‘สวิตเซอร์แลนด์’ แข่งหาไอเดียกู้ ‘อาวุธใต้ทะเลสาบ’ แบบปลอดภัย ชิงเงิน 2 ล้านบาท
สำนักงานกลางด้านอาวุธยุทโธปกรณ์แห่งสวิตเซอร์แลนด์ หรือ Armasuisse ประกวดหาไอเดียกู้ “อาวุธยุทโธปกรณ์” ที่อยู่ใต้ทะเลสาบกลับขึ้นมาอย่างปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดย 3 แนวคิดที่ดีที่สุด จะได้รับรางวัล 50,000 ฟรังก์สวิส หรือเกือบ 2 ล้านบาท
KEY
POINTS
- สวิตเซอร์แลนด์ประกวดหาไอเดียกู้ “อาวุธยุทโธปกรณ์” ที่อยู่ใต้ทะเลสาบกลับขึ้นมาอย่างปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ชิงเงินรางวัล 50,000 ฟรังก์สเกือบ 2 ล้านบาท
- ระหว่างปี 2461-2507 กองทัพได้ทิ้งอาวุธยุทโธปกรณ์หลายชนิดที่มีปัญหา ผลิตมาเกิน หรือล้าสมัยไปแล้ว รวมน้ำหนักกว่า 12,000 ตัน ลงในทะเลสาบหลายแห่งของสวิส
- ขณะนี้มีตะกอนละเอียดหนาถึง 2 เมตรปกคลุมอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ถูกทิ้งใต้บาดาลและการจะกู้พวกมันขึ้นมา อาจทำให้เกิดโคลนจำนวนมาก ที่จะทำให้ออกซิเจนในน้ำหายไป จนกระทบต่อระบบนิเวศในน้ำ
นักท่องเที่ยวที่เพลิดเพลินกับทัศนียภาพอันสวยงามของ “ทะเลสาบ” ในสวิตเซอร์แลนด์ แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าภายใต้ผืนน้ำที่สวยงามนี้ จะมีอาวุธยุทโธปกรณ์ ทั้งกระสุน ชนวนระเบิด ระเบิด TNT และอื่น ๆ น้ำหนักรวมกันหลายพันตัน เพราะในอดีตกองทัพสวิสใช้ทะเลสาบเป็นแหล่งทิ้งพวกมัน โดยเชื่อว่าสามารถกำจัดทิ้งได้อย่างปลอดภัย แต่ตอนนี้พวกเขากำลังจะหาวิธีจัดการกับอาวุธเหล่านี้อย่างปลอดภัยและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
สำนักงานกลางด้านอาวุธยุทโธปกรณ์แห่งสวิตเซอร์แลนด์ หรือ Armasuisse ประกวดหาไอเดียกู้ “อาวุธยุทโธปกรณ์” ที่อยู่ใต้ทะเลสาบกลับขึ้นมาอย่างปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดย 3 แนวคิดที่ดีที่สุด จะได้รับรางวัล 50,000 ฟรังก์สวิส หรือเกือบ 2 ล้านบาท
แม้ว่าแนวคิดเหล่านี้จะไม่ถูกนำไปใช้โดยตรงในปฏิบัติการกอบกู้ แต่จะทำหน้าที่เป็นจุดเริ่มต้น โดยการนำกระสุนขึ้นมาจากทะเลสาบก็ต่อเมื่อพวกมันเริ่มส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ระหว่างปี 2461-2507 กองทัพได้ทิ้งอาวุธยุทโธปกรณ์หลายชนิดที่มีปัญหา ผลิตมาเกิน หรือล้าสมัยไปแล้ว รวมน้ำหนักกว่า 12,000 ตัน ลงในทะเลสาบหลายแห่งของสวิส ไม่ว่าจะเป็น ทะเลสาบทูน ทะเลสาบเบรียนซ์ และทะเลสาบลูเซิร์น ที่ระดับความลึก 150-220 เมตร แต่อาวุธในทะเลสาบเนอชาแตลนั้นอยู่ต่ำกว่าผิวน้ำเพียง 6-7 เมตรเท่านั้น
ขณะที่ทะเลสาบเนอชาแตลยังมีอาวุธยุทโธปกรณ์ประมาณ 4,500 ตันอยู่ใต้น้ำ เพราะเป็นสถานที่ฝึกซ้อมทิ้งระเบิดของกองทัพอากาศสวิสเป็นเวลาหลายปี
ระเบิด กระสุน และวัตถุระเบิดอื่น ๆ ถูกทิ้งในทะเลสาบทูน
ด้วยปริมาณกระสุนจำนวนมาก และถูกทิ้งมานานแล้วอาจทำให้การกอบกู้อาวุธเหล่านี้ขึ้นมาอาจจะทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ ทำให้ Armasuisse ต้องการวิธีแก้ปัญหานี้ จึงได้จัดการระดมความคิดจากประชาชนขึ้นมา โดยเปิดกว้างให้ทุกความคิดและไม่จำเป็นต้องระบุตัวตนผู้สมัคร ซึ่งสามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้จากเว็บไซต์ และสามารถเสนอไอเดียได้ถึง 6 กุมภาพันธ์ 2568
แนวคิดที่ส่งเข้ามา จะถูกประเมินและพิจารณาโดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญจากหลายหน่วยงาน ทั้งสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย และบุคลากรจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ประกาศผลในเดือนเมษายน 2568 ซึ่งแนวคิดที่ได้รับคัดเลือก Armasuisse จะนำไปศึกษาวิจัยเพิ่มเติม
ทะเลสาบเบรียนซ์ หนึ่งในทะเลสาบที่มีการทิ้งอาวุธ
อาวุธอยู่ใต้ทะเลสาบนานเกินไป
จากการประเมินในปี 2548 เผยให้เห็นว่า ขณะนี้มีตะกอนละเอียดหนาถึง 2 เมตรปกคลุมอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ถูกทิ้งใต้บาดาลอยู่ และการจะกู้พวกมันขึ้นมา อาจทำให้เกิดโคลนจำนวนมาก นับว่าเป็นอันตรายต่อระบบนิเวศที่ละเอียดอ่อนของทะเลสาบ
ตะกอนและโคลนเหล่านี้อาจทำให้ออกซิเจนที่ไม่ค่อยมีอยู่แล้วในระดับน้ำลึกขนาดนี้หมดไป ซึ่งจะเป็นการทำลายระบบนิเวศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็น ความเสี่ยงที่อาวุธจะระเบิด ทัศนวิสัยใต้น้ำที่ไม่ดี ความลึกและกระแสน้ำ
อีกทั้งอาวุธยังมีขนาดที่แตกต่างกันออกไป ตั้งแต่ 4 มิลลิเมตร ไปจนถึง 20 เซนติเมตร และหนักได้ถึง 50 กิโลกรัม เนื่องจากกระสุนส่วนใหญ่ทำจากเหล็กและมีคุณสมบัติเป็นแม่เหล็ก ขณะที่ตัวจุดชนวนบางตัว ทำจากทองแดง ทองเหลือง หรืออะลูมิเนียมที่ไม่ใช่แม่เหล็ก
อาวุธที่ถูกทิ้งมานับร้อยปี จนมีโคลนและตะกอนปกคลุม
มาร์กอส บูเซอร์ นักธรณีวิทยาชาวสวิส ได้เขียนรายงานการวิจัยเมื่อสิบปีที่แล้ว เพื่อเตือนรัฐบาลถึงอันตรายของการทิ้งอาวุธในทะเลสาบ โดยบูเซอร์ระบุว่ามันจะทำให้เกิดความเสี่ยง 2 ประการ เขากล่าว ประการแรก แม้ว่าพวกมันจะอยู่ใต้น้ำ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดการระเบิด เพราะในหลายกรณีกองทัพไม่ได้ถอดฟิวส์ออกก่อนทิ้งอาวุธ
นอกจากนี้ยังมีการปนเปื้อนของน้ำและดิน มีโอกาสที่ TNT จะสร้างมลพิษให้กับน้ำในทะเลสาบและตะกอนได้
ปัจจัยเหล่านี้ล้วนทำให้การกอบกู้ที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นไปได้ยาก และคาดว่าจะต้องใช้เงินในการกู้อาวุธยุทโธปกรณ์เหล่านี้หลายพันล้านฟรังก์สวิส โดยบูเซอร์แนะนำให้รัฐบาลขอคำแนะนำจากสหราชอาณาจักร นอร์เวย์ หรือเดนมาร์ก ที่เคยจัดการกับซากเรือในช่วงสงคราม ที่มีอาวุธและระเบิดอยู่ภายใน ซึ่งอาจจะช่วยลดค่าใช้จ่าย และปลอดภัยกว่าได้
อาวุธที่อยู่ใต้ทะเลสาบ
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่กองทัพสวิสประมาทเลินเล่อกับอาวุธยุทโธปกรณ์ โดยกองทัพเปิดเผยว่า ในปี 2566 พลเรือนพบอาวุธที่ยังไม่ถูกใช้งานและระเบิดในเขตชนบทเพิ่มขึ้นถึง 12% เมื่อเทียบกับปี 2565 หรือแม้แต่บนธารน้ำแข็ง ที่กำลังละลายอย่างรวดเร็วจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็ยังเผยให้เห็นกระสุนจริงและกระสุนจริงที่เหลือจากการฝึกบนภูเขาสูงซึ่งเกิดขึ้นเมื่อหลายสิบปีก่อน
ในปี 2490 เกิดเหตุระเบิดครั้งใหญ่ที่หมู่บ้านมิธอลซ์ บนเทือกเขาแอลป์ เมื่ออาวุธกว่า 3,000 ตันที่กองทัพเก็บไว้บนภูเขาใกล้หมู่บ้านเกิดระเบิดขึ้น แรงระเบิดทำให้บ้านทั้งหมดราบเป็นหน้ากลอง และมีผู้เสียชีวิต 9 ราย ผู้คนในเมืองซูริก ที่อยู่ห่างออกไป 160 กิโลเมตร สามารถได้ยินเสียงระเบิด
ต่อมาในปี 2563 กองทัพเปิดเผยว่ามีระเบิดราว 3,500 ตัน ถูกฝังไว้ในภูเขา และจำเป็นต้องกู้ออกมาให้หมด ประชาชนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านจะต้องอพยพออกจากพื้นที่ภายในปี 2573 เพื่อให้กองทัพสามารถเคลื่อนย้ายหรือฝังอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เหลืออยู่อย่างปลอดภัย โดยคาดว่าจะต้องใช้เวลาดำเนินการประมาณ 10 ปีถึงจะแล้วเสร็จ ซึ่งชาวบ้านจะได้รับเงินชดเชยและการจัดหาที่อยู่ใหม่
ที่มา: BBC, Business Insider, Swiss Info