อมนุษยชาติและโลก
การวิเคราะห์ของยูนิเซฟพบว่า ในแต่ละปีเด็ก ๆ ใน 8 ประเทศ รวมทั้งมาลี ไนเจอร์ เซเนกัล ซูดาน และซูดานใต้ ต้องใช้ชีวิตอยู่กับสภาพอากาศที่ร้อนจัดกว่า 35 องศาเซลเซียส มากกว่าครึ่งปี และเมื่อต้นปีนี้ มาลีประสบกับคลื่นความร้อนที่ทำลายสถิติ โดยอุณหภูมิสูงทะลุถึง 44 องศาเซลเซียส
ภูมิภาคซาเฮล เขตรอยต่อบริเวณใต้ทะเลทรายซาฮารา ซึ่งรวมถึงมาลี ไนเจอร์ เซเนกัล และซูดาน ถือเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นเขตเปลี่ยนผ่านระหว่างทะเลทรายซาฮาราที่แห้งแล้งและเขตที่อุดมสมบูรณ์ทางตอนใต้ของทะเลทราย จึงก่อให้เกิดแหล่งความร้อนตามธรรมชาติที่รุนแรง และอนุภาคฝุ่นจากทะเลทราย ที่ทำให้สภาพอากาศแปรปรวน
นอกจากนี้ เด็ก ๆ ในพื้นที่ดังกล่าวยังขาดโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ทนทานต่อสภาพอากาศ ตลอดจนน้ำดื่มสะอาด และบริการสุขภาพที่เหมาะสม ยังทำให้พวกเขาได้รับผลกระทบจากความร้อนรุนแรงมากกว่าเดิม รวมถึงทำให้เด็ก ๆ ไม่ได้เรียนหนังสืออีกด้วย
ชรูตี อาการ์วัล ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของ Save the Children มูลนิธิช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของเด็กทั่วโลก กล่าวว่าความร้อนที่รุนแรงส่งผลให้ต้องสั่งปิดโรงเรียนมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลกระทบต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็ก ๆ
เมื่อต้นปี 2024 ซูดานใต้ได้ปิดโรงเรียนทั้งหมด หลังจากต้องรับมือกับคลื่นความร้อน 45 องศาเซลเซียส ซึ่“เมื่อจำนวนวันที่อากาศร้อนเพิ่มขึ้น เราจะเห็นผลการเรียนรู้ของเด็กๆ ได้รับผลกระทบ ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาทุนมนุษย์” อาการ์วัลกล่าว
นอกจากนี้ อาการ์วัล ยังเปิดเผยว่า อาจมีความเสี่ยงทางอ้อมต่อสุขภาพของเด็ก ๆ ได้ เช่น หากความร้อนที่รุนแรงส่งผลให้พืชผลเสียหายหรือราคาอาหารพุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้เด็กขาดสารอาหาร
เพื่อลดผลกระทบของความร้อนที่รุนแรงต่อเด็ก อาการ์วัล กล่าวว่า ระบบสุขภาพและการศึกษาควรต้องมีความพร้อมในการรับมือต่อภัยความร้อน และเด็ก ๆ ควรมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการวางแผนและดำเนินการ โดยยูนิเซฟแนะนำให้ประเทศต่าง ๆ ดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศที่สนับสนุนสิทธิของเด็กในการมีสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ปลอดภัย และยั่งยืน โดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปฏิบัติตามข้อตกลงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“ยังมีความหวังสำหรับอนาคต แต่เราต้องดำเนินการทันที ก่อนที่จะสายเกินไป” นอตกล่าว
ที่มา: Bloomberg, The Guardian