‘ดาวอังคาร’ มี ‘มหาสมุทร’ อยู่ใต้ดิน เพิ่มความหวังมนุษย์ย้ายที่อยู่

‘ดาวอังคาร’ มี ‘มหาสมุทร’ อยู่ใต้ดิน เพิ่มความหวังมนุษย์ย้ายที่อยู่

การศึกษาใหม่ของนาซา ระบุว่าดาวอังคารมีมหาสมุทรที่มีน้ำอยู่ใต้ดิน ทำให้คำถามว่าเราสามารถย้ายไปอยู่บนดาวอังคารได้หรือไม่ กลับมาถูกพูดถึงอีกครั้ง

KEY

POINTS

  • ตามการศึกษานาซา ระบุว่า อาจมีแหล่งน้ำใต้ดินอยู่ที่ใต้พื้นผิวดาวอังคารที่ลึกลงไป 11.5-20 กิโลเมตร ซึ่งจะซ่อนตัวอยู่ในรอยแตกร้าวของหินใต้ดิน โดยปริมาณน้ำที่มีอยู่อาจมากพอจนกลายเป็น “มหาสมุทร” ได้
  • นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าบนพื้นผิวของดาวอังคารเคยมีน้ำเมื่อ 3,000 ล้านปี แต่ลมสุริยะทำลายชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร กลายเป็นดาวที่แห้งแล้งและหนาวเย็นในที่สุด
  • ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่มุ่งมั่นพัฒนาโครงการตั้งรกรากบนดาวอังคาร แม้ปัจจุบันมนุษย์ยังไม่เคยไปเหยียบบนดาวอังคารเลยสักครั้ง 

ตามการศึกษาของนาซา ซึ่งผลการวิจัยถูกตีพิมพ์ในรายงานการประชุมของ สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐ (PNAS) ระบุว่า อาจมีแหล่งน้ำใต้ดินอยู่ที่ใต้พื้นผิวดาวอังคาร คาดว่าอยู่ลึกลงไปจากขั้นเปลือกพื้นผิวของดาวอังคารราว 11.5-20 กิโลเมตร ซึ่งจะซ่อนตัวอยู่ในรอยแตกร้าวของหินใต้ดิน โดยปริมาณน้ำที่มีอยู่อาจมากพอจนกลายเป็น “มหาสมุทร” ได้

ผลการวิจัยดังกล่าวอ้างอิงจากการวัดคลื่นไหวสะเทือนของยานอินไซต์ (InSight) ยานสำรวจดาวอังคารของนาซา ซึ่งใช้เครื่องตรวจวัดคลื่นไหวสะเทือนเพื่อตรวจจับโครงสร้างภายในดาวอังคารระหว่างปี 2018-2022

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าบนพื้นผิวของดาวอังคารเคยมีน้ำเมื่อ 3,000 ล้านปี ในตอนนั้นดาวอังคารยังมีแม่น้ำ ทะเลสาบ และมหาสมุทร ทว่าพื้นผิวของดาวอังคารได้สูญเสียน้ำไปเมื่อชั้นบรรยากาศของมันบางลง และผลวิจัยใหม่ยังบ่งชี้ว่าน้ำได้ซึมเข้าไปในเปลือกของดาวอังคารแล้ว

อลาสแตร์ กันน์ นักดาราศาสตร์วิทยุจากศูนย์ดาราศาสตร์ฟิสิกส์โจเดรลล์ แบงก์ แห่งมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ เปิดเผยกับบีบีซีว่า เดิมทีดาวอังคารเคยมีสนามแม่เหล็กแรงสูงเช่นโลก 

การเคลื่อนที่ของเหล็กหลอมเหลวในแกนกลางของโลกทำให้เกิดสนามไฟฟ้าซึ่งป้องกันรังสีคอสมิกและจากลมสุริยะ ซึ่งหมายถึงอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้าที่ไหลมาจากดวงอาทิตย์ แต่หลังจากที่แกนภายในดาวอังคารเย็นลงได้ปิดสนามแม่เหล็กนี้ จนทำให้ลมสุริยะสามารถทำลายชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร กลายเป็นดาวที่แห้งแล้งและหนาวเย็นในที่สุด

มนุษย์สามารถอยู่อาศัยบนดาวอังคารได้?

องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้มนุษย์สามารถอาศัยบนดาวอังคารได้ คือจำเป็นต้องมีน้ำ และ “ออกซิเจน” ในปัจจุบันนี้ นาซาสามารถผลิตออกซิเจนบนดาวได้แล้ว โดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า MOXIE ซึ่งติดตั้งอยู่กับหุ่นยนต์สำรวจ “เพอร์เซเวียแรนซ์” (Perseverance rover) สามารถเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นออกซิเจนสำหรับหายใจได้รวม 100 นาที 

แต่ด้วยปริมาณเพียงเท่านี้ก็ยังคงห่างไกลกับความเป็นจริงที่จะทำให้มนุษย์จะสามารถไปอยู่บนดาวอังคารได้ ถึงจะเป็นเช่นนั้น แต่ในปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่พัฒนาโครงการตั้งรกรากบนดาวอังคาร 

บริษัทสำรวจอวกาศ SpaceX ของ “อีลอน มัสก์” ยังคงมุ่งมั่นที่จะตั้งอาณานิคมบนดาวอังคารให้ได้ โดยทางบริษัทได้จัดทำพิมพ์เขียวของเมืองบนดาวอังคาร รวมถึงที่อยู่อาศัยแบบโดมและชุดอวกาศเตรียมรอไว้นานแล้ว และขณะนี้กำลังสร้างยานอวกาศที่สามารถบรรทุกคน 200 คน เดินทางไปยังดาวอังคารได้ภายในหกเดือน

ขณะที่โครงการอวกาศของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีเป้าหมายที่จะสร้างการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์บนดาวอังคารภายในปี 2117 ดังนั้นเราอาจจะได้เห็นมนุษย์ย้ายไปอาศัยอยู่บนดาวอังคารให้อีกไม่กี่สิบปีข้างหน้านี้ แต่คงไม่ใช้ทุกคนที่จะได้ย้ายไปอยู่บนดาวดวงใหม่ เพราะค่าใช้จ่ายแพงลิ่ว

อีกหนึ่งคำถามที่สำคัญคือมนุษย์ควรอาศัยอยู่บนดาวอังคารหรือไม่?

มนุษย์ควรอาศัยอยู่บนดาวอังคาร?

นักคิดบางคนตั้งคำถามว่าเหมาะสมหรือไม่ ที่มนุษย์จะย้ายไปตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคาร ที่ถูกเรียกว่าเป็น “ดาวเคราะห์สำรอง” หลังจากสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมบนโลก

เอียน สโตเนอร์ ผู้สอนภาควิชาปรัชญาที่วิทยาลัยเซนต์พอล มินนิโซตา กล่าวว่า ความพยายามจะสร้างอาณานิคมบนดาวอังคารอาจสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อดาวอังคาร เนื่องจากการนำจุลินทรีย์บนโลกไปอยู่บนดาวอังคาร อาจจะเป็นการรุกรานสิ่งมีชีวิตพื้นเมือง จนทำให้พวกมันไม่สามารถแข่งขันได้ และสิ่งมีชีวิตดั้งเดิมของดาวอังคารอาจสูญพันธุ์ได้ โดยเที่เรายังไม่เคยรู้จักมันมาก่อน

“แม้ว่าจะไม่มีสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร แต่ผมก็ถือว่าเป็นการไม่เคารพต่อดาวอังคาร ที่ถูกมองว่าเป็นเพียงแหล่งทรัพยากรที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์เท่านั้น” สโตเนอร์กล่าว

ขณะที่การสำรวจของ Pew Research Center ในปี 2023 สอบถามผู้ใหญ่ชาวอเมริกัน 10,329 คนเกี่ยวกับภารกิจที่นาซาควรให้ความสำคัญมากที่สุด พบว่า 60% ของผู้ตอบแบบสอบถามต้องการใช้นาซาติดตามดาวเคราะห์น้อยที่อาจพุ่งชนโลก อีก 50% ระบุว่าควรตรวจสอบส่วนสำคัญของระบบภูมิอากาศของโลก และมีเพียง 11% เท่านั้นที่มองว่าการสำรวจดาวอังคารมีความสำคัญสูงสุด

แคทธารีน เฮย์โฮ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ภูมิอากาศที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเท็กซัส ตำหนิแนวคิดที่จะตั้งให้ดาวอังคารเป็นอาณานิคมของโลก โดยเธอให้ความเห็นว่าเราควรหาทางยับยั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนโลกมากกว่า

“หากเราไม่ดำเนินการเพื่อลดและกำจัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของเรา ในที่สุดแล้วโลกของเราจะล่มสลายก่อนที่จะได้ไปเยือนดาวอังคารด้วยซ้ำ”
เฮย์โฮกล่าว

แม้เราจะได้ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการมีอยู่ของน้ำและออกซิเจนบนดาวเคราะห์สีแดง และฝันไปไกลว่าเราจะสามารถไปอยู่บนนั้นได้ แต่ความเป็นจริงมนุษย์ยังไม่เคยไปเหยียบบนดาวอังคารเลยสักครั้ง และไม่รู้ด้วยว่ามนุษย์จะสามารถมีชีวิตรอดบนดาวเคราะห์ที่เราหมายมั่นว่าจะเป็นบ้านหลังที่สองได้นานเพียงใด


ที่มา: AljazeeraSpaceXinhua