‘ฟาสต์แฟชั่น’ อุตสาหกรรมสร้างมลพิษ ทำลาย ‘สิ่งแวดล้อม’ โลก

‘ฟาสต์แฟชั่น’ อุตสาหกรรมสร้างมลพิษ ทำลาย ‘สิ่งแวดล้อม’ โลก

“ฟาสต์แฟชั่น” ทำให้เกิดการจ้างงาน และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล ขณะเดียวกันฟาสต์แฟชั่นก็เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมมากที่สุด

KEY

POINTS

  • ปัจจุบันอุตสาหกรรมแฟชั่นปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 1,700 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็น 10% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลก
  • การผลิตเสื้อเชิ้ตฝ้ายหนึ่งตัว ต้องใช้น้ำมากถึง 2,700 ลิตร และอุตสาหกรรมแฟชั่นปล่อยน้ำเสียมากถึง 20% ของปริมาณน้ำเสียของทั่วโลก 
  • เสื้อผ้าราว 1 แสนล้านตัว หรือคิดเป็น 92 ล้านตันที่ผลิตขึ้นในแต่ละปี จะมีจุดจบเป็นขยะในหลุมฝังกลบ

ฟาสต์แฟชั่น” (Fast Fashion) เกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองหลากหลายความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นสินค้าฟาสต์แฟชั่นจึงถูกผลิตออกมาจำนวนมาก ขายในราคาถูก แต่คุณภาพอาจไม่ดีนัก นัยหนึ่งฟาสต์แฟชั่นก็ทำให้เกิดการจ้างงาน และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล ขณะเดียวกันฟาสต์แฟชั่นก็เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมมากที่สุด

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ออกรายงาน “ภาวะสังคมไทย ไตรมาส 2 ปี 2567” ระบุว่า ฟาสต์แฟชั่น ถือสถานการณ์ทางสังคมสำคัญที่สามารถทำลายสิ่งแวดล้อม บางแบรนด์ออกสินค้าใหม่กว่า 10,000 รายการในทุกสัปดาห์ เพื่อให้คนสามารถหาซื้อได้บ่อยครั้ง ทำให้ต้องใช้ทรัพยากรในการผลิตสินค้าจำนวนมาก

จากข้อมูลของ Research and Markets พบว่า ในปี 2567 มูลค่าตลาดอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่น อยู่ที่ 142,060 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ถึง 15.5% และคาดว่าในปี 2571 จะมีมูลค่าสูงถึง 197,050 ล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกัน ธุรกิจดังกล่าวยังสร้างงานให้กับผู้คนทั่วโลกเป็นจำนวนมาก โดยในปี 2566 มีการจ้างงานมากถึง 300 ล้านคน

สำหรับประเทศไทย ไม่ได้มีการจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจฟาสต์แฟชั่น ไว้อย่างชัดเจน โดยถูกรวมอยู่ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งในปี 2565 มูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่มมีมูลค่ามากถึง 1.6 แสนล้านบาท 

ข้อมูลปริมาณการผลิต และนำเข้าของอุตสาหกรรมสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม พบว่า ในปี 2566 มีการผลิตเส้นใย 720,000 ตัน ผ้าผืน 287.1 ล้านเมตร และเสื้อผ้าสำเร็จรูปอยู่ที่ 110.8 ล้านชิ้น นอกจากนี้ ยังมีการนำเข้าสินค้าในกลุ่มเส้นใยมูลค่ากว่า 52,000 ล้านบาท และเสื้อผ้าสำเร็จรูปอีกกว่า 48,000 ล้านบาท โดยแรงงานที่อยู่ในภาคส่วนดังกล่าวมีจำนวนทั้งสิ้น 620,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ในสาขาการผลิตเสื้อผ้า และเครื่องแต่งกายมากถึง 68.1%

 

‘ฟาสต์แฟชั่น’ ปล่อย ‘ก๊าซคาร์บอน’ มหาศาล

ถึงฟาสต์แฟชั่น จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่กระบวนการผลิตกลับส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในหลายด้าน โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยปัจจุบันอุตสาหกรรมแฟชั่นปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 1,700 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็น 10% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลก และคาดว่าภายในปี 2573 อาจเพิ่มขึ้นเกือบ 50% เนื่องจากในกระบวนการผลิตต้องใช้พลังงาน และทรัพยากรสูงมาก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นของไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนประมาณ 4-8% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั้งประเทศ อีกทั้งขยะปริมาณมาก โดยร้อยละ 85% ของเสื้อผ้าที่ขายไม่ออกถูกทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ มีเพียง 15% เท่านั้นที่ถูกนำไปบริจาคหรือรีไซเคิล 

ในการผลิตเสื้อผ้ายังใช้น้ำเป็นจำนวนมาก โดยในการผลิตเสื้อเชิ้ตฝ้ายหนึ่งตัว ต้องใช้น้ำมากถึง 2,700 ลิตร เทียบเท่ากับปริมาณน้ำที่มนุษย์ 1 คน ใช้ดื่ม 2 ปีครึ่ง อีกทั้งกระบวนการผลิตสินค้าฟาสต์แฟชั่นยังทำให้เกิดมลพิษทางน้ำ และอากาศ ซึ่งมาจากการใช้สารเคมีที่เป็นพิษและอันตราย ไม่ว่าจะเป็นสารหนู เบนซิน ตะกั่ว และของเสียมีพิษอื่นๆ ส่งผลให้อุตสาหกรรมแฟชั่นปล่อยน้ำเสียมากถึง 20% ของปริมาณน้ำเสียของทั่วโลก 

หากดูสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอน ตลอดห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นจะพบว่า มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนในทุกช่วงชีวิตผลิตภัณฑ์ เริ่มตั้งแต่การผลิตเส้นใยปล่อยก๊าซคาร์บอน 16% อีก 10% มาจากการผลิตเส้นด้าย ถัดมาในขั้นตอนการผลิตผ้าจะปล่อยก๊าซคาร์บอน 14% ขณะที่กระบวนการย้อม และตกแต่งในอุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นขั้นตอนที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงที่สุดถึง 24% และขั้นการประกอบเสื้อผ้าสร้างก๊าซคาร์บอน 16%

เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการจัดจำหน่าย และการขายปลีกจะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนออกมา 14% และเมื่อลูกค้าซื้อเสื้อผ้าแล้ว ระหว่างช่วงการใช้งานเสื้อผ้านี้จะเกิดก๊าซคาร์บอน 3% และระยะสุดท้ายที่เสื้อผ้าหมดอายุใช้งานแล้ว สินค้าเหล่านี้จะปล่อยคาร์บอนออกมาอีก 3%

 

‘ฟาสต์แฟชั่น’ สร้าง ‘ขยะ’ มหาศาล

ปัญหาขยะ นับเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญของอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่น จากข้อมูลการวิจัยขององค์กร Earth.org ปี 2566 ระบุว่า เสื้อผ้าราว 1 แสนล้านตัว หรือคิดเป็น 92 ล้านตันที่ผลิตขึ้นในแต่ละปี จะมีจุดจบเป็นขยะในหลุมฝังกลบ และคาดว่าภายในปี 2576 ขยะเสื้อผ้าจะเพิ่มจำนวนเป็น 134 ล้านตันต่อปี และมีเพียง 1% เท่านั้นที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ 

ขยะเสื้อผ้าฟาสต์แฟชั่นบางส่วนเกิดขึ้นจาก “วัฒนธรรมการบริโภคเกินพอดี” (Overconsumption) ซึ่งเป็นผลมาจากการโฆษณาส่งเสริมการขายที่กระตุ้นให้คนซื้อ มากกว่าความจำเป็นในการใช้ และการซื้อตามการรีวิวโปรโมตสินค้าของอินฟลูเอนเซอร์ จนค่านิยมผู้บริโภคเปลี่ยนไป อาทิ ไม่ใส่เสื้อผ้าซ้ำ ใส่ครั้งเดียวแล้วทิ้ง 

จากข้อมูลผลสำรวจของ YouGov พบว่า กว่า 40% ของคนไทย ทิ้งเสื้อผ้าหลังสวมใส่เพียงครั้งเดียว โดย 1 ใน 4 ทิ้งอย่างน้อย 3 ชิ้น พวกเขาให้เหตุผลว่า เสื้อผ้าเหล่านั้นไม่เหมาะสม มีตำหนิ หรือเพียงแค่รู้สึก “เบื่อหน่าย” ซึ่งสามารถสะท้อนการเสพติดวัฒนธรรมการบริโภคเกินพอดี

นอกจากนี้ เสื้อผ้ามีส่วนประกอบของขยะพลาสติกที่ย่อยสลายได้ยาก และเมื่อเวลาผ่านไปเศษผ้าสังเคราะห์ เช่น โพลีเอสเตอร์ อะคริลิก และไนลอน แตกตัวออกเป็น “ไมโครพลาสติก” หากถูกปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติจะส่งผลอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต

จากข้อมูลของ European Environment Agency พบว่า ในปี 2565 ไมโครพลาสติกในมหาสมุทรมีจำนวนกว่า 14 ล้านตัน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดย 35% ของไมโครพลาสติกมาจากธุรกิจฟาสต์แฟชั่น และในปัจจุบัน 88% ของสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรกำลังได้รับผลกระทบจากขยะพลาสติก ซึ่งอาจทำให้การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในท้องทะเลได้

กระบวนการปลูกฝ้าย เพื่อผลิตสินค้าสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่มครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูก 2.5% ของโลก และใช้ยาฆ่าแมลงมากถึง 16% ของยาฆ่าแมลงที่ใช้ทั่วโลก อีกทั้งยังใช้สารกำจัดวัชพืชมากถึง 7% ของที่ใช้ทั้งโลก มากกว่าพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และความเสื่อมโทรมของหน้าดิน 

ระบบการปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยเฉพาะการปลูกฝ้าย ส่งผลให้คุณภาพดินเสื่อมโทรม อีกทั้งพืชพื้นเมือง และประชากรสัตว์ท้องถิ่นมีจำนวนลดลง ขณะเดียวกันการใช้ยาฆ่าแมลงอย่างเข้มข้นในการปลูกฝ้าย ยังทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพในดินและประชากรแมลงผสมเกสรลดลงอีกด้วย


ที่มา: สภาพัฒน์

กราฟิก: รัตนากร หัวเวียง

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์

‘ฟาสต์แฟชั่น’ อุตสาหกรรมสร้างมลพิษ ทำลาย ‘สิ่งแวดล้อม’ โลก